รู้ว่าเมื่อไรควรเป็นผู้ตาม – คุณสมบัติสำคัญของผู้นำที่ดี
สิ่งที่เรามักจะเห็นเมื่อคนรับบทเป็นผู้นำนั้น ก็คือต้องนำไปตลอด ตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ฟันธง รวมถึงบริหารสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่ตัวเองวางเป้าเอาไว้
แต่หนึ่งในสิ่งที่ผู้นำควรจะทำให้เป็นเหมือนกันคือบางจังหวะก็ต้องลดตัวเองลงมาเป็นผู้ตามด้วยเหมือนกัน
ที่กล่าวเช่นนี้เพราะไม่ใช่ว่าผู้นำจะต้องนำอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากหลายสถานการณ์นั้นก็ควรจะให้ผู้ตามลุกขึ้นมานำแทน เช่นบางสถานการณ์นั้นผู้ตามมีประสบการณ์มากกว่า มีความรู้มากกว่า มีความชำนาญมากกว่า ก็ต้องเปลี่ยนบทบาทให้ผู้ตามขึ้นมาเป็นผู้นำ ส่วนตัวเองก็ต้องปรับโหมดไปอยู่ในบทบาทผู้ตาม
หรืออย่างน้อย ๆ แล้ว ก็ควรจะ “เขยิบไปด้านข้าง” เพื่อให้คนที่รู้ขึ้นมาเป็นผู้นำแทนเสีย
หนึ่งในประสบการณ์ส่วนตัวของผมนั้น มีวันหนึ่งที่โดนผู้บริหารระดับสูง (มาก) เรียกเข้าพูดคุยเป็นการส่วนตัว ตอนแรกก็นึกว่าจะมีเรื่องซีเรียสอะไรไหม ก่อนที่ผู้บริหารจะบอกว่าเรื่องที่ผมดูแลอยู่นั้น เป็นเรื่องที่เขาไม่มีความชำนาญ แต่เขาค่อนข้างเชื่อใจในตัวผมว่าผมทำงานโดยไม่มีนอกมีใน และนั่นทำให้เขาจะไม่พยายามเข้ามาบริหารจัดการหรือ “ล้วงลูก” ให้เสียกระบวน แถมในทางกลับกันคือหากผมต้องการอะไร เขาก็ยินดีที่จะช่วยสนับสนุน (Sponsor) ด้วย
นี่อาจจะเป็นหนึ่งในความประทับใจและผมรู้สึกว่าเป็นการวางตัวของผู้นำที่ดีอยู่ไม่น้อย เพราะหากคิดกลับกันว่าถ้าผู้บริหารเลือกจะ “ทำเป็นรู้” หรือ “ล้วงลูก” กับงานที่ตัวก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไร (ซึ่งเรามักเจอบ่อยกับผู้บริหารที่ไม่อยากยอมรับว่าตัวเองไม่รู้) หรือทำให้ทีมงานต้องเสียเวลาในการอธิบายจนทำให้งานที่ควรจะเร็วก็ต้องชักช้าไม่ทันการ
ด้วยเหตุนี้เอง เขาถึงมักพูดกันบ่อย ๆ ว่าผู้นำไม่ได้จำเป็นจะต้องรู้ทุกเรื่อง และที่สำคัญคือต้องรู้ด้วยว่าเมื่อไรที่จะปล่อยให้คนรู้เรื่องขึ้นมานำแทนที่ตัวเองนั่นแหละครับ
コメント