“ผิดไม่เป็น” เชื้อมะเร็งอันตรายขององค์กรที่แฝงอยู่ในเหล่าผู้บริหาร
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับคนที่มาคุยกับคนที่มาเรียนคอร์ส Content Marketing ของผมซึ่งก็ประกอบด้วยคนหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเอเยนซี่ เทรนเนอร์ และเหล่าพนักงานขององค์กรใหญ่ๆ ซึ่งมีประเด็นหนึ่งที่หลายๆ คนมักบ่นกันคือพอทำงานจริงแล้วจะเจอปัญหากับสถานการณ์อันไม่น่าพึงประสงค์เลย เช่น
เคยบรีฟงานแบบนี้ไว้ พองานไม่สำเร็จ ก็บอกว่าไม่ได้บรีฟแบบนี้
พอประชุมตัดสินใจแบบนี้ แต่ไม่ได้ผลดี ก็บอกว่าเป็นความผิดคนอื่น
ตัวเองเป็นคนเสนอไอเดียและพยายามพลักดัน แต่พอผิดพลาดก็โยนไปให้คนอื่นรับผิดชอบ
เคยเตือนแล้วว่าอย่าทำ ไม่งั้นจะเกิดผลไม่ได้ ก็ยังสั่งให้ทำ พอทำแล้วไม่เวิร์คก็บอกว่าไม่เคยได้รับการเตือน
ฯลฯ
(ผมเชื่อว่านี่เป็นสถานการณ์คุ้นๆ ที่เกิดขึ้นกันจนแทบจะเป็นเรื่อง “ปรกติ” ในหลายๆ องค์กรแหละฮะ)
สำหรับผมแล้ว ผมเองก็เจอสถานการณ์แบบนี้มาไม่น้อย ทั้งคนรอบข้างเจอหรือแม้แต่กับตัวเอง ซึ่งผมก็มักสรุปว่าปัญหาที่ทำให้องค์กรหลายๆ แห่งไม่ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องของ Process หรือหลักการอะไรเลย หากแต่เป็นเรื่องของ Ego ของเหล่าผู้บริหาร คนมีอำนาจ ที่กลายเป็นคนที่ “ผิดไม่เป็น” นั่นแหละครับ
ถ้าเรามองกันลึกๆ แล้วเราจะเห็นว่านี่เป็นเหมือนธรรมชาติอันน่าประหลาดที่มาจาก “หัวโขน” ที่เรามีมากขึ้นเรื่อยๆ จากอายุงาน จากประสบการณ์ต่างๆ ประเภทพอเรากลายเป็นคนดัง เราทำอะไรก็ถูก มีคนทักท้วงอะไรก็ไม่ฟังแถมอาจจะพาลไปโจมตีอีกฝ่ายแทน บางคนกลายเป็นผู้บริหารระดับสูงปุ๊ปก็เหมือนมีอำนาจเด็ดขาด ชี้นิ้วสั่งโน่นนี่ ใครๆ ก็ต้องก้มหัวให้ พอมีคนวิพากษ์วิจารณ์ก็ไปโจมตีหาว่าหัวไม่ถึง ไม่เก่งเท่าตัวเอง
เรียกได้ว่าเป็นการบิ้วท์ Ego ตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ
เอาจริงๆ ถ้าเราจะพยายามเข้าใจนั้น ส่วนหนึ่งเพราะงานตำแหน่งสูงๆ นั้นมักมาพร้อมกับแรงกดดันและความเสี่ยงในการตัดสินใจ เราจึงไม่แปลกใจที่คนซึ่งจะได้ทำงานตำแหน่งเหล่านี้มักมีนิสัยเด็ดขาดมากกว่าคนทั่วๆ ไป แถมอาจจะตึงๆ กว่าคนปรกติ
แต่ก็นั่นแหละที่มันกลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมอันไม่ค่อยดีของเหล่าผู้บริหารคือการที่ตัวเอง “ผิดไม่เป็น” ประเภทที่ว่าไม่รู้ไม่ได้ ไม่สามารถโชว์ให้คนอื่นเห็นได้ว่าตัวเองไม่รู้ ต้องรู้มากกว่าคนอื่น ถ้าอะไรที่ตัวเองผิดจะกลายเป็นตราบาปในประวัติตัวเอง จะกลายเป็นการสั่นคลอนอำนาจของตัวเอง
ผลสุดท้ายคือเราจะเห็น “วิถี” ของการ “ผิดไม่เป็น” นี้เองแหละที่กัดกร่อนองค์กรไปเรื่อยๆ คนทำงานที่มุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีก็ไม่อาจจะอยู่ดีเพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นมักต้องไปง้างกับระบบเดิมๆ กรอบทำงานเก่าๆ ซึ่งก็จะโดนสวนกลับบ่อยๆ ว่าของเดิมดีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรแย่ หรือใครจะเสนอความเห็นอะไรต่างออกไปก็จะโดนคนที่เอา “ตำแหน่ง” มาสวนกลับมากกว่าการคุยเรื่องเหตุและผล
และที่ตลกคือพอ “ความฉิบหาย” เกิดขึ้น คนเหล่านี้ก็เหมือนลืมว่าตัวเองพูดอะไร ตัวเองตัดสินใจอะไรไป แล้วก็พยายามลากแม่น้ำทั้งห้ามาบอกว่าตัวเองไม่ผิด บ้างก็พยายามเบี่ยงไปว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุบลา บลา บลา โดยแทบจะไม่เคยได้ยินว่า “ผมออกตัวก่อนว่าผมตัดสินใจผิด” เลยแม้แต่น้อย
สำหรับผมแล้ว สิ่งที่น่ากลัวของ “ผิดไม่เป็น” คือมันจะทำให้องค์กรไม่อาจจะขับเคลื่อนไปไหนได้ ผู้บริหารกลายเป็นคนกุมอำนาจที่ก็จะยืนกระต่ายขาเดียวในขณะที่พลังสร้างสรรค์อื่นๆ ก็ยากที่จะต้านเพื่อเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สุดท้ายคนที่อยู่ก็ก้มหัวทำงานกันไปแบบ “จำยอม” โดยที่เจ้าตัวผู้ก่อเรื่องก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร (เพราะก็คิดว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด) แถมเมื่อปล่อยไปนานๆ เข้ามันก็ดัน “ส่งต่อ” ให้กับคนอื่นอีกต่างหาก
ผมเขียนบล็อกนี้เพื่อเล่าแง่คิดบางอย่างซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องสำคัญของหลายๆ องค์กร และถ้าหากมองในแง่บุคคลแล้ว การเป็นคน “ผิดไม่เป็น” ก็ยิ่งน่ากลัวเพราะมันจะทำให้คุณไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่จากความผิดพลาด ไม่รับฟังคำวิจารณ์คนอื่นๆ สร้างความมั่นใจผิดๆ แถมจะทำให้คนอื่นๆ มองคุณแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ
มันก็เช่นนั้นแหละครับ
Comments