รู้จัก Change Formula – สมการสำคัญของ Digital Transformation
ทุกวันนี้ผมได้รับเชิญไปบรรยายให้กับหลายองค์กรเนื่องจากเริ่มมีการตื่นตัวและพูดถึงเรื่อง Digital Marketing กันมากขึ้นเรื่อยๆ หลายที่ก็เริ่มจะจริงจังกับ “การเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นในวงการการตลาด
แต่แน่นอนที่ผมก็ย้ำเสมอว่าการเปลี่ยนแปลงของตลาดนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการทำงานขององค์กร การทำ Digital Transformation นั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายเพราะมันคือการที่องค์กรจะต้องทำอะไรที่ต่างไปจากเดิมนั้นจะต้องเจอปัญหามากมายและหลายๆ องค์กรก็จะพบว่าแม้จะพูดกันหนักๆ ว่า “เราต้องเปลี่ยนแปลง” แต่สุดท้ายจะมีไม่กี่องค์กรเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงได้จริง
คำถามคือทำไมมันถึงเกิดเช่นนั้น?
ส่วนหนึ่งเราก็จะพบว่าการเปลี่ยนนั้นเป็นเรื่องที่หลายๆ คนไม่ชอบอยู่แล้วเพราะมันย่อมมาพร้อมกับอะไรหลายๆ อย่างที่ตัวเองไม่ได้คุ้นเคย มีความเสี่ยง และอาจจะกลายเป็นอันตรายกับตัวเองได้และนั่นทำให้หลายๆ คนมีปัญหามากในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
พอเป็นอย่างนี้แล้ว หลายๆ คนก็เริ่มหันมาดูว่าถ้าจะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้นั้นต้องทำอย่างไรบ้าง
หนึ่งใน “สมการ” ที่ผมใช้อ้างอิงบ่อยๆ คือสมการการเปลี่ยนแปลง (Change Formula) ของ Kathie Dannemiller ซึ่งเธออธิบายไว้ในรูปด้านล่างนี้ครับ
จากสมการข้างต้นนั้น จะเห็นว่าตัวแปรสำคัญๆ ของการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมี 4 ปัจจัยด้วยกัน
(D) การไม่พอใจกับสถานะปัจจุบัน
(V) วิสัยทัศน์ในการมองเห็นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
(C) การมีแผนดำเนินการที่ชัดเจน
(R) แรงต่อต้าน
ถ้าดูแล้ว สามตัวแปรแรกคือ “แรงหนุน” เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ตัวแปรสุดท้ายนั้นคือแรงต้าน และก็จะเห็นชัดไปอีกว่าต่อให้แรงหนุนเยอะแค่ไหน แต่ถ้าแรงต้านเยอะกว่าก็จะไม่พอทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ในองค์กร มันก็จำเป็นที่ผู้บริหารและคนที่เกี่ยวข้องจะต้องทำให้เกิดตัวแปรที่เป็นแรงหนุนทั้ง D V และ C ให้เกิดขึ้น ยิ่งถ้าองค์กรมีกลุ่มคนที่เป็นแรงต้านเยอะแล้วก็จะยิ่งต้องสร้างมากขึ้นทวีคูณเพื่อถ่วงให้แรงหนุนยังมากกว่าให้ได้ (และหลายๆ คนก็จะอิจฉาองค์กรที่ R น้อยเพราะแทบไม่ต้องทำอะไรมากนั่นแหละครับ)
บล็อกวันนี้สั้นๆ แต่หยิบหนึ่งในสมการที่ผมว่าอธิบายสถานการณ์ของหลายๆ องค์กรได้ชัดมากมาเล่าสู่กันฟัง อ่านดูแล้วก็ลองเอากลับไปใช้กันดูนะฮะว่าตอนนี้องค์กรเราอยู่ตรงไหน ถ้าใครจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าจะต้องทำอะไรต่อนะครับ
Comments