มีคนเถียงแบบมี Passion อาจจะดีเสียกว่าทุกคนเออออกันไปหมด
วันก่อนหลังจากเลิกประชุมกับเอเยนซี่ ผมนั่งคุยกับพี่คนหนึ่งที่เป็นเอเยนซี่ถึงการประชุมแล้วมีคำพูดถึงออกมาซึ่งผมว่าเป็นคำพูดที่น่าคิดมากๆ นั่นคือ
“คนที่เถียง คือคนที่มี Passion”
มันอาจจะฟังดูยังไงๆ อยู่แต่ถ้าเราลองถอยมาแล้วมองด้วยใจเป็นกลาง ผมพบว่าประโยคนี้มีความจริงอยู่มาก
จริงอยู่ครับ ว่าใครๆ ก็คงไม่อยากให้มีการถกเถียงเกิดขึ้น เพราะมันมักจะถูกมองว่าเป็นการขัดแย้งและทำให้การทำงานล่าช้า แทนที่ทุกคนจะเข้ามาเห็นตรงกันแล้วเดินไปข้างหน้า บ้างก็กลัวว่าการถกเถียงจะนำไปสู่ความรู้สึกไม่ดีต่อกัน (ซึ่งมักเป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนมากไม่พึงประสงค์)
เราต้องยอมรับก่อนว่าการเถียงมีหลายแบบ ทั้งแบบที่ดีและไม่ดี การเถียงที่ไม่ดีเช่นการเถียงโดยไม่อิงเหตุผล ไม่มองภาพรวม และเอาความคิดตัวเองเป็นที่ตั้ง การเถียงแบบนี้คงไม่ใช่เรื่องที่น่าพึงประสงค์เท่าไรเพราะมีแต่จะทำให้คนทำงานปวดหัว ต้องมานั่งอธิบายและเผลอๆ อาจจะทำให้รู้สึกเหนื่อยหน่ายจนไม่อยากจะทำต่อ สถานการณ์ที่มักเกิดขึ้นในกรณีนี้คือค้านหัวชนฝา ไม่สนอะไรทั้งสิ้น แน่นอนว่าการเถียงแบบนี้คงไม่ใช่เรื่องดีเลยแม้แต่น้อย
แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเถียงโดยการพยายามมองให้เห็นปัญหาและพยายามชี้ให้คนทำงานเห็นเพื่อพยายามอุดช่องโหว่น่าจะเป็นการเถียงที่ควรจะมี การเถียงแบบมี Passion คือการเถียงจากคนที่รู้สึกจริงจังและอินกับงานตรงหน้าและพร้อมจะพยายามหาวิธีการที่ดีกว่ามานำเสนอ หรือไม่ก็พยายามจะแก้ไขปัญหาให้ดีกว่าที่กำลังจะทำ
การเถียงแบบที่ว่านี่ จึงไม่ใช่การเถียงเพื่อทำลาย หากแต่เป็นการเถียงเพื่อก่อประโยชน์ด้วยซ้ำ สำหรับผมแล้ว หลายๆ ประชุมที่มีแต่คนเห็นด้วยนั้น ผมกลับรู้สึกว่ามัน “ดีจนผิดปรกติ” และส่วนมากมักจะไปเจอปัญหาในภายหลัง ในขณะที่หากมีประชุมแล้วมีคนแย้ง หรือพยายามหาข้อมาถกเถียงกับหลายๆ ประเด็นที่ยังค้างคานั้น แม้ว่าจะเสียเวลาเพิ่มอีกสักหน่อยในการชี้แจงหรือแลกเปลี่ยน แต่กลับกลายเป็นว่าประเด็นที่เถียงนั้นนำไปสู่มุมมองที่เราเพิ่มขึ้น ได้คิดงานให้กลมมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว ผมเชื่อว่าคนที่เถียงด้วย Passion นี้ไม่ได้เถียงโดยไร้เหตุผล หากแต่พวกเขารู้สึกผิดปรกติอะไรบางอย่างและพยายามนำขึ้นมาพูดคุย และในขณะเดียวกัน พวกเขาก็พร้อมจะรับฟังเหตุผลของคนอื่นด้วย
จากประสบการณ์ของผมนั้น การเถียงในห้องประชุมหรือถกกันนอกรอบมักจะนำไปสู่ความคิดใหม่ๆ หรือไอเดียใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ (ถ้าเราเปิดใจรับฟังและรับมุมมองที่ต่างไปจากของเรา) และโดยส่วนตัวผมกลับชื่นชอบมากกว่าการประชุมที่เข้ามา บอกว่าจะทำอะไร แล้วทุกคนก็เออออตามกันไปโดยไม่โต้แย้งหรือแสดงความคิดเห็น (ซึ่งนั่นมักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องประชุม)
ในวิธีการประชุมแบบ Six Thinking Hat นั้น ยังมีโหมดของการประชุมแบบ Black Hat หรือการคิดแบบอคติ มองแต่ข้อเสีย และจุดบอด ทั้งนี้เพื่อให้คนทำงานลองอยู่ในโหมดจับผิดตัวเอง การหยิบข้อเสียมากองบนโต๊ะและลดความ “โลกสวย” ของตัวเองออกไป ซึ่งหลายๆ ครั้งมันช่วยฉุดให้เรากลับมาคิดให้ถี่ถ้วนหรือมองเห็นช่องว่างที่หากเราอุดไว้ก็จะทำให้โปรเจคดีขึ้นไปด้วย
การเถียงด้วย Passion สำหรับผม จึงเป็นเรื่องที่ควรจะมี และเราควรสนับสนุนให้คนที่มีลักษณะแบบนี้ได้มีสิทธิ์มีเสียง
ลองคิดกลับดูว่าถ้าคนเหล่านี้หยุดเถียงนั้น เป็นเพราะเขาเห็นด้วยจริงๆ หรือเปล่า หรือเพราะเขา “ถอดใจ” และไม่อยากหยิบเอาสิ่งที่เขาเห็นมาพูดอีกแล้ว
ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็แสดงว่าการประชุมของเรากำลังทำให้ Passion ของคนๆ หนึ่งหายไป และนั่นก็นำไปสู่ความเสี่ยงที่เราจะสูญเสียบุคลากรดีๆ ของเราไปนั่นเอง
ก็ลองเอาไปคิดกันดูนะครับ ว่าที่ออฟฟิศของเราควรจะทำอย่างไรกันต่อไปดี ^^
Comments