top of page

ภัยเงียบของสื่อใหม่ในมือคนรุ่นใหม่

วันก่อนไปให้สัมภาษณ์ที่ Mango TV เรื่องของการใช้สื่่อ Social Media และได้มีโอกาสบอกถึงความกังวลใจส่วนตัวที่รู้สึกมาตลอดหลายๆ เดือนนับตั้งแต่การบูมไม่หยุดของโลกออนไลน์ ทั้ง Twitter Facebook และ Blog ต่างๆ

ในทุกๆ วันนี้เราจะเห็นคนมากมายได้มีโอกาสใช้เครื่องมือออนไลน์เหล่านี้ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากคนธรรมดาให้กลายเป็น “สื่อ” ในการเผยแพร่ข้อมูล ความคิด ไอเดียต่างๆ โดยมีผู้ชมบนโลกออนไลน์จำนวนมากสามารถแวะมาเยี่ยมชมและแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนได้ บ้างก็กดไลค์ กดแชร์ให้เป็นกำลังใจหรือเครื่องวัดระดับความฮอตของแต่ละคอนเทนต์กันไป

แต่สิ่งที่ผมค้างคาใจมาตลอดคือคนธรรมดาที่ได้กลายเป็นสื่อวันนี้นั้น รู้ตัวเองหรือไม่ว่า “สื่อ” ควรทำหน้าที่อะไร และมีบทบาทอะไรของสังคม?

เราคงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าการเปิดพื้นที่ออนไลน์แบบอิสระนั้น ทำให้หลายๆ คนมีโอกาสได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ มากมาย ได้มีช่องทางเผยแพร่สิ่งที่สื่อทั่วไปอาจจะไม่สนใจหรือไม่มีเวลาเพียงพอที่จะนำเสนอได้ ซึ่งถ้ามองอย่างนั้นก็คงเป็นเรื่องที่ดีอยู่ไม่น้อย

แต่ในทางกลับกัน เราก็ต้องพบว่ามีการใช้สื่อในทางที่ไม่ดีไปพร้อมๆ กัน การเปิดเพจที่ใช้ข้อความหยาบโลน การแสดงความคิดเห็นแบบสุดขั้วโดยใช้คำอ้างว่า “เสรีภาพ” ปัญหาการก๊อปปี้และปั้มเครือข่ายเพื่อสร้างผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งทางตรงและทรงอ้อม รวมไปถึงการใช้พื้นที่เสรีในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา

เคยมีคนหนึ่งบอกผมว่าการเป็นสื่อสาธารณะแบบนี้นั้น มีข้อดีคือผู้บริโภคมีทางเลือก ถ้าคนที่ติดตามคิดว่าสิ่งที่เขาพูดไม่ดีนั้น พวกเขาก็สามารถเลิกติดตามได้ หรือมองข้ามไปก็ยังได้

ฟังอาจจะดูง่ายๆ แต่ผิดติดใจอยู่ไม่น้อย

ทำไมเราถึงพลักภาระการตัดสินใจเลือกรับสื่อไปที่สังคม? เราทำยังกับว่าผู้สร้างเนื้อหาต่างๆ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก เพราะเป็นภาระและทางเลือกของผู้คนในสังคมเองที่จะเลือกมาติดตามเอง

อารมณ์ทำนองว่าทำหนังไม่ดีมา เดี๋ยวคนก็เลิกดูไปเอง

นั่นคือคำตอบที่ถูกต้องหรือ? ถ้าข้อมูลและคอนเทนต์ที่ถูกนำเสนอในสื่อที่อ้างว่า “เสรี” นี้มันไม่ถูกต้อง ผิดศีลธรรม หรือไม่เหมาะสม มันยังมีความชอบธรรมที่จะถูกนำมาเสนอในสาธารณะได้อีกหรือ?

ผมเคยเขียนบทความไว้ใน Barkandbite เมื่อนานมาแล้วเกี่ยวกับความค้างคาใจในเรื่องนี้ เรื่องของความรับผิดชอบคนที่ใช้สื่อสาธารณะที่อ้างถึงเสรีภาพโดยไร้ความรับผิดชอบ

ผมเชื่อเสมอว่าการอ้างเสรีภาพโดยปฏิเสธความรับผิดชอบ ถือเป็นการกระทำที่เลวร้ายมากที่สุดอย่างหนึ่ง และคนที่กล่าวอ้างแบบนั้น เป็นคนที่เขลาและไม่เข้าใจถึงคำว่า “เสรีภาพ” เลยแม้แต่น้อย

ย้อนกลับมาในวันนี้ ผมยังอดสงสัยไม่ได้ว่าบรรดาผู้คนต่างๆ ที่อ้างตัวเองว่าเป็น “สื่อสมัยใหม่” นั้น ได้รับความรู้และความเข้าใจของการรับบทบาท “สื่อ” มากน้อยแค่ไหน พวกเขารู้ไหมว่าต้องรับผิดชอบอะไรและมีอิทธิพลแค่ไหนกับสังคม

หรือสุดท้ายจะกลายเป็นเพียงว่า “สื่อ” เหล่านี้ ก็ถูกสร้างเพื่อหาผลประโยชน์โดยไม่ได้คำนึงถึงการทำหน้าที่ “สื่อ” แบบที่พวกเขากล่าวอ้างกัน

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page