ทำไมเราต้องขึ้นลิฟท์ที่สถานีรถไฟฟ้า?
เกือบทุกวัน ผมจะนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินมาทำงานที่ออฟฟิศ newmedia+ โดยจะขึ้นที่สถานีบางซื่อและลงที่สถานีสีลม ทุกๆ วันผมก็จะขึ้นรถที่บริเวณตู้เดิมๆ ที่นั่งเดิมๆ ออกจากประตูแล้วเลี้ยวซ้ายเพื่อเดินไปยังบันไดเลื่อนแบบเดิมๆ
เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ในทุกๆ วันจนเหมือนเป็นระบบชีวิตของผมไปแล้ว
แต่ก็นั่นแหละ ในทุกๆ วันที่สถานีสีลม เมื่อประตูรถไฟฟ้าเปิดออก ผมก็เดินออกจากประตูแล้วเลี้ยวซ้าย แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินตรงไป ตรงไปไหนน่ะหรือครับ เขาเดินตรงไปยังลิฟท์ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างบันไดเลื่อนฝั่งซ้ายฝั่งขวา (ถ้าใครเคยมาที่สถานีสีลมจะรู้ดีว่าบันไดเลื่อนที่สถานีนี้สูงมาก จนวางบันไดเลื่อนไว้ซ้ายสุดกับขวาสุด)
แรกๆ ที่ผมเดินทางมาสถานีนี้บ่อยๆ ผมก็เดินตรงไปยังลิฟท์เหมือนพวกเขาเหมือนกัน จนกระทั่งวันหนึ่งผมก็หยุดที่ทำอย่างนั้นแล้วเลือกเดินเลี้ยวซ้ายไปบันไดเลื่อนแทน
มันคือวันที่ผมเริ่มคิดว่าลิฟท์นี้มีไว้บริการใครกัน ในเมื่อป้ายที่กำกับลิฟท์นั้นมีเครื่องหมายสำหรับคนพิการอยู่ด้วย?
และมันยิ่งทำให้ผมคิดมากขึ้นไปอีกเมื่อเดินทางไปในต่างประเทศซึ่งมีลิฟท์เหล่านี้ตามสถานีขนส่งต่างๆ อย่างเช่นที่โตเกียว ซึ่งมีคนมหาศาลเดินทางในแต่ละวัน แต่ก็ดูไม่มีใครจะใช้ลิฟท์ที่มีตราสัญลักษณ์ดังกล่าว
ผมมานั่งคิดๆ ดูแล้ว บางทีนั่นอาจจะเพราะพวกเขาเข้าใจอยู่ตลอดว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีไว้เพื่อบริการคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีข้าวของพะรุงพะรังจนลำบากที่จะใช้บันไดเลื่อนแบบปรกติ (ผมก็ใช้ลิฟท์ตอนที่ผมต้องลากกระเป๋าเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าที่โตเกียว)
แต่ทำไมคนไทยจำนวนมากเดินไปใช้บริการลิฟท์เหล่านี้กัน? เพราะเราไม่ได้บอกว่านี่คือลิฟท์ที่ไว้บริการคนเหล่านี้? หรือรู้แล้วแต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรเพราะการมีอุปกรณ์ไว้แล้วไม่ได้ใช้ก็น่าจะเป็นการเสียของโดยเปล่าประโยชน์?
