นักการตลาดเตรียมตัวอย่างไรดีเมื่อเข้าสู่ปี 2017
ไหนๆ เราก็เข้าปี 2017 กันแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนคงพอได้อ่านข่าวเรื่องเทรนด์ใหม่ๆ ที่ (น่าจะ) เกิดขึ้นในปีนี้ รวมทั้งสภาวะหลายๆ อย่างที่จะเปลี่ยนไปอันเป็นผลต่อเนื่องมาจากปีก่อน
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงของการตลาดในวันนี้นั้นถือว่าเยอะและรุนแรงมากกว่าที่หลายๆ คนคิดพอสมควร เป็นเหตุให้นักการตลาดต้องปรับตัวเยอะมาก บล็อกวันนี้ผมเลยลองหยิบสิ่งที่ผมคิดว่านักการตลาดควรจะทำกันในปีนี้มาลองเป็นไกด์เผื่อใครจะอยากเอาไปทำเป็นแนวทางการพัฒนาตัวเองในปีนี้กันดูนะครับ
1. อ่านให้เยอะ
“นายไม่อ่าน นายจะรู้อะไร” เป็นคำพูดสุดอมตะของท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรีที่ผมชอบมาก เพราะทุกวันนี้โลกของเรามีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด มีอัพเดทใหม่ๆ เข้ามาอยู่แทบทุกๆ วัน ฉะนั้นแล้วการติดตามและอัพเดทข่าวสารของการตลาดไม่ว่าจะเป็น Digital หรือ Traditional ก็เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างที่ขาดเสียไม่ได้
ถ้าคุณไม่รู้จะว่าอ่านอะไร หรือมีปัญหาด้านการอ่านบล็อกในต่างประเทศ ก็ติดตามจากเว็บดังๆ ในไทยก็ได้อย่าง MarketingOops BrandBuffet BrandInside ThumbsUp ที่มีข่าวใหม่ๆ เข้ามาอยู่แทบทุกวัน แต่ถ้าใครที่ถนัดอ่านของต่างประเทศนั้นก็มีมากมายให้ติดตาม (ผมรวบรวมไว้ในบล็อกนี้)
การอ่านบล็อกต่างๆ น่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่พอทำกันได้ในแต่ละวัน แต่ถ้าคุณจริงจังไปอีกขั้น ผมก็แนะนำให้คุณหาหนังสือการตลาดใหม่ๆ ของต่างประเทศ (ย้ำว่าต่างประเทศ) มาอ่านอยู่เรื่อยๆ เพราะทุกวันนี้หนังสือต่างประเทศไปไกลมากกว่าที่เราเรียนกันในคอร์สธุรกิจอีกนะครับ
2. ใช้ Facebook ให้เป็นอะไรมากกว่าตามข่าวซุบซิบและเม้าท์กับเพื่อน
จริงอยู่ว่า Facebook เป็นเรื่องส่วนตัวและหลายๆ คนก็มองว่ามันเป็นช่องทางในการไว้ติดต่อกับเพื่อนๆ แต่ทุกวันนี้คนจำนวนมากใช้ Facebook เป็นช่องทางในการอัพเดทตัวเองแล้วก็ติดตามข่าวสารจากโลกภายนอก มันคงจะดีไม่น้อยถ้าคุณเปิดช่องทาง Facebook ของคุณให้ Connect กับสิ่งอื่นๆ เพื่อให้คุณได้เห็นข่าวสารอะไรดีๆ เวลาที่เข้ามาหน้า News Feed แทนที่จะเห็นแค่ว่าเพื่อนของคุณอัพเดทอะไร อย่างตัวผมเองก็จะชอบไปกดไลค์สื่อออนไลน์ในต่างประเทศเพื่ออัพเดทเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือไปติดตามนักคิดต่างๆ ที่มักจะมีอะไรใหม่ๆ มาให้ผมได้เรียนรู้อยู่เรื่อยๆ
