top of page

ปัญหาเมื่อคนทำงานดันไม่คิดว่าเป็นปัญหา

ระหว่างที่ผมอยู่ที่มาเลเซียเพื่อดู Formula 1 นั้น ทาง Exness ได้เตรียมรถยนต์ 1 คันไว้บริการสำหรับกรณีที่ผมต้องเดินทางไปไหนทั้งตามกำหนดการหรือความสนใจส่วนตัว ซึ่งเอาจริงๆ ผมก็ไม่ค่อยจะได้ใช้บริการเสียเท่าไรนอกจากเดินทางจากโรงแรมไปสนามเซปังหรือไปร้านอาหารไม่กี่ครั้ง

แต่หนึ่งในประสบการณ์ที่ผมแอบมาคิดคือคนขับรถที่คอยให้บริการผมกับทีมงานของ Exness ที่ดูแลผมนั้นกลับมักสร้างปัญหาอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องติดต่อไม่ได้ ไม่อยู่ในที่นัดหมาย และอื่นๆ อีกมากมายจนทำให้หลายๆ ทีผมกับทีมงานต้องแอบเหนื่อยใจเพราะไม่รู้ว่าจะติดต่อเขาได้อย่างไร โทรไปก็ไม่รับสายหรือกว่าจะรับสายก็ต้องโทรตามปาเข้าไปเกือบ 20 ครั้ง ฯลฯ (ก่อนผมจะพบว่าเขาเปิด Silent Mode ในโทรศัพท์เสียอย่างนั้น)

และพอทุกครั้งที่เราขึ้นรถแล้วถามว่าเกิดอะไรขึ้น คนขับซึ่งเป็นคนมาเลเซียเชื้อสายจีนที่มีอายุระดับหนึ่งก็จะพูดทำนองเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ประกอบกับข้ออ้างมากมายว่าทำไมถึงมาสาย ไปวนรถโน่นนี่ (ทั้งที่ทีมงานจ่ายค่าจอดรถใกล้สนามแข่งซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงมากแล้วก็ตาม)

นั่นยังไม่นับเรื่องที่คนขับมักขับเส้นทางแบบตามใจฉันทั้งๆ ที่ทีมงานกับผมบอกให้ไปอีกทางตามข้อมูลของโปรแกรมในมือถือ โดยให้เหตุผลว่าเขารู้จักเส้นทางดี ก่อนจะพาเราไปติดหรือต้องวนหาทางใหม่

ฟังๆ ดูเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับคนที่ใช้บริการอยู่ไม่น้อย

แต่เพราะเรื่องนี้เองทำให้ผมกลับมานั่งคิดว่าเอาจริงๆ เราก็มักจะเจอสถานการณ์แบบนี้ในออฟฟิศอยู่เหมือนกัน ประเภทพนักงานที่ชอบบอกว่าทุกอย่างทำได้ ไม่มีปัญหา แล้วก็มองว่าทุกความผิดพลาดนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องปรกติ และตัวเองไม่ได้ผิดอะไรกับเรื่องดังกล่าว

เอาจริงๆ ผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงเจอแบบนี้กันมาไม่น้อย

ทัศนคติประเภทที่ว่าตัวเองไม่ผิด หรือคิดว่าตัวเองทำดีแล้วนี่เองที่ทำให้เกิดปัญหาอยู่บ่อยๆ ในองค์กร เรามักจะเจอพนักงานประเภทนี้มักดูรื่นเริง ไม่เดือดไม่ร้อนกับสถานการณ์อะไร และเมื่อให้ประเมินผลว่าทำงานเป็นอย่างไร พวกเขาก็จะบอกว่าพวกเขาทำงานได้ดีเยี่ยมมาก

และผมว่าเรื่องแบบนี้คงสร้างความปวดหัวให้กับหัวหน้างานหรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานอยู่พอสมควร เพราะการดีลกับคนแบบนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเสียเท่าไร ครั้นจะใช้การกดดันหรือรายงานผลงานจริงๆ ก็มักถูกมองว่ากลั่นแกล้งหรือทำร้ายคนอื่นเอาเสียง่ายๆ

นั่นเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายๆ องค์กรจึงให้ความสำคัญมากกับการคัดบุคลากรเข้ามาทำงานเช่นเดียวกับกับการสร้างระบบตรวจสอบที่รัดกุมเพื่อตีกรอบให้คนเหล่านี้เข้าใจสถานะที่แท้จริง นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องความเด็ดขาดของหัวหน้างานที่บางทีก็ต้องตัด “ความสงสาร” ออกไปและสิ่งที่จำเป็นคือการชี้ให้เห็นว่าพวกเขาทำงานบกพร่องอย่างไร ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเขา รวมไปถึงการโค้ชตัวเขาในอนาคตด้วย

ที่บอกอย่างนี้นเพราะจากประสบการณ์ของผมนั้น พนักงานเหล่านี้มักจะมองไม่เห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นดีหรือไม่ดี แล้วก็มักจะทึกทักว่าตัวเองทำดีอยู่แล้ว บ้างก็มองไม่เห็นว่าคนอื่นเดือดร้อนแค่ไหน ที่สำคัญคือการมองไม่เห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะสร้างผลกระทบต่อตัวเองอย่างไร เช่นจะทำให้ลูกค้าหรือหัวหน้างานตำหนิ ตัดโอกาสการก้าวหน้า หรือถ้าร้ายแรงเลยคือสูญเสียหน้าที่การงานกันเลย ซึ่งทัศนคติเหล่านี้เป็นเรื่องที่อันตรายมากหากไม่ได้รับการแก้ไข

เพราะเรื่องนี้คงไม่ใช่แค่ผลเสียกับตัวบุคคล แต่กระเทือนไปถึงคนอื่นๆ ที่ทำงานด้วย และถ้าคนที่มีทัศนคติแบบนี้ให้บริการกับลูกค้าแล้ว ก็คงจะทำให้ลูกค้าไม่สบอารมณ์แบบเดียวกับที่ผมเจอนั่นแหละครับ ^^

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page