พื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ คือการเลิกยึดติดกับสิ่งที่เรียนรู้มา
ย้อนกลับไปเมื่อสักปีที่แล้ว ผมไปอบรมเรื่อง Leadership กับที่ทำงานเก่า โดย Trainer คือ Kamal Sarma (ภายหลังผมกับ Kamal กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันบนโลกออนไลน์ไป) ซึ่งก่อนที่จะเริ่มเนื้อหาสำคัญๆ เกี่ยวกับ Leadership & Management นั้น Kamal ก็พูดถึงหัวใจสำคัญในเรื่องการพัฒนาตัวเองซึ่งถูกใจผมมาก จนผมก็เอาประเด็นนี้มาพูดต่อๆ เวลาไปบรรยายในคลาสต่างๆ
สิ่งที่ Kamal พูดในวันนั้นคือเรื่องของการ Unlearn ซึ่งคือการกล้าที่จะท้าทายสมมติฐานหรือชุดความคิดที่เราจดจำและเรียนรู้กันมา มันคือการกล้าที่จะคิดว่าสิ่งที่เรารู้อยู่ในวันนี้นั้นยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย คือการกล้าที่จะยอมรับว่าตัวเราเองยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ยังไม่รู้และไม่เข้าใจโดยสิ่งที่เรารู้อยู่ในทุกวันนี้นั้นยังไม่สามารถอธิบายได้หมด
จะว่าไปแล้ว เรื่องของการ Unlearn นี้ก็เป็นประเด็นที่มีการพูดในระบบการศึกษายุคใหม่อยู่เหมือนกัน อย่าง Alvin Toffler ซึ่งเป็นนักคิดนักเขียนชื่อดังก็มี Quote ในเรื่องนี้ว่าคนที่จะประสบปัญหาในยุคใหม่นี้คือคนที่ไม่สามารถ Learn / Unlearn / Relearn ได้
(ภาพจาก http://www.brainpickings.org )
ฟังดูแล้วอาจจะงงๆ อยู่บ้าง แต่ถ้าใครที่ข้องเกี่ยวกับพวกการตลาดดิจิทัลเองน่าจะพอเข้าใจประเด็นนี้ได้อยู่พอสมควร ทั้งนี้เพราะการตลาดในปัจจุบันเองมีการพลิกโฉมและวิวัฒน์ตัวเองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากสภาพสังคมต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมากจากเทคโนโลยีดิจิทัล เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว นักการตลาดที่ยังยึดติดกับชุดความคิดแบบเดิมๆ อยู่นั้นก็จะเริ่มพบว่าตัวเองกำลังตกที่นั่งลำบาก ธุรกิจที่เคยทำงานได้ผลดีก็เริ่มติดขัดหรือประสบปัญหา เทคนิคการตลาดที่เคยใช้ได้ก็เริ่มไม่ได้ผล ฯลฯ และถ้านักการตลาด (หรือเจ้าของธุรกิจ) ยังไม่ยอมเรียนรู้และปรับชุดความคิดของตัวเอง พวกเขาก็จะประสบปัญหาอย่างมากในอนาคต
นั่นเป็นแค่ตัวอย่างง่ายๆ ที่ผมมักยกขึ้นมา แต่ในชีวิตจริงนั้น การ Unlearn เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะตระหนักคิดอยู่เสมอ นั่นคือการไม่ยึดติดกับชุดความคิดหรือความรู้ที่เรามีอยู่ แต่หมั่นที่จะพัฒนาและท้าทายมันขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อหาจุดที่ความรู้นั้นจะไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ดีขึ้น หรืออุดรอยรั่วบางอย่างที่เรายังตอบไม่ได้
สำหรับผมแล้ว เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้คนที่คิดโดยมีทัศนคติแบบนี้นั้นจะเจริญงอกงามทางด้านความรู้โดยไม่มีวันสิ้นสุด ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้ไม่เคยมีขีดจำกัด แม้ว่าวันนี้จะเข้าใจดีแล้ว วันพรุ่งนี้เราก็สามารถจะลับความเข้าใจนั้นให้คมกริบกว่าเดิม ได้ลึกซึ้งกว่าเดิม วิเคราะห์เคสต่างๆ ได้มากไปกว่าเดิม
ทุกวันนี้เอง แม้ว่าผมจะมีชุดความคิดและทฤษฏีส่วนตัวในหลายๆ อย่าง แต่ผมก็มักจะลองเอาความคิดเหล่านั้นไปท้าทายกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อดูว่าเรามองเรื่องต่าๆ ได้ขาดแค่ไหน แม้ว่ามันจะไม่ใช่งานของเราแต่ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นเราจะทำอย่างไร ผลจะเป็นอย่างไร
นั่นเช่นเดียวกับการที่ผมเองก็ยังต้องหาความรู้และมุมมองใหม่ๆ มาเติมให้กับชุดความรู้ของตัวเองอยู่เรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน และเมื่อไรที่เรามีข้อมูลใหม่ๆ หรือมิติที่เพิ่มขึ้นมา ผมก็พร้อมที่จะถอดองค์ความรู้เดิมออกมาปัดฝุ่น แก้ไข และค่อยจดจำมันอีกที
ในทุกวันนี้ เราอยู่ในยุคที่เรามีข้อมูลข่าวสารมากมายพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้เราเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องปรกติที่เราจะรู้สึกว่าเรา “รู้มาก” กว่ายุคไหนๆ ที่ผ่านมา (และมันเลยไม่แปลกที่คนยุคใหม่หลายๆ คนมักคิดว่าตัวเองรู้เยอะ เก่ง ฯลฯ จนกลายเป็นปัญหาปวดหัวในหลายๆ ที่ทำงาน) แต่นั่นก็คือสถานการณ์ที่ทำให้เรากลายเป็นน้ำที่กำลังจะเต็มแก้วไปโดยไม่รู้ตัว
ซึ่งมันคงจะดีเสียกว่า ที่เราจะพยายามวางตัวเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้วอยู่เสมอ หรือบางทีคุณอาจจะเลือกเทน้ำเก่าทิ้งเสียบ้างหากน้ำนั้นขุ่น หรือไม่สะอาดใสเมื่อเวลาผ่านไป แล้วเติมน้ำใหม่ที่มีคุณค่ามากกว่าเดิมลงไป
และถ้าเป็นแบบนั้นได้ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถพัฒนาตัวเราไปได้อีกไกลโขเลยทีเดียวล่ะครับ
ภาพ Feature ซื้อและดาว์นโหลดจาก Bigstock
Comments