ผ่าตัดองค์กรรับยุคดิจิทัล
Digital Transformation เป็นหนึ่งในสิ่งที่วันนี้นักบริหารหลายๆ คนพูดถึงกันเยอะ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันคือการก้าวข้าม Digital Marketing ไปสู่สเกลที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และสำคัญกับธุรกิจมากกว่าเดิม
ถ้าถามผมแล้ว ผมก็ไม่ได้แปลกใจอะไรเพราะสิ่งที่เราควรเข้าใจกันเสียแต่เนิ่นๆ (ซึ่งจริงๆ ควรจะเข้าใจตั้งนานแล้ว) คือการที่ดิจิทัลเข้ามาในยุคสมัยปัจจุบันนั้นไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงในตัวการตลาดที่เรากำลังตื่นตัวเท่านั้น หากแต่เปลี่ยนโครงสร้างและบริบทของธุรกิจพอสมควร โดยพอเป็นอย่างนี้แล้ว การผ่าตัดองค์กรเพื่อให้เข้ากับยุคดิจิทัลจึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริหารของหลายๆ บริษัทเริ่มหันมาสนใจอย่างจริงจัง
การขยับขององค์กรกับยุคดิจิทัลนั้น สิ่งที่เราอาจจะต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษคือไม่ใช่การเพิ่มแผนก Digital Marketing ขึ้นมาอย่างที่เรามักทำกัน ประเภทหาคนมาทำการตลาดออนไลน์ คนมาดูแล Facebook แถมการทำแบบนั้นอาจจะสร้างปัญหาให้กับองค์กรในภายหลังด้วย (อยากรู้เรื่องนี้เพิ่มเติม ผมเขียนบทความไว้ที่ Thairath Online ลองอ่านดูได้ครับ)
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการผ่าตัดองค์กรในแวดวงที่ได้รับผลกระทบหลักๆ ก็อย่างเช่นเอเยนซี่โฆษณาที่ตอนนี้มีข่าวของการปรับโครงสร้างภายในบริษัท การเปลี่ยนบทบาทของเอเยนซี่จากเดิมที่ทำแค่โฆษณา (โดยเฉพาะโฆษณาทีวีหรือสิ่งพิมพ์) ให้กลายเป็นเหมือน Communication Specialist / Solution Provider / Problem Solver แทนเพราะโจทย์ของการตลาดวันนี้ไม่ได้เหมือนแต่ก่อนที่ทำโฆษณาเปรี้ยงๆ แล้วจะจบ
ในส่วนของแบรนด์เอง ก็เริ่มมีการเพิ่มตำแหน่งใหม่ๆ อย่างเช่น Chief Digital Officer เข้ามารับบทบาทในการเพิ่มประสิทธิภาพหรือการขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยดิจิทัล ซึ่งเรื่อง Transformation นี้ค่อนข้างจะใหญ่โตอยู่ไม่น้อยแถมเกี่ยวโยงกับหลายๆ ภาคส่วนในองค์กรด้วย โดยถ้าเรามองกันแบบเร็วๆ แล้ว สิ่งที่องค์กรอาจจะต้องคิดกันเสียแต่วันนี้ว่าตัวเองมีความพร้อมมากแค่ไหนนั้น ก็มีอยู่หลายอย่างด้วยกันเช่น
Digital Infrastructure:
โครงสร้างพื้นฐานของดิจิทัลเช่นระบบข้อมูลต่างๆ ความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กร เครื่องมือที่ควรจะมีเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้
Digital Product & Service:
การสร้างรูปแบบสินค้าหรือบริการที่รองรับพฤติกรรมของคนดิจิทัลได้ โดยมันไม่ได้หมายความว่าเราต้องสร้างสรรค์สินค้าขึ้นมาใหม่เสมอไป แต่มันรวมไปถึงรูปแบบการให้บริการ การเข้าถึงสินค้าของคนออนไลน์ ฯลฯ
Digital Communication & Experience:
การปฏิรูปวิธีการสื่อสารการตลาดและการสร้างประสบการณ์ให้กับคนในช่องทางดิจิทัล เรื่องนี้ถ้าพูดง่ายๆ คือการรื้อสร้างกระบวนการตลาดให้เข้ากับพฤติกรรมคนดิจิทัลมากขึ้น รูปแบบการสื่อสารใหม่ๆ วิธีการนำเสนอที่เข้ากับบริบทปัจจุบัน การใช้สื่อใหม่ ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการโฆษณาเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการสร้างประสบการณ์อื่นๆ ต่อตัวแบรนด์หรือสินค้าอีกด้วย
Digital Operation:
นอกจากการมีเครื่องมือดิจิทัลเป็นอุปกรณ์ในการทำงานแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เหมือนกันคือการใช้ดิจิทัลเข้ามาปรับวิธีการทำงานต่างๆ ปรับกระบวนการทำงานให้คล่องขึ้น รวดเร็วมากขึ้นโดยใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจากบรรดาเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เรามีนั่นเอง
Digital People (with Digital Mindset):
สิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้องค์กรขยับตัวรับมือโลกดิจิทัลได้ก็คงไม่พ้นการทำให้บุคลากรในที่ทำงานกลายเป็นคนที่มี Digital Mindset ทั้งนี้เพราะต่อให้เรามีเครื่องมือดีแค่ไหน แต่หากคนทำงานยังไม่เข้าใจและไม่ปรับมุมมองหรือทัศนคติในการมองธุรกิจให้สอดคล้องกับความเป็นไปในยุคดิจิทัลแล้ว สุดท้ายก็จะกลับมาเจอปัญหาเดิมๆ คือการเอาชุดความคิดเก่าไปจับกับสถานการณ์ใหม่ที่อยู่บนปัจจัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งก็จะกลายเป็นความขัดแย้งที่ยากจะลงตัวนั่นเอง
5 หัวข้อหลักๆ ข้างบนคือหลักพื้นฐานที่ผมมักจะแนะนำผู้บริหารหลายคนที่มาคุยเกี่ยวกับเรื่องการปรับองค์กร ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องของ Digital Marketing นั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งในภาพรวมที่ใหญ่กว่านั้นมาก
โจทย์วันนี้ของการทำให้ธุรกิจอยู่รอดในวันที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ของผู้บริหารที่โตมากับสภาวะตลาดแบบก่อนๆ แต่ความจริงที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้คือเราต้องปรับตัวให้ทันก่อนที่จะสายเกินไปซึ่งการเลือกจะต้านหรือไม่ยอมปรับเปลี่ยนก็มีแต่จะทำให้เสียโอกาสหรือฉุดให้ธุรกิจเข้าสู่ภาวะเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น
อาจจะถึงเวลาสำคัญที่ผู้บริหารซึ่งเป็นผู้นำองค์กรวันนี้ต้องถามตัวเองกันแล้วว่าเราเข้าใจภาวะธุรกิจวันนี้ดีแค่ไหน เรารู้จักโลกดิจิทัลนี้หรือไม่ องค์กรและทีมงานของเราพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนี้หรือเปล่า โครงสร้างและรูปแบบธุรกิจที่เราทำอยู่จะไปรอดต่อไปได้จริงหรือ
เพราะถ้าไม่ถามกันแต่วันนี้ จะรอให้มาถึงวันที่สายเกินไปก็คงจะไม่ดีแน่ๆ ล่ะครับ
Comments