3. ทำตัวเป็น Early Adopter อยู่บ่อยๆ
โลกวันนี้มันหมุนเร็วมาก การจะมัวแต่รอให้มีกระแสแล้วค่อยมาเกาะกระแสเป็นอะไรที่น่าจะไม่ทันกินกับผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ฉะนั้นทางที่ดีคุณควรปรับพฤติกรรมให้กลายเป็นกลุ่ม Early Adopter มากกว่าจะเป็นกลุ่ม Mass ทั้งนี้เพราะกลุ่ม Early Adopter คือกลุ่มที่ “ลองก่อน” “เล่นก่อน” แล้วจะเป็นคนที่รู้ว่าสิ่งนี้จะ “เกิด” หรือ “ไม่เกิด” พอๆ กับที่จะรู้แกวว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นๆ ได้อย่างไร การที่คุณได้ลองเล่นอะไรใหม่ๆ ก่อนคนอื่นอาจจะเป็นเรื่องที่เหนื่อยไม่น้อย แต่มันก็ทำให้คุณเห็นอะไรมากกว่าคนอื่นๆ และสามารถฉวยโอกาสได้ก่อนคนอื่นเช่นกัน
4. กล้าที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ
ด้วยความที่เรามีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นกันเยอะ มันก็ไม่แปลกที่คุณอาจจะอยากทดลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะมันทำให้คุณกล้าที่จะก้าวออกไปสู่สิ่งที่ต่างไปจากเดิม แน่นอนว่าวันนี้มันก็คงไม่มีใครรู้หรอกว่ามันจะเวิร์คหรือไม่เวิร์ค แต่ที่แน่ๆ คือโลกการตลาดวันนี้มันทำแบบเดิมแล้วไม่เวิร์คเหมือนแต่ก่อน ถ้าเรายังทำกันแบบเดิมต่อไปก็มีแต่จะเจ๊งกันในไม่ช้า ทางที่ดีคุณควรปรับ Mindset และกล้าจะทดลองอะไรใหม่ๆ ให้เร็ว ถ้ามันเวิร์คก็ขยายสเกลกันไป แต่ถ้าไม่เวิร์คก็รีบเรียนรู้และปรับตัวกันให้เร็ว
5. ดิจิทัลไม่รู้ไม่ได้แล้ว
ข้อนี้จริงๆ ผมก็ไม่อยากจะเขียนอะไรเยอะมาก เพราะพูดกันมานานแล้ว แต่ก็ขอพูดอีกทีแล้วกันว่าสกิลด้านดิจิทัลจะเป็นเรื่อง “จำเป็น” ของคนทำงานการตลาดโดยไม่มีข้อแม้ว่าคุณจะอยู่แผนกการตลาดดิจิทัลหรือไม่ เพราะในไม่ช้าคนที่ทำดิจิทัลไม่ได้ก็จะไม่มีงานให้ทำนั่นแหละ ถ้าใครยังไม่รู้เรื่องดิจิทัลก็ควรรีบไปอัพเดทและเรียนกันโดยด่วนก่อนจะเอ้าท์แล้วก็ตกขบวนการตลาดอนาคตไป (แล้วอย่าหาว่าผมไม่เตือนนะ)
6. อย่าตื่นเต้นไปกับทุกอย่างจนเกินไป
เทคโนโลยีมันพัฒนาเร็วมากและก็จะมีของใหม่ๆ มาให้คุณเล่นและตื่นเต้นกับมันเรื่อยๆ แต่อย่าลืมตัวจนโฟกัสผิดจุดประเภทกระโดดตามกระแสโดยไม่ได้อยู่บนแกนกลยุทธ์ที่วางไว้ สำหรับผมแล้ว การอัพเดทเทรนด์หรือเครื่องมือใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่เราก็ยังต้องเกาะอยู่กับแกนความคิดที่เป็นฐานสำคัญ ไม่ใช่กระโดดไปโน่นไปนี่โดยไม่มีโฟกัสเลย เวลามีข่าวอะไรก็อัพเดทไว้แล้วพิจารณามันให้เข้าใจพร้อมกับตั้งคำถามดีๆ ว่าเราจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไรก่อน
