ทำไมวิกฤติสื่อไทยถึงรุนแรงและน่ากลัวกว่าที่คิด? บทเรียนสำคัญของคนทำคอนเทนต์
ในช่วงปีที่ผ่านมาคงไม่ใช่ช่วงที่ดีเท่าไรสำหรับคนในอุตสาหกรรมสื่ออย่างโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ เพราะเราก็เห็นข่าวการปิดตัวของหนังสือพิมพ์ นิตยสารหัวดังๆ หรือแม้กระทั่งการปรับโครงสร้างของช่องโทรทัศน์ต่างๆ ประกอบกับตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาในสื่อต่างๆ ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง (แต่สวนทางกับสื่อดิจิทัลที่ดูจะโตไม่หยุดเลยก็ว่าได้)
หลายๆ คนรวมทั้งผมเองก็พูดไปในทางเดียวกันว่านี่คือหนึ่งในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในยุคดิจิทัล บางคนก็บอกว่ามันคือ Digital Disruption จากการเข้ามาของสื่อออนไลน์อย่าง Social Media ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ YouTube
อันที่จริง ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับคนที่ติดตามกระแสดิจิทัลมา เพราะในต่างประเทศเองก็มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังมาหลายปีแล้ว สื่อยักษ์ในต่างประเทศก็เริ่มมีการปรับตัวและปรับโมเดลธุรกิจเพื่อรองรับภาวะที่คนยุคใหม่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อไปสู่ช่องทางใหม่ๆ แทนที่ช่องทางเดิม
แต่ทำไมของไทยถึงดูรุนแรงและเกิดขึ้นเร็วมาก? นั่นเป็นคำถามที่หลายๆ คนตั้งข้อสงสัย ในความคิดผมเองนั้น ประเทศเราและพฤติกรรมของคนไทยนั้นมีเอกลักษณ์พิเศษหลายๆ อย่างและนั่นทำให้สถานการณ์ของบ้านเราดูจะพิเศษกว่าคนอื่น
1. ประเทศไทยมีการเติบโตของดิจิทัลแบบก้าวกระโดด (มาก)
เวลาเราพูดถึงการเติบโตของ “ตลาด” นั้น คนทำการตลาดส่วนมากมักจะคิดว่าเราจะโตกันแบบ 10-20% ต่อปี (ซึ่งก็ถือว่าเยอะมากแล้ว) แต่ตลาดดิจิทัลของเรานั้นเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปี ทั้งการจำหน่ายโทรศัพท์ Smartphone ที่ขยายจากกลุ่มคนชอบเทคโนโลยีไปสู่กลุ่มวงกว้างจนทุกวันนี้ดูเหมือนใครๆ ก็ใช้กันเป็นเรื่องปรกติ (เอาเป็นว่าเดี๋ยวเราหาซื้อมือถือปุ่มกดกันยากแล้ว) ประกอบกับผู้ให้บริการมือถือทั้งสามค่ายก็ขยาย Mobile Internet กันอย่างรวดเร็ว แม้ว่าเราอาจจะแซวกันว่าประเทศไทยใช้ 3G และ 4G ช้ากว่าชาวบ้าน แต่พอเมื่อเรามีการเปิดใช้ 3G และ 4G นั้นกลายเป็นว่าการใช้งานของเรานั้นโตเร็วแบบสุดๆ
ผลที่ตามมาคือตอนนี้เรามีประชากรอินเตอร์เน็ตในไทยมากกว่า 50% ของประเทศไปแล้ว โดยมีจำนวนผู้ใช้ Facebook ในไทยมากกว่า 40 ล้านแอคเค้านท์ ซึ่งเกือบ 30 ล้านแอคเค้านท์มีการออนไลน์อยู่ทุกวัน จากการสำรวจล่าสุดของ Neilsen พบว่าคนไทยใช้โทรศัพท์มือถือเกือบ 4 ชั่วโมงต่อวันและก็ยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ
