ปั่นไลค์ ขายแฟนเพจ ธุรกิจสีเทา(?) บนโลกออนไลน์
อย่างที่เรารู้กันว่า Facebook Page หรือที่เราเรียกกันสมัยก่อนว่า Fan Page นั้นกลายเป็นช่องทางยอดฮิตของทั้งแบรนด์หรือคนที่อยากสามารถกลุ่มของตัวเองบนเครือข่ายสังคมยอดฮิตที่มีผู้ใช้ในไทยมากกว่า 17 ล้านคน ทุกวันนี้มีหนังสือ บทความ และบล็อกมากมายที่พูดถึงเทคนิคการทำ Facebook Page ให้ประสบความสำเร็จซึ่งก็เป็นสิ่งที่นักการตลาดออนไลน์พยายามติดตามอยู่สม่ำเสมอ
แน่นอนว่าสำหรับแบรนด์แล้ว ก็ย่อมมีเพจหลักของแบรนด์อยู่แล้วเพื่อใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ แต่สำหรับธุรกิจเล็กๆ หรือคนทั่วไปแล้ว การมีแฟนเพจที่มีคนกดไลค์ติดตามนั้นก็ย่อมเป็นโอกาสทองในการสร้างธุรกิจหรือรับโปรโมตแคมเปญต่างๆ ให้กับธุรกิจ สินค้า หรือบริการต่างๆ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ยอดฮิตในช่วงปีที่ผ่านมา จึงไม่แปลกว่าเราจะเห็นการเกิดใหม่ของเพจต่างๆ ที่พยายามสรรหาจุดเด่นของตัวเองมาชู บ้างก็ใช้วิธีสร้างแอพพลิเคชั่นในการเพิ่มจำนวนไลค์ บ้างก็ใช้วิธีดึงคอนเทนต์น่าสนใจมาแชร์ให้คนอยากติดตาม แถมหนักๆ เข้าก็ถึงขั้นมีการซื้อขายไลค์กันเลยก็มี และนั่นก็ทำให้การทำแฟนเพจนี้มีเม็ดเงินเข้ามาไหลเวียนจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ
ระหว่างที่ผมประชุมงานอยู่วันนี้ @spin9 ก็แคปเจอร์หน้าจอหนึ่งแล้วแชร์มาในกรุ๊ปแชท ซึ่งพอเห็นแล้วก็ทำให้ผมอดประหลาดใจไม่น้อย เพราะตอนนี้มีการประกาศขายแฟนเพจกันเป็นธุรกิจแล้ว แถมแต่ละแฟนเพจที่มาขายนั้นก็มีคนไลค์กันหลักหมื่นหลักแสน แถมเสนอขายกันในราคาตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาทเช่นกัน
ผมลองเข้าไปเปิดดูตามโพสต์ที่เห็น ก็พบข้อคิดน่าสนใจอยู่ไม่น้อยตามรูป
จะเห็นได้ว่าแนวคิดที่เจ้าของเพจเอามาขายเพจนั้นก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะเมื่อเพจนั้นมีคนกดไลค์จำนวนมากแล้ว ก็สามารถเอาไปใช้ขายสินค้า ขายโฆษณา ทำตัวเองในฐานะของ “สื่อ” ที่ให้คนอื่นมา “ซื้อพื้นที่” เพื่อโปรโมตสิ่งต่างๆ ได้
จะว่าไปแล้ว ผมก็เคยเดาไว้ระดับหนึ่งว่าจะมีการซื้อขายแฟนเพจสักวัน ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว Facebook ก็คงมีการระวังเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย จึงมีการตั้งกฏไม่ให้สามารถแก้ไข URL หรือแก้ไขชื่อเพจ ได้ (เว้นเสียแต่คุณจะเป็นแบรนด์หรือบริษัทที่มีเหตุผลการเปลี่ยนแปลงชัดเจน แต่ก็ต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากอยู่ไม่น้อยทีเดียว) แต่นั่นก็ยังคงมีช่องให้หลายคนทำธุรกิจกับการซื้อขายแฟนเพจได้แบบอย่างที่เราเห็นกัน
