พัฒนาอะไรให้พนักงานเราพร้อมกับดิจิทัล? (ที่ไม่ใช่การตลาดดิจิทัล)
หลังจากพ้นช่วง COVID-19 มานั้น หลายๆ องค์กรก็เริ่มกลับมาทำการฝึกอบรมพนักงานซึ่งผมเองก็ได้ไปบรรยายกับหลายองค์กร หนึ่งในหัวข้อที่ฝ่ายพัฒนาบุคคลต่างๆ มักจะขอมาก็คือ “การตลาดดิจิทัล” โดยบอกว่าเป็นการอัพเดทในทีมงานของตัวเองรู้ว่าโลกไปถึงไหนแล้ว เทรนด์ตอนนี้เป็นอย่างไร
แน่นอว่าถ้าจากบรีฟคร่าวๆ แล้วมันก็คงไม่พ้นกับการอัพเดทว่าตอนนี้ Facebook เป็นอย่างไร การใช้งาน YouTube เป็นแบบไหน เครื่องมือการตลาดเหล่านี้ทำงานอย่างไร ซึ่งพอเอาเข้าจริงแล้วก็มักจะพบว่าพนักงานส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ทำงานสายดิจิทัลก็ไม่ได้จะสนใจอะไรสักเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะตัวเองไม่ได้ไปข้องเกี่ยวกับเครื่องมือเหล่านี้ และก็ยังมองเห็นจุดเชื่อมโยงว่าจะเกี่ยวกับงานของตัวเองสักเท่าไร
“โอเค ผมรู้ว่า Facebook มันดี แต่ผมไม่ได้ทำงานแผนกดิจิทัล แล้วมันยังไงต่อล่ะ?” นั่นเป็นสิ่งที่เคยมีคนให้ Feedback กับผมเหมือนกันตอนเล่าเรื่องการตลาดดิจิทัล
คำถามน่าคิดคือถ้าเป็นพนักงานสายงานการตลาดดิจิทัลนั้น แน่นอนว่าเราก็คงพูดเรื่องเครื่องมือการตลาด เทคนิค การทำ Optimization อะไรก็ว่ากันไป แต่ถ้ากับนักการตลาดทั่วไป หรือคนทำงานอื่นๆ ที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการตลาดดิจิทัลโดยแล้ว พวกเขาควรจะเรียนรู้อะไรกันล่ะ? การตลาดดิจิทัลคือเรื่องที่เขาควรจะรู้จริงๆ หรือเปล่า?
นั่นกลับมาสู่สิ่งที่ผมมักแลกเปลี่ยนบ่อยๆ กับผู้เข้าอบรมว่าเราไม่ได้กำลังจะพูดถึงการตลาดดิจิทัลหรอก แต่เรากำลังพูดว่าธุรกิจจะเป็นอย่างไรในยุคดิจิทัล การตลาดของธุรกิจจะต้องปรับตัวอย่างไร
และผมมักจะปิดช่วงเกริ่นนำไว้ว่า “นี่ไม่ใช่เรื่อง Facebook YouTube Instagram หรือ LINE อะไร แต่มันคือเรื่องว่าคุณจะมีงานทำต่อจากนี้ไหม? และถ้าคุณยังอยากมีงานทำอยู่นั้นคุณจะต้องมีอะไรติดตัวบ้างในวันข้างหน้าต่างหาก”
Digital Competency ไม่ใช่ Digital Marketing
เมื่อพูดถึงเรื่องทักษะของพนักงานในยุคดิจิทัลนั้น ผมไม่ค่อยจะพูดถึงเรื่องทักษะการลงโฆษณาหรือใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นสำคัญอย่างแรก แต่สิ่งที่ผมมักจะพูดถึงก่อนเลยก็คือเรื่องของ Mindset ของคนทำงานว่าอยู่ในแบบที่พร้อมจะทำงานในโลกยุคต่อจากนี้หรือเปล่า เช่นเรื่องของการเรียนรู้ เปิดกว้างทางความคิด ความพยายามที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะนั่นเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากของโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
