ประชุมอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการคิดแบบ Six Thinking Hats
ในการประชุมหรือคุยงานระดมสมองเพื่อหาไอเดีย ไม่ว่าจะเพื่อแก้ปัญหาหรือหาแนวทางใหม่ๆ นั้น หลายๆ ทีที่เรารู้สึกว่าการประชุมไม่ไปไหน หรือไม่ก็เสียเวลาเกินจำเป็นโดยไม่ได้ไอเดียที่ดีที่สุดสักเท่าไร ซึ่งการประชุมแบบนี้ทำให้หลายๆ คนรู้สึกเหนื่อยหน่ายอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะกับกลุ่มหัวหน้างานที่แทบจะต้องประชุมทั้งวันจนไม่ต้องเป็นอันทำงานกันพอดี
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ทำไมการประชุมถึงไม่มีประสิทธิภาพ? ถ้าเราอ่านหนังสือ Six Thinking Hats ของ Edward de Bono เราก็จะได้เห็นมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อยว่าการประชุมที่เรามักเอาคนจำนวนมากมารวมกัน แล้วคิดว่าการที่ทุกคนร่วมกันแชร์ความคิดจนเกิดความคิดสร้างสรรค์ดีๆ นั้นอาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกสักเท่าไร เพราะเอาเข้าจริงในการประชุมร่วมกันนั้น การใช้ความคิดที่เกิดการโต้เถียงกันอาจจะทำให้ความคิดดีๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นกลับถูกทำให้สับสนหรือเปะปะจนไม่ได้ถูกตกผลึกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งการโต้เถียงกันตามแบบวัฒนธรรมตะวันตกนี่เองที่หลายๆ ครั้งทำให้เกิดสถานการณ์แบบนั้นขึ้น
Edward De Bono เลยเสนอแนวคิดหมวก 6 ใบขึ้นเพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ และทำให้วิธีคิดของคนที่เข้าประชุมเป็นระบบมากขึ้น โดยแนวคิดพอสังเขปคือการเลือกให้แต่ละคนมีช่วงเวลาใช้ความคิดในและประเภทอย่างชัดเจน แทนที่จะเอาความคิดทุกอย่างมาผสมปนเปแล้วกลายเป็นว่าหักล้างกันไปมาและไม่เกิดอะไร
ที่เป็นเช่นนี้เพราะความคิดหลายๆ อย่างนั้นเริ่มต้นได้น่าสนใจ แต่ด้วยความที่รู้มากของบางคนทำให้จำกัดความคิดเหล่านั้นด้วยข้อมูล หรือการมองในแง่ร้ายและทำให้ไอเดียที่น่าจะต่อยอดได้ถูกตัดขาดไปตั้งแต่ต้น
การใช้หมวกหกใบ คือการกำหนดบทบาท สถานการณ์ และช่วงเวลาที่ชัดเจนว่าตอนนั้นควรจะคิดอะไร และไม่ควรจะคิดเรืื่องอะไร ซึ่งพอจะสรุปเป็นหมวกสีต่างๆ ได้ดังนี้
หมวกสีขาว (White Hat) คือการใช้ความคิดที่โฟกัสไปที่เรื่องของข้อมูล เน้การนำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริง ตัวเลข รายงาน ผลสำรวจ โดยที่ยังไม่ต้องตีความหรือวิเคราะห์ ความคิดในหมวกใบนี้สำคัญเนื่องจากจะเป็นการให้ที่ประชุมเห็นข้อเท็จจริงโดยที่ยังไม่ต้องมีการคิดล่วงหน้าไปก่อน
หมวกสีแดง (Red Hat) คือการให้ได้ผู้ที่สวมหมวกได้มีโอกาสแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกต่อประเด็นต่างๆ ความรู้สึกนั้นอาจจะเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ คับข้องใจ หรือแม้แต่ความรู้สึกเชิงบวกที่อาจจะมากสัญชาติญาณ เซนส์ก็ได้
หมวกสีดำ (Black Hat) คือการใช้ความคิดที่เน้นการพิจารณาด้วยความระมัดระวัง ความคิดในหมวกนี้มักถูกมองว่าคือการพยายามค้นหาจุดอ่อน จุดบกพร่องที่อาจจะเกิดขึ้นจากประเด็นที่กำลังพูดถึง
หมวกสีเหลือ (Yellow Hat) คือการมองด้วยความหวัง การใช้ความคิดในแง่บวก มองดูโอกาสและความเป็นไปได้ในเชิงบวกที่น่าจะเกิดขึ้นจากความคิดดังกล่าว
หมวกสีเขียว (Green Hat) คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ หากค้นหาไอเดียใหม่ๆ ทั้งในกรอบหรือนอกกรอบ ทั้งเป็นไปได้หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้
หมวกสีน้ำเงิน (Blue Hat) คือการควบคุม การสรุป การมองเห็นภาพรวมว่าที่ผ่านมาได้มีการใช้ความคิดอย่างไรบ้าง และจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป
นอกการรู้ว่าหมวกแต่ละใบทำหน้าที่อะไรแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ได้น้อยไปกว่าคือการเลือกใช้ให้ถูกสถานการณ์ ถูกลำดับเวลา เช่นการขอให้ที่ประชุมทุกคนสวมหมวกสีขาวเพื่อเอาข้อเท็จจริงมาให้เห็นร่วมกัน หรือการขอให้ใส่หมวกสีดำเพื่อช่วยกันค้นหาสิ่งที่ต้องระวังจากไอเดียดังกล่าว ซึ่งตรงนี้จะมีรายละเอียดอีกพอสมควร แนะนำให้หาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมนะครับเพราะในหนังสือจะมีข้อมูลที่อธิบายละเอียดในหมวกแต่ละใบรวมทั้งตัวอย่างสถานการณ์ต่างๆ อีกพอสมควรเลย
บล้อกนี้อธิบายแนวคิด Six Thinking Hats พอสังเขปและทำให้พอเห็นภาพมากขึ้นว่าในการประชุมนั้น เรามักจะเจอการใช้ความคิดที่ปะปนกันระหว่างหมวกหกใบนี้ ซึ่งปรกติเราก็จะปล่อยให้มันเกิดขึ้นและทำให้การประชุมยืดเยื้อ ขัดกันไปมา และสุดท้ายก็ไม่มีประสิทธิภาพ การเลือกใช้หมวกทีละใบทำให้ที่ประชุมแชร์ความคิดและโฟกัสไปยังจุดเดียวกัน บนความเข้าใจเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ความคิดต่างๆ มีโอกาสถูกต่อยอดและเป็นรูปเป็นร่างได้โดยใช้เวลาน้อยกว่าแบบเดิมๆ ที่เราอาจจะใช้เวลาส่วนใหญ่ภายเรือวนในอ่าง
ลองเอาไปใช้กันดูนะครับ
Comments