top of page

ทำงานเป็นไม่ใช่ว่าต้องทำงานเยอะ

ยิ่งพอเราทำงานมากขึ้นไปทุกๆ วัน เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าภาระงานเรามากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับบางคน ยิ่งพอตำแหน่งสูงขึ้น ความรับผิดชอบมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้งานพอกพูนตามมา (เราไม่นับพวกที่เป็นหัวหน้าแล้วเอาแต่ชี้นิ้วสั่งส่วนตัวเองนั่งสบายหรอกนะครับ)

ในหลายๆ ออฟฟิศเราจึงมักเจออยู่บ่อยๆ กับคนที่ต้องทำงานจนดึกดิื่น เอางานกลับไปทำที่บ้าน ประชุมกันชนิดถึงสี่ห้าทุ่มก็ยังไม่เลิก และก็ตบด้วยการมาบ่นกันว่า “งานเยอะ”

จริงๆ จะว่าไปแล้ว มันก็มีสถานการณ์ที่งานเยอะอย่างที่ว่าจริงๆ เพราะขนาดผมเองที่เป็นคนค่อนข้างทำงานเร็วแล้ว ในบางวันก็มีงานมากระจุกตัวจนชนิดเคลียร์งานหนึ่งแล้วต่องานหนึ่งทันทียังแทบจะไม่ทันกันเลย

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายๆ ครั้งอยู่ไม่น้อยที่ “งานเยอะ” นั้นทำให้เรารู้สึกว่าไม่ไปไหน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่จำเป็น ไม่ได้ใช้ หรือการประชุมที่ไม่สามารถสรุปเอาเนื้อหาสาระได้สักทีประหนึ่งกับการพายเรือวนอยู่ในอ่างไปเรื่อยๆ

ซึ่งไอ้สถานการณ์แบบนี้นี่แหละ ที่ทำให้เรารู้สึกว่า “งานเยอะ” แล้ว “ไม่ได้งาน”

แต่ที่น่าตลกคือหลายๆ คนมักคิดไปเองว่าสถานการณ์แบบนี้คือภาวะของการเป็นคนทำงานเยอะ ทำงานหนัก น่าเห็นใจ คนบางคนเลยชอบทึกทักเอาว่าถ้าตัวเองประชุมเยอะ ประชุมนานๆ แสดงว่าตัวเองเป็นคนที่ทุ่มเทในการทำงานมากกว่าคนอื่นเลยก็มี

แต่จริงๆ แล้ว การที่จะบอกว่าคนไหนทำงานเป็นนั้น อาจจะไม่ใช่การดูว่าใครทำงานเป็นระยะเวลาเยอะกว่ากัน แต่อาจจะมองว่าในงานที่เท่ากัน ใครสามารถที่จัดการและทำให้งานสำเร็จได้โดยใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพโดยที่ไม่เสียเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

กฏ 80-20 เองนั้นก็สามารถเอามาใช้กับการทำงานได้เช่นกัน เราอาจจจะเห็นว่า 20%เวลาที่เราทำในแต่ละวันนั้นสร้างเนื้องานกว่า 80% ของสิ่งที่เราต้องทำ แต่ในขณะเดียวกันเราก็เสียเวลากว่า 80% ไปเพื่อสร้างงานเพียง 20% เท่านั้น (ฟังดูเป็นเรื่องตลกแต่หลายๆ ครั้งที่มันเป็นเรื่องจริง) ผมเคยมานั่งคิดๆ ดูว่าในแต่ละวันนั้นเราใช้เวลาในการจัดการ “เรื่องไม่เป็นเรื่อง” ไปมากกว่าการนั่งทำงานที่แท้จริงของตัวเองอยู่หลายเท่า

ฉะนั้นแล้ว คนที่จะบอกตัวเองว่าทำงานเป็นนั้น อาจจะไม่ใช่คนที่ทำงานจนดึกดื่นหรือตะบี้ตะบันทำงานแบบไม่ลืมหูลืมตา แต่เป็นคนที่สามารถมองออกว่าเขาควรจะทำอะไรและไม่ทำอะไร สามารถทำงานแบบเดียวกับที่บ้าพลังทำแต่ก็ได้ผลที่ใกล้เคียงกัน ไม่เสียเวลาประชุมแต่ก็ได้ข้อสรุปแบบเดียวกัน ไม่ต้องคิดงานเยอะแต่ก็ได้ชิ้นงานแบบเดียวกับที่จดจ่อคิดเป็นวันๆ สิ่งที่ทำให้เป็นแบบนี้ได้คือความสามารถที่จะมองเห็น “ภาพรวม” และการ “วิเคราะห์ล่วงหน้า” ว่างานที่ต้องทำนั้นมีโครงสร้างอย่างไร และจะใช้เวลาอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

บล็อกวันนี้อาจจะสั้นๆ เสียหน่อย แต่ก็พอจะทำให้ลองคิดกันดูได้นะครับ ว่าทุกวันนี้เราทำงาน “เป็น” หรือทำงาน “เยอะ” กันแน่

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page