top of page

ปัจจัยที่ทำให้ชีวิตคุณดี – หาครูที่ดี

แม้ว่าเราจะจบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยแล้วเข้าสู่วงจรคนทำงานแล้ว แต่ก็ใช่ว่าการเรียนรู้เราจะจบลงไปด้วย เพราะเมื่อเราก้าวเข้าสู่บริษัท หลายๆ ครั้ง (โดยเฉพาะคนตำแหน่งระดับเริ่มต้น) ก็จะต้องเจอการเรียนรู้งานหรือได้รับการสอนงานจากเพื่อนร่วมงาน รุ่นพี่ หรือหัวหน้างาน

ที่ผมยกเรื่องนี้มาพูดนั้นเพราะถ้าดูกันดีๆ แล้ว คนที่มาสอนงานให้เราก็เหมือนครูอีกคนของเรา ชีวิตของเราในที่ทำงานเองก็เริ่มต้นและขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขากำลังสอนให้เป็นสำคัญเสียส่วนมาก

ลองนึกย้อนไปในวันแรกๆ ที่เราเขาทำงานสิครับ วันที่เรายังไม่รู้ว่าจะต้องคุยกับใคร ต้องติดต่อใคร คนที่มาช่วยสอนเรา แนะนำเราคือคนที่ใส่ข้อมูลให้กับเราว่าต้องทำอย่างไร ทำวางตัวอย่างไร ถ้าในบางองค์กรก็อาจจะมีการบอกเทคนิคการทำงานว่าถ้าจะต้องทำงานให้ดีกับคนนั้นคนนี้ต้องใช้วิธีแบบไหน

และถ้าเราสังเกตกันดีๆ แล้ว ถ้าได้ครูที่ดีมาสอนพนักงานใหม่แล้ว โอกาสที่พนักงานใหม่คนนั้นจะกลายเป็นพนักงานคุณภาพก็ยิ่งสูงขึ้นตาม ถ้าคนสอนงานสอนเป็น สอนเก่ง คนที่มาทำงานใหม่ก็ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ในทางกลับกันแล้ว เราก็มักเจอคนสอนงานบางคนสอนอะไรแปลกๆ ให้กับผู้มาใหม่ บางคนเสี้ยมว่าคนโน้นอย่าคุย คนโน้นอย่าไปคบ ฯลฯ ทั้งที่คนมาใหม่ยังไม่ได้ทันไปรู้จัก บ้างก็ไปเติมแต่งข้อมูลบิดเบือนอะไรต่างๆ นานาเพราะอคติที่ผู้สอนมีส่วนตัว เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนกลายเป็นชนวนที่สร้างให้พนักงานหลายๆ คนเข้าใจหลายอย่างผิดไป พอๆ กับที่พนักงานบางคนก็รู้สึกกระอักกระอ่วนว่าจะต้องวางตัวอย่างไรดีเพราะไม่อยากเข้าไปข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมืองหรือความขัดแย้งระหว่างคนที่เพิ่งรู้จัก

ในแง่องค์กรแล้ว การดูแลและเลือกคนมาเป็น “ครู” ในองค์กรก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบเพราะเหตุผลข้างต้น หากเลือกไม่ดีก็จะกลายเป็นว่าสร้างพฤติกรรมหรือความเข้าใจผิดๆ ให้กับพนักงานคนอื่นๆ ไป

แต่ก็ใช่ว่าภาระทั้งหมดจะอยู่กับองค์กรเพียงอย่างเดียว พนักงานแต่ละคนเองก็ต้องรู้จัก “เลือก” ที่จะมองหาครูที่ “ใช่” สำหรับตัวเองด้วย

ที่บอกว่ารู้จักเลือกครูนั้น คงสำคัญว่าแต่ละคนคงต้องพิจารณาดูว่าครูที่ตัวเองจะเอาชีวิตไปฝากและร่ำเรียนวิชาด้วยนั้นเป็นคนที่เหมาะแก่การจะไปร่ำเรียนวิชาด้วยจริงหรือไม่? หลายคนอาจจะดูเก่ง มีความรู้ แต่ก็ใช่ว่าจะมีความสามาถในการถ่ายทอดหรือการสอนงาน เรามักเจอหลายคนทำงานเก่งมากๆ แต่พอให้สอนงานกลับทำได้ล้มเหลวน่าผิดหวัง ไม่สามารถอธิบายให้เป็นเรื่องเป็นราวได้

หรือถ้าจะมองในแง่จริยธรรม บางคนเป็นคนเก่งแบบสุดๆ แต่กลับพ่วงมาด้วยทัศนคติแง่ร้าย อคติ หรือค่านิยมผิดๆ ครูแบบนี้ก็น่าห่วงถ้าจะไปเรียนเพราะอาจจะไม่ได้ความเก่งกาจติดตัวมาเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะได้นิสัยเสียๆ พ่วงตามมาด้วย

ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวแต่เชื่อผมเถอะครับว่าในชีวิตจริงเราเห็นครูแบบข้างต้นจำนวนมากในที่ทำงานต่างๆ ในประสบการณ์ส่วนตัวผมก็เจอมามากมาย บางคนสอนให้รู้จักการคดโกง ตุกติก เอาเปรียบคนอื่น บางคนไม่ตักเตือนเวลาเราทำอะไรผิด หรือทำอะไรไม่ดี บางคนยุแยงตะแคงรั่ว ฯลฯ

และในหลายๆ ออฟฟิศก็เจอเรื่องแบบนี้อยู่บ่อยๆ แถมกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เรื้อรังทำลายองค์กรในระยะยาวอีกต่างหาก

การเลือกครูเป็นเรื่องที่ดูไม่มีอะไรมากแต่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและสำคัญมากสุดๆ หากก้าวพลาดไปแล้ว คุณก็อาจจะเลือกทางผิดและเสียโอกาสหลายๆ อย่างโดยไม่รู้ตัว

ฉะนั้นก็ลองคิดกันดูให้ดีว่าทุกวันนี้คุณมีใครเป็น “ครู” ในองค์กรของคุณ?

และเหมาะสมกับที่จะเป็น “ครู” จริงๆ หรือเปล่า?

หลักการเลือก “ครู” (ในความคิดของผม)

1. มีความรู้ในสิ่งที่จะสอน: แน่นอนว่าถ้าไม่รู้จริง เราก็คงยากที่จะได้ความรู้ หรือไม่ก็จะกลายเป็นรู้อะไรผิดๆ

2. มีทักษะในการสอน: อธิบายเป็น แนะนำเป็น ถ่ายทอดเป็น

3. กวดขันและจริงจัง: ถ้าคนสอนทุ่มเทและจริงจังกับการสอน โอกาสที่เราจะเก่งและเรียนรู้ย่อมเยอะกว่าคนสอนที่ไม่ได้คิดจริงจังกับมัน

4. มีคุณธรรม: ข้อนี้สำคัญมากกว่าอะไร เพราะถ้าคนสอนพ่วงมาด้วยทัศนคติไม่ดีแล้ว สิ่งที่จะถูกปลูกฝังต่อมาให้เราคือทัศนคติแย่ๆ มุมมองผิดๆ ซึ่งนั่นแย่เสียกว่าไม่ได้ความรู้เสียอีก (ในชีวิตผมเจอคนหลายคนที่เก่ง มีความรู้ แต่ถูกสอนให้ใช้วิชาแบบผิดๆ ทำงานแบบผิดๆ จนน่าเสียดายอนาคตมากๆ)

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page