ทำไมองค์กรส่วนใหญ่ถึงรักษา Digital Talent ไว้ไม่ได้?
หนึ่งในสถานการณ์ที่ผมมักเจอ ทั้งที่ประสบกับตัวเองและได้ยินการปรับทุกข์จากหลายๆ คนในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาคือการที่องค์กรจำนวนมากกำลังขาดแคลน “คนดิจิทัล” เข้าไปทำงาน
“ช่วยหาคนทำ Digital Marketing ให้หน่อย” เป็นคำขอที่ผมโดนหลังไมค์มาบ่อยมากแล้วผมก็ไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหนดีเพราะเราก็ต้องยอมรับความจริงกันว่าตลาดแรงงานปัจจุบันนั้นขาดคนทำงานที่ “รู้ดิจิทัล” อย่างหนัก ยิ่งถ้าเป็นในระดับผู้บริหารก็ยิ่งหยิบมือกันเลยทีเดียว (หมายถึงคนที่รู้เรื่องจริงๆ นะฮะ ไม่นับที่เป็นโดยตำแหน่ง ^^”)
แต่ที่ดูจะหนักกว่าคือหลายๆ องค์กรพยายามอย่างหนักที่จะดึงคนดิจิทัลเก่งๆ เข้าไปทำงาน แต่พอได้ไปไม่นานก็ต้องเสียคนเหล่านั้นไป อย่างเก่งก็ 2-3 ปี แต่ส่วนมากมักจะอยู่กันไม่ถึง เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มแรงงานที่ Turnover สูงอย่างน่าตกใจ
หลายคนมาบ่นกับผมว่าคนสายดิจิทัลนี่ขยันเป็น Job Hopping กันจัง ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใดเพราะมันก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดเนื่องจากมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้พวกเขาเลือกเดินออกจากบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ขนาดไหนก็ตาม ซึ่งนั่นรวมไปถึงตัวบริษัทเองด้วย
บล็อกวันนี้ผมเลยขอเรียบเรียงบางเหตุผลที่ทำให้องค์กรจำนวนมากต้องเสียคนดิจิทัลเก่งๆ ออกไปกันดูนะครับ
1. โอกาสในสายงานที่มีตัวเลือกมาก
ข้อแรกก็ต้องยอมรับกันก่อนว่าทุกวันนี้โอกาสงานของคนที่เป็น Digital Talent นั้นเรียกว่าเยอะมากๆ เพราะใครๆ ก็ต้องการ เรียกว่าเป็นกลุ่มแรงงานที่สุดจะเนื้อหอมก็ว่าได้ คนทำการตลาดที่มีความเชี่ยวชาญและรู้เรื่องดิจิทัลกลายเป็นคนที่บริษัทมากมายล้วนต้องการ แผนก Digital Marketing ในหลายๆ บริษัทกำลังอยู่ในช่วงขยายตัวรับกับสเกลตลาดที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีตัวเลือกมากกว่าจำนวนคนที่มีในตลาด มันก็ไม่แปลกหรอกครับที่พวกเขาจะถูกชวนเชิญจากบริษัทอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีโอกาสที่ดีกว่างานที่ทำอยู่นั่นแหละ
2. ขาขึ้นแบบสุดๆ ของดิจิทัลที่ต้องรีบคว้า
ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว เมื่อตอนนี้สายงานดิจิทัลเรียกว่ากำลังโตขึ้นแบบสุดๆ และกลายเป็น “อนาคต” ของธุรกิจและการตลาดเลยก็ว่าได้ คนที่ทำงานสายนี้และมีวิสัยทัศน์ก็จะรู้ดีว่าพวกเขากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นและต้องรีบกระโดดตัวเองให้เร็วเพื่อจะเป็นผู้นำในกลุ่มนี้ เรื่องของการตลาดในยุคดิจิทัลยังมีอะไรที่เกิดขึ้นมาอีกมากมายอยู่แทบจะตลอดเวลา การหยุดนิ่งหรือจมอยู่กับงานเดิมๆ ย่อมเป็นการตัดโอกาสตัวคนทำงานไปโดยไม่รู้ตัว เผลอๆ ก็จะโดนคนอื่นแซงเอาได้ ฉะนั้นมันก็ไม่แปลกอีกนั่นแหละครับที่คนดิจิทัลเก่งๆ หลายคนจะรีบปลดตัวเองออกแล้วคว้าโอกาสเติมพอร์ทตัวเองหรือทำให้ตัวเองต่อยอดความสามารถขึ้นไปจากเดิม