ถ้าถามว่าแฟนเพจเหล่านี้คุ้มค่ากับราคาที่ตั้งขายไว้หรือไม่ อันนี้ก็คงต้องมาพิจารณากันว่าแฟนเพจเหล่านี้มี “แฟน” อย่างไร และเป็นแฟนประเภท “คุณภาพ” หรือไม่ เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าหลายแฟนเพจนั้นปั่นจำนวนไลค์ขึ้นมาจากการเล่นแอพพลิเคชั่นประเภทดูดวงหรือสุ่มคำตอบ บ้างก็ใช้วิธีการซื้อไลค์ ซึ่งนั่นก็อาจจะได้แฟนที่ไม่ได้มีความสนใจร่วมกับแนวทางของเพจ บ้างก็อาจจะกดไลค์แล้วทำการซ่อนโพสต์ของเพจจาก Timeline ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็เท่ากับว่าเพจอาจจะไม่สามารถเข้าถึง “แฟน” ได้จริงๆ อย่างที่อ้างไว้
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขายแฟนเพจก็อาจจะเป็นที่สนใจของคนที่อยากสร้างเครือข่ายย่อยผู้ใช้ Facebook โดยที่เน้นปริมาณเป็นหลัก เพราะถ้าคุณมีเพจที่มีจำนวนแฟนมากๆ อยู่หลายเพจ คุณก็อาจจะใช้มันเป็นฐานในการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งถ้าเพจนั้นเป็นเพจที่มีคุณภาพของแฟนในระดับหนึ่งแล้ว นั่นก็อาจจะทำให้เพจเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดได้จริง
ถ้าใครคิดที่จะลงทุนกับธุรกิจนี้แล้ว ก็คงจะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยและความเสี่ยงจาก “สินค้า” เพราะถ้าผู้ซื้อไม่รู้วิธีการเลือกดูสินค้าแล้ว ก็อาจจะถูกสินค้าของปลอม หรือของด้อยคุณภาพมาหลอกขายได้ แต่ถ้าตาถึงและได้ของดีมา ก็อาจจะได้ของดีราคาไม่แพงมาก็ได้เช่นกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่คนที่หวังจะเป็นเจ้าของใหม่ควรคำนึงคู่ไปด้วย (ถ้าคิดจะซื้อจริงๆ) ก็คือการทำแฟนเพจนั้นจำเป็นต้องมีการดูแลและคอยอัพเดตอย่างสม่ำเสมอ เพราะนั่นก็เกี่ยวโยงกับ Edgerank ที่มีผลสำคัญมากในเรื่องการสร้าง Engagement และ Reach ให้กับโพสต์ของเพจ เพราะถ้าซื้อเพจที่มีคนตามเป็นแสนแต่บริหารไม่เป็น เน้นปั้มโพสต์จนกลายเป็นสแปมแล้วล่ะก็ แฟนเป็นแสนก็อาจจะสูญค่าเอาง่ายๆ เหมือนกัน
คงต้องมาดูกันว่าธุรกิจแฟนเพจจะสามารถไปได้ถึงระดับไหน เพราะถึงตอนนี้ก็เริ่มมีรู้สึกกันแล้วว่าหลายๆ เพจสร้างและปั่นขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจ เกิดความซ้ำซากเนื่องจากคอนเทนต์ที่ใช้ก็เป็นการก๊อปมาจากเพจอื่นๆ ประสิทธิภาพของการโฆษณาและโปรโมตอย่างที่หลายเพจกล่าวอ้างก็ไม่ได้ผลจริงๆ เนื่องจากคุณภาพของแฟนไม่ได้เป็นไปตามตัวเลขที่แสดง ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น หลายๆ แฟนเพจที่สร้างขึ้นเหล่านี้อาจจะหมดมนต์ขลังแล้วก็ได้
Comments