สิ่งต่อมาที่ผมให้ความสำคัญก็คือเรื่องของ Skillset และ Knowledge ของคนทำงานว่ามีความรู้และความสามารถในการทำงานด้านธุรกิจหรือเปล่า ซึ่งนั่นรวมไปทั้ง Thinking Skill, Soft Skill, Hard Skill ต่างๆ ที่ล้วนจำเป็นในการทำงาน ก่อนจะค่อยไปสู่เรื่องของ Toolset ที่ว่ากันด้วยทักษะการใช้เครื่องมือต่างๆ อย่างอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีให้สามารถรีดประสิทธิภาพการทำงานหรือทำให้กลยุทธ์ต่างๆ เป็นจริงได้
จะเห็นได้ว่าเมื่อมองภาพแบบนี้แล้ว เราอาจจะไม่ได้มองว่า “ทักษะดิจิทัล” คือทักษะด้านการทำการตลาดดิจิทัลแต่อย่างใด เพราะเอาเข้าจริงแล้วนักการตลาดก็มีอย่างอื่นต้องทำมากกว่าการทำการตลาดดิจิทัล (ถ้าเรามองในแง่มุมการตลาด) โดยฝั่งที่เป็นเครื่องมือและเทคนิคต่างๆ นั้นก็จะรับผิดชอบโดยแผนกที่มีความชำนาญเฉพาะทางไป
นั่นก็เช่นเดียวกับคนทำงานตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่ต้องมาเรียนเรื่องการลงโฆษณาออนไลน์ หรือวิธีการทำ Content Post อะไร หากแต่เข้าใจกันเสียก่อนว่าธุรกิจที่ตัวเองทำงานให้อยู่นั้นจะเปลี่ยนไปอย่างไร ความคาดหวังที่ธุรกิจจะมีต่อพนักงานจะเปลี่ยนเป็นอย่างไร
“คุณเคยสงสัยไหมว่าตอนนี้บริษัทคาดหวังอะไรกับพนักงานระดับคุณ? แล้วคุณคิดว่าตอนนี้คุณตอบความคาดหวังนั้นได้ดีแค่ไหน? แล้วถ้าเวลาผ่านไปอีกสัก 5 ปีล่ะ คุณว่าคำตอบจะเหมือนเดิมไหม?”
นั่นเป็นคำถามที่ผมมักจะถามเวลาพูดถึงเรื่องนี้กับพนักงานทุกตำแหน่ง ทุกระดับ
ทักษะเพื่อการเอาตัวรอดในยุคดิจิทัล
คงต้องยอมรับว่าด้วยสถานการณ์ที่ปลี่ยนไปในปัจจุบันนั้น ธุรกิจต้องรับการผลกระทบต่างๆ มากมายเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น แม้ว่าการตลาดดิจิทัลจะถูกมองว่าสำคัญ แต่ผมเชื่อว่ามันไม่ใช่ยาวิเศษที่แก้ปัญหาทุกอย่างได้ หากแต่พนักงานทุกคน ทุกระดับในองค์กรต้องพยายามหา “ทักษะการเอาตัวรอด” มาเพิ่มให้กับตัวเอง ให้กับงานที่ตัวเองทำ ให้กับสายงานที่ตัวเองอยู่ เพื่อที่จะร้อยต่อกันนำพาให้ธุรกิจรอดไปได้ และนั่นเองที่อาจจะจำเป็นอย่างมาก ต้องรีบฝึกฝนและพัฒนาอย่างเร็วที่สุด
และนั่นก็คงเป็นงานใหญ่ของผู้บริหาร แผนกบุคคล และคนที่เกี่ยวข้องที่จะวิเคราะห์ดูว่าองค์กรของเราขาดแคลนทักษะอะไรกันบ้างแล้วรีบอุดรอยรั่วนั้นให้ทันนั่นเองล่ะครับ
コメント