ปัญหาที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง – การเข้าใจไม่ใช่การยอมรับ
ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ตลาดยุคดิจิทัลนั้น ผมมักจะได้รับการถามจากหลายๆ คนถึงวิธีการรับมือของความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเรื่องการทำให้คนในองค์กรพร้อมและลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองรับกับยุคใหม่
ฟังเหมือนเป็นเรื่องง่ายแต่เอาจริงๆ ทุกวันนี้องค์กรจำนวนมากก็ยังไม่สามารถปรับตัวสู่ธุรกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างที่มันควรจะเป็น
เอาง่ายๆ ที่ผมมักจะเจอบ่อยๆ คือการเกิดแผนกการตลาดดิจิทัล ที่แม้เราจะพูดกันทุกวันนี้ว่าเป็นหัวใจสำคัญมากๆ สำหรับวันที่ผู้บริโภคทยอยผันตัวเองไปสู่การเป็นผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยีมากข้นเรื่อยๆ แต่เอาเข้าจริงแล้ว แผนกการตลาดดิจิทัลในหลายๆ บริษัทก็กลายเป็นเหมือนตำแหน่งงอกขึ้นมา ซึ่งก็มีจำนวนคนไม่เยอะ บางที่ก็มีเพียงคนสองคน บางแห่งก็ไม่ได้โฟกัสจริงจังประเภทมีตำแหน่งไว้ให้รันงานและสามารถบอกได้ว่าเรามีการตลาดดิจิทัลแล้วนะ
ประเด็นเรื่องนี้ทำให้ผมมักพูดเสมอๆ ว่ามันคือความแตกต่างระหว่างการ “รับรู้” “เข้าใจ“ และ “ยอมรับ”
ที่พูดเช่นนี้เพราะในเรื่องความเชื่อของคนนั้นมีหลายระดับ เช่นเดียวกับเรื่องการรับข้อมูลข่าวสารและการมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจต่างๆ ซึ่งมันก็จะกลับมาว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกเห็นความสำคัญในระดับไหนกันบ้าง
ผมมักยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าในหลายๆ ครั้งนั้นเราอาจจะพอรับรู้ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร แต่เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ซึ่งแน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจึงไม่สามารถโน้มน้าวให้เราคล้อยตามได้ตั้งแต่ต้น ในขณะที่บางเรื่องเองก็อาจจะพอเข้าใจในแนวคิด หลักการและเหตุผล แต่มันก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเชื่อ ปักใจ และตัดสินใจไปในทางเดียวกันได้
เหมือนกับคำพูดที่เราพูดกันบ่อยๆ ว่า “เข้าใจนะว่าคิดอะไร แต่….”
มันก็เหมือนกับการที่เรารู้ว่าอะไรคืออะไร เรามีข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ แต่ที่เราขาดไปคือเรายังไม่เชื่อ เรายังไม่ยอมรับชุดเหตุผลนั้นให้มาเป็นเหตุผลของตัวเราด้วย
สำหรับผมแล้ว การเปลี่ยนผ่านของเรื่องราวต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจก็ไม่ต่างจากเรื่องนี้แต่อย่างใด การตลาดิจิทัลอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พูดถึง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับและเชื่อไปกับมัน บางคนอาจจะพอรู้ว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันจะต้องทำอะไรมากมายหรือต้องทุ่มเทชนิดไม่ทำไม่ได้
เราจึงเห็นบางองค์กรทำการตลาดดิจิทัลประเภททำให้พอเป็นพิธีแล้วก็รู้สึกว่าโอเคแล้ว ในขณะที่บางองค์กรจะเป็นประเภท Do it or Die
ความแตกต่างที่ทำให้คนเราเลือกจะปฏิบัติแบบนี้ก็เพราะเมื่อใครก็ตามที่ “เชื่อ” แล้วจะมองเห็นและตัดสินใจอะไรบางอย่างมากกว่าคนที่ “รับรู้” หรือ “เข้าใจ”
มันก็คล้ายๆ กับเวลาที่เรามองเห็นคนบางคนเชื่อเรื่องไสยศาสตร์แล้วจริงจังมากกับทำบุญหรือมีของขลังต่างๆ หรือบางคนอาจจะเชื่อพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรมมากกว่าคนทั่วๆ ไปที่อาจจะแค่ทำบุญตามวันสำคัญพอประมาณ
ฉะนั้นแล้ว คนที่จะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือเป็นคนที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น จำเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างของระดับความเชื่อนี้ให้ดี รวมทั้งวิเคราะห์ให้ได้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้อีกฝ่ายก้าวไปสู่อีกขั้นให้ได้
เพราะถ้าแค่การไปบอกใครปาวๆ ว่าถึงเวลาจะต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็คงจะยากที่ใครจะเปลี่ยนแปลงไปในแบบที่คุณคาดหวังหรอกนะครับ
รูปภาพซื้อและดาว์นโหลดจาก Bigstock
Comments