ปัจจัยที่ทำให้คนจำสินค้า / โฆษณา / คอนเทนต์ เราได้
การให้คน “จำ” ตัวสินค้าหรือโฆษณาเราได้ มักจะเป็นจะเป้าหมายใหญ่ของการทำการสื่อสารการตลาดแต่ก็ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นง่ายๆ เสมอไป เพราะเอาเข้าจริงเราก็พบว่าบางโฆษณาแม้จะ “เล่นใหญ่” ก็ใช่ว่าคนจะจำได้ หรือบางครั้ง “มาถี่ๆ” ก็กลับไม่ได้รับความสนใจเช่นกัน
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนจำได้ / จำไม่ได้ เวลาดูโฆษณาหรืออ่านคอนเทนต์ของเรา?
เรื่องนี้เองก็สามารถจะอธิบายด้วยหลักการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเชิงจิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ หรือแม้แต่ประสาทวิทยาว่าด้วยการทำงานของสมอง ซึ่งหลายปัจจัยก็เข้าใจได้ง่ายๆ แต่บางอย่างก็ดูซับซ้อนพอสมควร บทความวันนี้เลยขอหยิบบางปัจจัยที่คุณควรจะรู้จักเสียหน่อยมาเล่าสู่กันฟังนะครับ
1. Context (บริบท)
เวลาทำคอนเทนต์หรือโฆษณากันนั้น สิ่งที่เรามักจะสนใจก็คือเรื่องของชิ้นงานของเราแต่บางครั้งเราลืมมองเห็นบริบทที่อยู่รอบๆ การที่ตัวคอนเทนต์ของเราจะไปถึงกลุ่มเป้าหมาย เช่นช่องทางในการรับคอนเทนต์ ช่วงเวลาที่เห็น สิ่งที่รบกวนการเสพคอนเทนต์ (Distraction) ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีบทบาททั้งสิ้นที่จะ “เร้า” หรือ “ลด” ให้คนที่เห็นคอนเทนต์เรานั้นจดจำเราได้หรือเปล่านั่นเอง
2. Distinctiveness (ความโดดเด่น/แตกต่าง)
ลองคิดง่ายๆ ว่าถ้าคุณเดินผ่านไปยังแผงสินค้าในห้างสรรพสินค้า หากเป็นการออกแบบแพคเกจที่หน้าตาเหมือนกับคนอื่นๆ ก็จะทำให้คนซื้อมองผ่านไปได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมันไม่มีอะไรโดดออกมาที่เตะตาหรือทำให้ต้องหันไปมอง ด้วยเหตุนี้การทำคอนเทนต์อะไรก็ตามจึงจำเป็นต้องอาศัยการออกแบบที่จะดึงความสนใจจากสิ่งอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบ เช่นการออกแบบกราฟฟิคให้เตะตาเวลาคนไถ Newsfeed หรือการลำดับภาพวีดีโอให้คนหยุดดูในช่วงที่เลื่อนผ่านหน้าจอเป็นต้น (ซึ่งรวมไปถึงการออกแบบ Thumbnail ด้วย)
3. Familairity (ความคุ้นเคย)
บางครั้งถ้าเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่เรากำลังเล่านั้นเป็นเรื่องที่ใหม่เกินไป คนไม่คุ้นเคย ก็อาจจะมีความเสี่ยงอยู่เหมือนกันที่คนจะลืมหรือไม่จดจำได้ ส่วนหนึ่งเพราะเรายังปรับตัวให้คุ้นและจดจำมันไม่ทันในช่วงเวลาที่มี ซึ่งตรงนี้เองก็จะมีการอธิบายว่าตัวคอนเทนต์เองเมื่อได้รับความสนใจจากคนดูแล้ว ก็ต้องรีบดึงให้คนดูคุ้นกับตัวเองให้เร็วที่สุดด้วยเช่นกัน ไม่อย่างนั้นคนก็จะรู้สึกว่ายากที่จะเข้าใจ จดจำแล้วละความสนใจไปเช่นกัน
4. Motivation (แรงจูงใจ)