การเติบโตแบบก้าวกระโดด (มาก) ของตลาดดิจิทัลทำให้สื่อดิจิทัลเองก็ได้ผลพวงไปด้วย เพราะมันทำให้สื่อดิจิทัลขยายตัวอย่างรวดเร็วมากกว่าอัตราการเติบโตแบบปรกติที่นักธุรกิจทั่วไปมักจะคาดการณ์กัน (ดูจากเทรนด์การเติบโตของสื่อสมัยก่อนที่เราคุ้นเคยกัน)
2. สื่อไทยของเรามีคอนเทนต์ที่ไม่ได้คุณภาพอย่างที่เคยคิดกัน
เวลาคนถามผมว่าทำไมคนไทยย้ายตัวเองไปดูวีดีโอบนออนไลน์กันเยอะเหลือเกิน ทำไมคนจำนวนมากเลิกดูทีวี ผมมักตอบกันแบบง่ายๆ ว่า
“ก็ทีวีไทยมันไม่มีอะไรให้น่าดู”
เราต้องยอมรับกันนิดนึงว่าคุณภาพของสื่อไทยนั้นถูกตั้งคำถามจากคนยุคใหม่มานักต่อนัก ไม่ว่าจะเป็นพล็อตละครที่ซ้ำซากจำเจ เกมโชว์ที่ดูขาดไอเดียสร้างสรรค์ ดาราที่ไม่ได้คุณภาพนอกจากหน้าตา ฯลฯ และนั่นทำให้คนจำนวนมากไม่ได้คิดอยากจะดูรายการโทรทัศน์ของไทย เช่นเดียวกับบรรดานิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ไทย แต่เพราะสมัยก่อนนั้นมันไม่มีทางเลือกอื่น สื่อสมัยก่อนเลยเป็นทางเลือกแบบ “ภาวะจำยอม”
แต่พอดิจิทัลเริ่มเข้ามา มันทำให้คนจำนวนมากหันไปเสพคอนเทนต์บนโลกออนไลน์แทนเนื่องจากเปิดกว้างมากกว่า สร้างสรรค์มากกว่า หลายคนเลือกจะดูเกมโชว์และละครจากต่างประเทศ เพราะมีความน่าสนใจมากกว่า คุณภาพดีกว่า เช่นเดียวกับคอนเทนต์ใน YouTube ที่มีความหลายหลาย Fan Page ต่างๆ ก็มีโพสต์คอนเทนต์น่าอ่าน น่าคิดตาม แถมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีกทั้งยังสามารถคอนโทรลได้ด้วยตัวเองอีกต่างหาก
ด้วยเหตุนี้มันจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นคนจำนวนมากพร้อมใจทิ้งสื่อเดิมของไทยอย่างรวดเร็วและหันไปหาสื่อใหม่ที่มีอะไรน่าสนใจมากกว่า (ตั้งเยอะ)
เรื่องนี้ทำให้ผมกลับไปคิดถึงสมัยก่อนที่ผู้จัดทีวีรวมทั้งคนทำสิ่งพิมพ์ต่างๆ นั้นมักจะเป็นเหมือน “มาเฟีย” ของอุตสาหกรรมประเภทกุมอำนาจเอาไว้ การสร้างสรรค์งานดีๆ ในสมัยก่อนเป็นเรื่องยากเพราะเจอคำพูดทำนองว่า “ไม่แมส” “ไม่ตลาดพอ” “ขายไม่ได้” และก็วนๆ อยู่กับการทำคอนเทนต์แบบเดิมๆ
ภาวะดังกล่าวคงจะเกิดขึ้นต่อไปได้หากว่าคนไทยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงคอนเทนต์อื่นๆ แต่เมื่อคนจำนวนมากเข้าถึงคอนเทนต์มหาศาลบนออนไลน์ มันก็ไม่แปลกที่พวกเขาจะเลือกสิ่งที่ดีกว่า รวมทั้งปรับมาตรฐานของตัวเองให้สูงขึ้นกว่าเดิม และนั่นทำให้รายการโทรทัศน์จำนวนมากปรับตัวไม่ทันพร้อมกับสูญเสียฐานคนดูอย่างรวดเร็ว
สำหรับผมแล้ว วิกฤตของสื่อ Traditional นั้นเพิ่งจะเริ่ม และในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเราคงจะเห็นเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม ก็คงต้องเป็นข้อคิดกลับไปที่คนทำงานในอุตสาหกรรมสื่อวันนี้แล้วล่ะว่าจะสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้อย่างไร
แต่ที่แน่ๆ คือหากยังอยู่กับโมเดลแบบเดิม ก็คงอยู่ไม่รอดแล้วล่ะครับ
コメント