รวม 5 เคสชวนขบขัน (เคล้าน้ำตา) ของ Digital Marketing ในปัจจุบัน
อย่างที่ผมเคยเล่าไว้ก่อนหน้านี้บ้างแล้วว่าในการทำงาน Digital Marketing นั้น มีหลายครั้งที่เรามักจะเจอ The Ugly Truth ที่ฟังแล้วอาจจะหัวเราะ ขบขัน ปนน้ำตาของคนทำงานจริงอยู่บ่อยๆ เพราะในทุกวันนี้ที่ทุกคนพยายามบอกว่ากำลังพยายามให้ความสำคัญกับ Digital Marketing นั้น แท้จริงอาจจะมีความเข้าใจผิดๆ หรือทำอะไรประหลาดๆ อยู่พอสมควร บล็อกวันนี้เลยขอรวบรวมตัวอย่างเคสประหลาดๆ (แต่ดันเกิดขึ้นจริง) มาเล่าสู่กันฟังแล้วกัน
Case 1:
คำกล่าว: เราจริงจังกับการทำการตลาดดิจิทัล
ความจริงที่เกิดขึ้น: มีคนทำงานอยู่ 1-2 คนเท่านั้น
เชื่อว่าทุกวันนี้หลายๆ แบรนด์มักบอกกันว่าได้ทำการตลาดดิจิทัลแบบจริงจังแล้วตามเทรนด์การตลาดในปัจจุบัน มีทั้งการเปิด Website ทำ Facebook และอื่นๆ อีกมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม พอเอาเข้าจริงๆ แล้ว หลายบริษัทกลับมีโควต้าบุคลากรที่จะมาทำงานตรงนี้น้อยแบบน่าใจหาย บางบริษัทใช้คนเก่ามาทำงานแบบไม่ได้มีความรู้ บ้างก็ใช้วิธีรับคนเพิ่มแค่ 1-2 คนแล้วกะว่าให้ทำงานแบบครบวงจรประเภทคนเดียวทำได้ทุกอย่าง (เหมือนกับที่เรามักอ่าน Qualification ประเภททำเป็นทั้ง SEO / SEM / Adwords / YouTube / Facebook และอื่นๆ อีกมากมายนั่นแหละครับ)
ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าคนทำการตลาดดิจิทัลจริงๆ จะพบว่าสเกลงานของการตลาดดิจิทัลนั้นไม่ใช่เล็กๆ เลยแถมอาจจะใหญ่พอๆ กับงานการตลาดปรกติเลยด้วยซ้ำ ซึ่งพอเป็นแบบนี้แล้วมันจึงจำเป็นต้องใช้คนที่มีความรู้ความชำนาญหลายคนเหมือนกัน ยิ่งถ้าไม่ใช่เอเยนซี่ดูแลและคิดจะบริหารกันเองแล้ว ยิ่งต้องใช้คนมากเป็นพิเศษเลยด้วยซ้ำ
ฉะนั้น ลองถามกันก่อนนะครับว่า ทุกวันนี้คุณ “จริงจัง” แบบที่คุณได้บอกไว้จริงๆ หรือเปล่า?
Case 2:
คำกล่าว: Content Marketing คือหัวใจในทุกวันนี้ เราต้องเน้นการสร้าง Content
ความจริงที่เกิดขึ้น: งบประมาณการทำคอนเทนต์เป็นส่วนที่ได้รับงบน้อยมาก
ทุกวันนี้คนพยายามบอกกันตลอดว่ามันเป็นยุคของ Content Marketing เราต้องจริงจังกับการสร้างเนื้อหาดีๆ มาเผยแพร่บนช่องทางของตัวเอง อย่างไรก็ตาม งบประมาณในการผลิตคอนเทนต์กลับมักถูกบีบและลดน้อยลงอย่างมาก (แต่ความต้องการกลับไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย) ทั้งที่จริงๆ การผลิตคอนเทนต์นั้นก็ใช้งบประมาณไม่ได้ต่างจากการผลิตโฆษณาเลย การจะผลิตคอนเทนต์ให้ดีต้องอาศัยคนทำงานที่มีความรู้ ทั้งเรื่องการหาข้อมูล การทำงานกราฟฟิค หรือแม้แต่ฝั่งครีเอทีฟเอง และยิ่งการทำคอนเทนต์ใน Social Media ที่ต้องมีความต่อเนื่องด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องใช้ปริมาณคอนเทนต์ปริมาณมากซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณมากตามไปด้วย
ฉะนั้น ลองถามกัน (อีกแล้ว) ว่าคุณเข้าใจและจริงจังกับการผลิตคอนเทนต์จริงๆ หรือเปล่า?
