top of page

ประเมินความได้เปรียบว่าจริงหรือไม่ ? ด้วยโมเดล VRIO



- เพราะสิ่งที่ธุรกิจคิดว่าได้เปรียบ มันอาจจะไม่จริงก็ได้ -


มีหลายครั้งที่ธุรกิจซึ่งมาขอคำปรึกษากับผมนั้นบอกว่าพวกเขาอยู่ในจุดที่มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง มีจุดแข็งที่สามารถแข่งขันได้ แต่พอคุยไปคุยมาแล้วก็พบว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้น


การเข้าใจเรื่องความได้เปรียบในการแข่งขันนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะอาจจะทำให้เราประเมินสถานการณ์ผิดและเกิดความชะล่าใจเอาได้ และเพื่อจะเช็คสิ่งนั้นแล้วเลยทำให้มีโมเดล VRIO ซึ่งที่ปรึกษาธุรกิจมักจะใช้ในการเช็คกันว่ามันได้เปรียบจริงหรือไม่ โดยแต่ละตัวอักษรของโมเดลมีรายละเอียดดังนี้ครับ


Valuable (คุณค่า)


สิ่งที่เราบอกว่าได้เปรียบหรือเป็นจุดแข็งนั้นต้องมีคุณค่า สามารถช่วยให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์และสร้างโอกาสได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการขยายตลาด โจมตีคู่แข่งหรือป้องกันการถูกโจมตี แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้ทำให้เกิดคุณค่าแล้ว มันจะถูกมองว่าเป็น Competitive Disadvtange เสียด้วยซ้ำ กล่าวคือมันไม่ได้สร้างคุณค่าหรือประโยชน์อะไร นำไปสู่การเสียเปรียบเพราะกลายเป็นว่าธุรกิจมีของที่ไม่จำเป็น


Rare (หายาก)


เมื่อไรก็ตามที่จุดแข็งหรือทรัพยากรที่ธุรกิจมีนั้นเป็นสิ่งที่หายาก คู่แข่งไม่สามารถเข้าถึงได้ มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่ธุรกิจจะได้เปรียบเหนือคู่แข่ง แต่ถ้าเกิดว่าเป็นสิ่งที่คู่แข่งก็สามารถเข้าถึงได้แล้วก็จะถูกมองว่าเป็น Competitive Parity คือไม่ได้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน


Imitable (ยากที่จะเลียนแบบ)


เมื่อจุดแข็งนั้นเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถทำตามได้ เพราะถ้าหากจุดแข็งดังกล่าวนั้นสามารถทำซ้ำหรือเลียนแบบได้ มันก็จะเป็นแข่งจุดแข็งชั่วคราวเท่านั้น เช่นบรรดาสิทธิบัตรต่าง ๆ ที่ถ้าคนอื่นทำไม่ได้ก็จะทำให้รักษาความได้เปรียบนี้ได้นาน แต่ถ้ามีคนอื่นที่ทำเหมือน ทำคล้ายกันได้ก็จะเป็นสถานการณ์ที่ต่างไป


Organized (มีการบริหารจัดการ)


หากจุดแข็งหรือทรัพยากรที่มองว่าเป็นความได้เปรียบไม่ได้ถูกนำมาบริหารจัดการให้เหมาะสมก็จะกลายเป็นความได้เปรียบที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน เช่นแม้ว่าเราจะมีทีมงานที่มีศักยภาพสูงเหนือคู่แข่ง แต่ไม่ได้ถูกเอามาบริหารจัดการที่ดี ก็จะกลายเป็นว่าไม่ได้นำความได้เปรียบนั้นมาทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ควรจะเป็น


จะเห็นได้ว่าโมเดล VRIO นี้เป็นการตั้งคำถามที่ดีสำหรับธุรกิจเมื่อมองย้อนกลับมาว่าบรรดาความได้เปรียบที่เราบอกว่า "ได้เปรียบเหนือคู่แข่ง" นั้นจริงมากน้อยเพียงใด เพราะถ้าหากเราวิเคราะห์กันไม่ดี เข้าใจผิดแล้ว เราก็จะกลายเป็นการประเมินสถานการณ์ที่ผิดไปจากความเป็นจริงและนำมาสู่ปัญหาอีกมากมายนั่นเอง


Commentaires


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page