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายๆ ทีก็ทำให้ผมขบคิดอยู่พอสมควร เพราะสถานีสีลมในทุกๆ เช้าที่ผมเฝ้าดูว่าใครเดินไปที่ลิฟท์บ้าง ผมแทบไม่เคยเจอคนที่เข้าข่าย “จำเป็นต้องใช้” เลยสักกะคน ส่วนมากดูจะเป็นคนหนุ่มสาวที่เร่งรีบเสียด้วยซ้ำ
แต่ถ้าถามว่าการขึ้นลิฟท์ทำให้เร็วกกว่าการเดินไปขึ้นบันไดเลื่อนที่อยู่ข้างๆ ไหม เท่าที่ผมจับเวลานั้นก็เร็วกว่าหน่อยหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้มากมายชนิด 5-10 นาที (แถมบางทีต้องรอคิวหลายรอบอีกต่างหาก)
แล้วทำไมเล่า เราถึงใช้เลือกใช้ลิฟท์ที่มีไว้เพื่อบริการคนที่จำเป็นต้องใช้ แทนที่จะใช้เส้นทางปรกติกัน? บางทีอาจจะเพราะรู้สึกว่ามันสะดวกสบายกว่าเป็นไหนๆ การขึ้นลิฟท์อาจจะให้รู้สึกว่าไม่ต้องไปเบียดเสียดกับคนจำนวนมากที่บันได (แต่ไปเบียดเสียดในลิฟท์แทน?) แต่นั่นเป็นเหตุผลเพียงพอที่เราจะมองข้ามว่าจริงๆ แล้วพวกเราไม่ได้กลุ่มคนที่เขาสร้างสิ่งของเหล่านี้มาเพื่ออำนวยความสะดวก
หลายคนอาจจะเริ่มเถียงว่าการมีลิฟท์ ก็เป็นเครื่องอำนวยความสะดวก แม้ว่าจะเป็นลิฟท์เพื่อคนพิการ ใครจะใช้ก็ไม่เสียหาย แถมมันก็เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ ซึ่งผมว่ามันก็จริงแหละครับ แต่เรื่องแบบนี้ก็ทำให้ผมนึกถึงกรณีเราขึ้นลิฟท์ในตึกหลายๆ ตึกรวมทั้งห้างสรรพสินค้า ที่เรามักเจอคนประเภทกดลิฟท์ขึ้นชั้นเดียวแล้วเราก็อดบ่นกันในใจไม่ได้ทำนองว่า “ชั้นเดียว เดินขึ้นบันไดเลื่อนไม่ได้เรอะ”
ผมเชื่อว่าคนกลุ่มนั้นก็คงตอบแบบเดียวกันแหละครับว่า “มีลิฟท์แล้ว จะใช้ขึ้นลงชั้นเดียวก็ไม่เสียหายนี่นา”
ผมเองก็ตอบไม่ได้หรอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน มันอาจจะเป็นเรื่องประหลาดสำหรับคนต่างถิ่นที่เห็นคนปรกติพากันไปใช้เครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ (ในห้างใหญ่ๆ เราก็มักเจอเคสคนเอารถไปจอดในที่ที่ของคนพิการหรือคนที่ใช้รถเข็นกันอย่างหน้าตาเฉยทั้งที่ตัวเองก็เป็นคนปรกติ) และดูเหมือนหลายๆ คนก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรไปกับมัน
แต่กระนั้น มันก็ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราไม่รู้สึกเดือดร้อนนี่แหละ ที่มันค่อยๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นนิสัย กลายเป็นเรื่องปรกติ กลายเป็นความชินชาที่คนไม่รู้สึกว่ามันผิดอะไร และท้ายที่สุดมันก็อาจจะเปลี่ยนเป็นระบบของสังคมไป
พูดถึงเรื่องนี้แล้ว มันก็อดทำให้ผมคิดต่อไม่ได้ถึงวินัยในการขึ้นรถไฟฟ้าของคนไทย ที่ทุกๆ วันเราก็เจอการเนียนแซงคิว การยืนขวางประตู การพิงเสา การขึ้นบันไดเลื่อนแล้วยืนขวางทางคนข้างหลังที่กำลังเดินตาม ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ก็เหมือนกับการใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการนั่นแหละครับ คือไม่มีกฏหมาย ไม่มีข้อบังคับ มีเพียง “สำนึก” ที่เราสร้างขึ้นกับคนในสังคมกัน
ถ้าเรามี “สำนึก” กันมากเสียหน่อย เราก็ยอมจะลำบาก เสียความสะดวกบางอย่างเพื่อได้ทำในสิ่งที่เหมาะสม สร้างวินัยให้สังคม
ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่มี “สำนึก” ดูเหมือนว่าเราก็คงสนใจแต่จะหาประโยชน์ให้ตัวเองโดยไม่มองว่ามันถูกต้องหรือเหมาะสมหรือไม่
ซึ่งมันก็คงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวใช่ไหมล่ะครับ
Comments