7. หยุดถามหาเทคนิคและสูตรสำเร็จ
สิ่งที่ผมเบื่อมากๆ คือนักการตลาดจำนวนไม่น้อยมักพยายามถามสูตรสำเร็จในการทำโน่นทำนี่ เช่นเทคนิคสำคัญในการทำ Facebook ให้เวิร์ค หรือวิธีการโพสต์อย่างไรให้ได้ยอดขาย เช่นเดียวกับที่ยุคนี้เรามีบรรดากูรูมากมายเกิดขึ้นมาเขียนสูตรต่างๆ นานา
เอาจริงๆ สูตรพวกนี้ก็อาจจะเวิร์คกับหลายๆ คนแต่มันก็ไม่เวิร์คกับหลายๆ คนเช่นกันทั้งนี้เพราะบริบทของตลาดกับธุรกิจนั้นไม่เหมือนกัน สิ่งที่ผมมักแนะนำอยู่เสมอคือเราอย่าท่องสูตรหรือ Framework แต่ควรเข้าใจวิธีคิดและที่มาของแนวคิดนั้นๆ ก่อนไปประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของตัวเอง
8. ไปดูงานต่างประเทศเยอะๆ
อาจารย์ผมเคยสอนเรื่องหนึ่งว่าถ้าเราอยากเก่ง เราต้องดูงานต่างประเทศเยอะๆ ไม่ใช่ว่าจะไม่ยอมรับงานของคนไทยนะครับ แต่เพราะในต่างประเทศอย่างอเมริกาหรือญี่ปุ่นนั้นมีสภาวะการแข่งขันที่สูงมาก ทำให้การคิดงานแต่ละอย่างนั้นต้องเรียกกันว่าสู้ยิบตา คั้นไอเดียกันแบบสุดๆ และนั่นทำให้เราได้เห็นงานดีๆ เปิดโลกทัศน์เราอยู่เรื่อยๆ (คุณลองดูหนังโฆษณาของญี่ปุ่นแล้วอาจจะต้องอุทานว่าเขาคิดงานแบบนี้กันมาได้อย่างไร) แต่ก็นั่นแหละว่าการเห็น “โลก” เยอะๆ ก็ย่อมดีกับตัวคุณเองเพราะมันจะเพิ่ม “วัตถุดิบทางสมอง” ให้คุณมากขึ้นเพื่อไว้ใช้คิดงานที่หลากหลายมากขึ้น
9. วางตำราไปบ้างก็ดี
ผมมักพูดทุกครั้งเวลาไปบรรยายอะไรก็ตามว่าโลกวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ชนิดที่ไม่มีใครเคยได้เจอมาก่อน ตำราเรียนต่างๆ ที่เราเคยเรียนกันมานั้นไม่เคยเขียนกันในยุคที่เรามีดิจิทัลมากขนาดนี้ ไม่เคยเจอภาวะตลาดที่ผันผวนขนาดนี้ การท่องตำราเรียนในยุค 10 ปีก่อนมาใช้ในยุคปัจจุบันจึงเป็นอะไรที่ไม่เข้าท่ามากๆ (เว้นแต่คุณเข้าใจแก่นและประยุกต์ได้ ไม่ใช่แค่จำแต่เปลือกของตำรามา) ผมมักเตือนหลายๆ คนว่าสิ่งที่เราทำกันมานั้นไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่วันนี้มันอาจจะไม่ดีเหมือนสมัยก่อน ถ้าเราตั้งท่าแต่จะคิดว่าอะไรที่เวิร์คเมื่อก่อนต้องเวิร์ควันพรุ่งนี้ก็คงจะเป็นสิ่งที่ไม่น่าทำมากๆ (แต่เชื่อผมเถอะว่านี่คือปัญหาของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกับผู้บริหารเลยล่ะครับ)
Comments