Case 3:
คำกล่าว: เราสนใจอยากทำ Digital Marketing
ความจริงที่เกิดขึ้น: เราเข้าใจว่า Digital Marketing “ถูก”
ผมไม่แน่ใจว่ามีใครไปสร้างความเชื่อแบบนี้กันว่า Digital Marketing นั้นใช้งบประมาณไม่เยอะก็สำเร็จได้ อันที่จริงแล้วก็ใช่ว่ามันจะไม่จริงเสียทีเดียวเพราะการตลาดดิจิทัลนั้นสามารถเลือกปรับและใช้งบประมาณต่างๆ ได้สะดวกขึ้นกว่าเดิม เช่นเงินในการซื้อสื่อสามารถปรับจำนวนขั้นต่ำได้มากกว่าการซื้อสื่อสมัยก่อน นั่นทำให้ธุรกิจแบบ SME เองก็สามารถทำการตลาดดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณตัวเองได้
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการทำการตลาดิจิทัลนั้น “ถูก” เสียเมื่อไร เพราะทุกๆ อย่างเองก็มีค่าใช้จ่ายไม่ต่างกัน เช่นการเขียนโปรแกรมสำหรับทำแอพพลิเคชั่น การทำงานกราฟฟิค การทำคอนเทนต์ การวางแผนแคมเปญต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ล้วนต้องใช้คนที่มีความชำนาญ ต้องมีงบประมาณรองรับ ยิ่งถ้าคุณต้องการงานระดับคุณภาพ หรือมีสเกลงานขนาดใหญ่แล้ว งบประมาณก็ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ฉะนั้น อย่าคิดว่าทำการตลาดดิจิทัลแล้วจะสามารถได้งานระดับ 1 ล้านด้วยงบประมาณ 1 หมื่นกันเชียวนะครับ
Case 4:
คำกล่าว: เราอยากทำ Video ที่มีคนดูเยอะๆ แชร์เยอะๆ
ความจริงที่เกิดขึ้น: เราอยากใส่ข้อมูลสินค้าเราไปเยอะๆ ขายของเยอะๆ
อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าขันอีกเหมือนกัน (เวลามาเล่ากันทีหลัง) เพราะหลายธุรกิจคิดว่าทำ Video แล้วอัพขึ้น YouTube แล้วจะมีคนแชร์เยอะๆ ด้วยเครือข่ายของ Social Network ในปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงแล้วเราก็ย่อมรู้ดีว่ามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น การจะสร้างคอนเทนต์ประเภท Shareable Content นั้นต้องเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เรื่องของการพยายามขายของอย่างที่หลายๆ คนเคยทำกันมาก่อนแบบในโฆษณาโทรทัศน์ (ลองถามกันดูง่ายๆ ว่าโฆษณาที่คนพูดถึงและบอกต่อนั้นคิดเป็นกี่ % ของโฆษณาที่คุณเห็นกันในโทรทัศน์)
โจทย์หนึ่งที่คนทำคอนเทนต์ ไม่ใช่แค่เฉพาะกับวีดีโอมักจะเจอคือที่คนทำแบรนด์มักพยายามยัดข้อมูลสินค้าและทำให้คอนเทนต์นั้นๆ “เนียนขาย” สินค้าให้ได้ (บางทีก็ไม่เนียนเลยด้วยซ้ำ) และพอคอนเทนต์นั้นไม่ฮิต ไม่ถูกแชร์ ก็มักจะโทษไปว่าคนทำคอนเทนต์ไม่เก่ง คนทำคอนเทนต์ไม่ดี ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปวดใจเรียกน้ำตาของคนทำงานอยู่เหมือนกัน
ลองถามตัวเองกันนะครับ ว่าคุณเข้าใจเรื่อง Shareable Content ดีแค่ไหนกัน
Case 5:
คำกล่าว: Digital Marketing ไม่ใช่เรื่องยาก
ความจริงที่เกิดขึ้น: ใครๆ ก็ทำ Digital Marketing ได้เพราะใครๆ ก็เล่น Facebook กัน
อันนี้จะฟังดูตลกก็ใช่อยู่ แต่หลายๆ คนคิดว่าตัวเองเล่น Facebook เป็น อ่านเว็บไซต์ต่างๆ ก็สามารถเป็นนักการตลาดดิจิทัลได้แล้ว บางคนถึงขั้นไปสร้างชุดความรู้แล้วมาสอนคนทำงานจริงๆ เลยก็มีประเภทแบบว่าไลค์เยอะแปลว่าดี แฟนเยอะแปลว่าเจ๋ง อะไรแบบนั้น
ส่วนตัวผมแล้ว Digital Marketing ไม่ใช่เรื่องยาก (มาก) อย่างที่คำกล่าวนั้นบอกจริง แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายชนิดที่ใครๆ ก็ทำได้ แค่เรื่องการทำคอนเทนต์เองนั้น ก็ต้องใช้คนที่มีความชำนาญเฉพาะทางซึ่งมีความเข้าใจธรรมชาติของการเสพคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ เช่นเดียวกับคนวางแผนสื่อซึ่งก็ต้องรู้เรื่องโครงสร้างช่องทางโฆษณาต่างๆ ที่มีมากมาย มันไม่ใช่แค่ว่า “เล่นเป็น” ก็จะบอกว่าทำการตลาดได้เสียเมื่อไร โดย “เล่นเป็น” อาจจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้คุณเข้าใจหลักเบสิคของช่องทางนั้นๆ ได้ แต่ทักษะและความรู้เรื่องการตลาดดิจิทัลนั้นต้องการอะไรมากกว่าการที่คุณแค่เล่น Facebook ทุกๆ วัน หรือนั่งเปิดเว็บบอร์ดอ่านระหว่างนั่งทำงาน
ลองถามตัวเองก่อนนะครับว่าทุกวันนี้คุณรู้จักการตลาดดิจิทัลจริงๆ หรือเปล่า? รู้ลึกมันแค่ไหน? หรือแค่คิดกันไปเอง
ภาพประกอบถูกซื้อและดาว์นโหลดอย่างถูกต้องจาก shutterstock
Comments