ถ้าเป็นสิ่งที่เราต้องการมากๆ ให้ความสำคัญมากๆ ก็จะไม่แปลกที่เราจะพยายามบังคับสมองให้พยายามจำสิ่งที่อยู่ตรงหน้า พยายามหาจุดเชื่อมโยงหรือลักษณะพิเศษต่างๆ เพื่อมาช่วยในการจำ ลองนึกง่ายๆ ว่าถ้าเราเจอร้านอาหารไหนอร่อยโดยบังเอิญแล้วอยากกลับมากินอีก เราก็จะพยายามจำชื่อร้าน จำลักษณะร้าน หรืออะไรก็ได้ที่ถ้าครั้งหน้ามาจะได้หาเจอง่ายๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็จะเป็นเทคนิคที่คนทำคอนเทนต์มักจะใช้แรงจูงใจของคนดูเป็นจุดเริ่มว่าจะทำคอนเทนต์อะไรให้โดนใจ ซึ่งเมื่อทำคอนเทนต์ทีต้องกับแรงจูงใจแล้ว ก็ย่อมมีโอกาสที่คนจะอ่านและจดจำได้ง่ายนั่นเอง
5. Quality (คุณภาพ)
คุณภาพที่เราพูดนี้มองได้หลายมุม ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของเนื้อหา (เนื้อหาดี มีคุณภาพ) หรือคุณภาพในการผลิตคอนเทนต์ (เช่นภาพสวย ปราณีต) ที่สิ่งเหล่านี้มีผลเพราะมันคือ “ประสบการณ์” และ “ความประทับใจ” ของคนที่มีในการเสพคอนเทนต์นั่นเอง ซึ่งถ้าเราอยู่ในประสบการณ์ที่ดี มีความประทับใจแล้ว มันก็ย่อมเป็นตัวหนุนให้คนจดจำคอนเทนต์ได้
6. Length (ความยาว)
การใช้ระยะเวลากับคอนเทนต์ที่มากระดับหนึ่ง ก็ย่อมมีแนวโน้มที่คนจะจดจำตัวคอนเทนต์ได้ ส่วนหนึ่งเพราะการใช้ระยะเวลาย่อมมาพร้อมกับการใช้สมาธิ โฟกัส ซึ่งการจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็มีผลกับเรื่องความทรงจำเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงมักเห็นว่าการที่คนอ่านอะไรนานๆ แม้ว่าจะจดจำไม่ได้หมด แต่ก็ยังมีแนวโน้มจะจำรายละเอียดบางอย่างได้มากกว่าการอ่านอะไรสั้นๆ เร็วๆ แบบผ่านตาไปนั่นเอง
7. Frequency (ความถี่)
นอกจากเรื่องระยะเวลาที่คนมีกับคอนเทนต์แล้ว เรื่องของความถี่ที่เกิดขึ้นก็มีบทบาทเช่นกันเพราะถ้าเราเห็นอะไรผ่านตาบ่อยๆ นั้นก็เหมือนกับการกระตุ้นความทรงจำและค่อยๆ ทำให้เราคุ้นเคยกับเรื่องนั้นๆ โดยไม่รู้ตัว และนั่นเป็นสาเหตุให้เวลาลงโฆษณานั้นก็มักจะมีการให้ความสำคัญกับเรื่องจำนวนครั้งที่คนเห็นคอนเทนต์นั่นเอง
8. Surprise (ความประหลาดใจ)
ใน TED Talk นั้นมักพบว่าสิ่งที่ทำให้หลายๆ คนฟังหรือจดจำได้คือการนำเสนอสถิติที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยคิด และสร้างความประหลาดใจให้กับคนฟัง ซึ่งตรงนี้เองก็มาจากการที่ถ้าหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดนั้น มันก็มักจะทำให้เราเกิดโฟกัสและสนใจมากเป็นพิเศษ (ตัวอย่างเช่นเรามักจะจำตอนหักมุมในหนังได้บ่อยๆ นั่นแหละฮะ)
นี่เป็นเพียงปัจจัยพื้นฐานบางส่วนที่คนทำคอนเทนต์ควรจะรู้เพื่อเข้าใจว่าทำไมคนถึงจำเราได้ (และจำไม่ได้) ซึ่งจริงๆ ก็มีปัจจัยอื่นๆ อีกเยอะที่น่ารู้พอสมควร ใครที่สนใจก็สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้นะครับ เพราะผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ควรรู้มากทีเดียวเชียวล่ะฮะ
Comments