3. บริษัทไม่พร้อมรองรับคนดิจิทัล
หนึ่งในเสียงบ่นที่ผมมักได้ยินมากคือองค์กรบอกตัวเองว่าจะเป็นดิจิทัลแต่เอาจริงๆ กลับทำงานกันแบบเดิม และคนทำงานก็ยังวนอยู่กับบริหารแบบเดิมๆ โดยหวังแค่ว่าการเปิดแผนกดิจิทัลหรือเอาคนดิจิทัลไม่กี่คนมาเติมเข้าไปแล้วจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่เมื่อทำงานกันจริงๆ ก็กลายเป็นว่าคนดิจิทัลเจอกับกรอบการทำงานที่ทำให้พวกเขาทำงานไม่ได้ นโยบายที่ยังไม่รองรับ (ผมเคยเจอบริษัทที่ยังบล็อกไม่ให้พนักงานเล่น Facebook อยู่เลย) โครงสร้างการทำงานและอำนาจการตัดสินใจที่ไม่เอื้อ (เช่นเล่นเอาคนไม่รู้จักดิจิทัลมาเป็นคนอนุมัติงานดิจิทัล) พอเป็นแบบนี้แล้ว พวกเขาก็ไม่สามารถใช้ความสามารถของตัวเองได้ คำพูดที่มีหลายคนมาปรับทุกข์กับผมบ่อยๆ คือการถูกทรีตเป็นลูกเมียน้อย คนทำงานก็ยังให้ความสำคัญกับวิธีบริหารการตลาดแบบเดิมๆ แทนที่จะหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับออนไลน์ เรียกได้ว่าได้งบเหลือมาทำแทนที่จะเป็นงบหลัก ฯลฯ บ้างก็พอมีความคิดเห็นที่อยากเปลี่ยนแปลงก็โดนต้าน คนไม่เอาด้วยบ้าง ถูกเตะตัดขา ฯลฯ สุดท้ายคนเหล่านี้ก็ยกธงยอมแพ้ ขอย้ายไปที่อื่นที่ทำให้พวกเขาได้มีคุณค่ามากกว่า
ปัญหาข้อนี้ค่อนข้างจะเป็นเรื่องสำคัญที่หลายๆ คนมองข้าม โดยเฉพาะวันที่ใครๆ ก็พยายามพูดเรื่อง Digital Transformation กันจนเป็นคำติดปากผู้บริหาร แต่พอเอาจริงๆ แล้วมีน้อยคนมากที่พยายามทำ Transformation จริงๆ แถมเผลอๆ ผู้บริหารเองนี่แหละที่ยังไม่รู้จักดิจิทัลกันเลยด้วยซ้ำ ซึ่งพอเป็นแบบนี้ คนดิจิทัลเก่งๆ เขาก็ไม่อยู่ทนเพื่อตัดโอกาสตัวเองกันหรอกครับ (กลับไปอ่านข้อ 1 และ 2 อีกครั้ง)
3 ข้อนี้เป็นแค่เรื่องเบสิคๆ ที่ผมมักจะคิดคุยกันกับคนในวงการบ่อยๆ มันอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนดิจิทัลหลายคนเลือกเดินออกจากที่ทำงาน ซึ่งเอาจริงๆ ก็มีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ส่งเสริมกันไปด้วยโดยเดี๋ยวไว้ผมจะลองเขียนอธิบายเพิ่มเติมอีกเรื่อยๆ
อย่างไรเสีย อ่านบล็อกวันนี้แล้ว ลองถามตัวเองกันดูไหมครับ ว่าวันนี้องค์กรของคุณมี Digital Talent หรือไม่ แล้ววันนี้องค์กรของคุณรักษาเขาไว้ได้หรือเปล่า ในอนาคตพวกเขาจะยังอยู่กับคุณไหม
อย่าลืมว่าคนเหล่านี้จะเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากๆ กับทุกธุรกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ถ้าถึงเวลานั้นแล้วองค์กรคุณไม่มีคนเหล่านี้ก็คงจะต้องเจอกับสถานการณ์ที่เหนื่อยพอสมควรเลยทีเดียวล่ะครับ
תגובות