top of page

ลูกบ้าของการเป็น Leader – หัวใจของการสร้างองค์กรที่มองข้ามไม่ได้

ช่วงสองวันที่ผ่านมา ผมมาร่วมทริปกับทาง dtac ที่จัดให้กับสื่อมวลชน ซึ่งก็เป็นเหตุบังเอิญแบบจัดผลัดจับผลูที่จู่ๆ ผมก็ได้ไปนั่งคุยกับคุณ Jon Eddy Abdullah ซึ่งเป็น CEO ของ dtac แบบงงๆ ในการทานอาหารมื้อเที่ยงมื้อหนึ่ง

ว่ากันตามจริงแล้ว พอเรารู้ว่าต้องนั่งทานอาหารร่วมกับ “ผู้บริหารสูงสุด” แล้ว มันก็อดไม่ได้ที่หลายๆ คน (รวมทั้งผมเอง) มักจะคิดว่าต้องยำเกรง ต้องนอบน้อมประหนึ่งเหมือนที่เราต้องโค้งคำนับบรรดา “ท่านๆ” กันอยู่บ่อยๆ และจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมแล้ว ผู้บริหารหลายคนก็เข้าข่ายแบบนั้นที่ทำให้คนอื่นต้องรู้สึกเคารพปนกับกลัวผสมกันไป

แต่พอผมนั่งและแนะนำตัวกับคุณ Jon เท่านั้นแหละ ผมรู้สึกว่าภาพของ “ผู้บริหาร” ที่เราเคยนึกว่าเป็นผู้ชายใส่สูทมาดเข้มจริงจังแทบจะหายไปเลย เพราะคุณ Jon กลายเป็นผู้บริหารที่คุยสนุก จริงใจ กันเอง และดู “ไฮเปอร์” อยู่ตลอดเวลาโดยที่เขาแทบไม่ใส่ใจด้วยซ้ำว่าคนที่คุยกับเขานั้นไม่ได้เป็นคนเด่นดังอะไรหรือมาจากสื่อสำคัญๆ เท่าไรเลย การพูดคุยกันบนโต๊ะอาหารแบบใกล้ชิดจนแทบจะเป็นคุยกันสองคนในระยะเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงทำให้ผมรู้สึกชื่นชมคุณ Jon ในแบบที่มากกว่าผู้บริหารทั่วๆ ไป


photo 2

ที่ผมยกเรื่องนี้มาพูดเพราะมันทำให้ผมนึกกลับไปถึงเรื่องการเป็นผู้บริหารหรือการก้าวเข้าสู่บทบาทที่สูงขึ้นในหน้าที่การงาน บ่อยครั้งที่เรามักพบว่าพอคนเราตำแหน่งสูงขึ้นนั้น อำนาจทำให้หลายๆ คนกลายเป็นเหมือนคนที่ก้มลงมาหาคนอื่นไม่เป็น บ้างก็กลายเป็นพวกบ้าอำนาจ บ้างก็รู้สึกตัวเองสูงส่งแบบที่ต้องให้คนอื่นมาไหว้ มาโค้งต้อนรับ ถ้าว่ากันแบบธรรมะก็คือถือตำแหน่งตนเอามาเชิดชูตัวเองเสียจนลืมตัวไปเลยก็มี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากโดยเฉพาะกับวัฒนธรรมองค์กรที่เรามักเรียกว่า “โบราณ” ไม่ก็ “เจ้าขุนมูลนาย” ซึ่งก็คือประเภทยิ่งสูงยิ่งบ้าอำนาจ มองคนที่อยู่ใต้กว่าตนเป็น “ลูกน้อง” ที่คอย “รับใช้” ตัวเองเสียหมด

นอกจากนี้แล้ว หลายๆ คนเมื่อตำแหน่งสูงขึ้น ก็ยิ่งดูเหมือนว่าตัวเองจะเก่งกาจ สูงส่ง จนไม่ลดตัวมาทำอะไร “ต่ำๆ” กันเสีย ยิ่งพอเป็นแบบนี้เลยทำให้ตัวเองห่างจากคนข้างล่าง เสียงวิจารณ์ก็เลยยิ่งน้อยลงไป แทบจะไม่ได้รู้เลยว่าตัวเองทำอะไรดีไม่ดี

จึงไม่แปลกที่เรามักพบบรรดานายๆ หรือผู้บริหารหลายคนกลายเป็นที่นินทามากกว่าชื่นชมของบรรดาลูกน้องหรือพนักงานกัน

จะว่าไปแล้ว ความ “กลัวเกรง” ที่เกิดขึ้นจากตำแหน่งที่สูงกว่าก็เป็นช่องว่างที่มากโขจนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้นำดูห่างเหินกันอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามีเรื่องของมาดหรือการทำตัวสูงส่งยิ่งทำให้หนักไปกว่าเดิมอีก เมื่อความห่างเหินมากเช่นนี้ ก็เข้าสูตรองค์กรประเภทพนักงานมาทำงานงกๆ กันไปโดยไม่รู้สึกร่วมอะไรกับผู้บริหาร แถมอาจจะคิดเลยเถิดไปว่าเจ้านายไม่ได้รู้อะไรในงานที่ทำหรอกเพราะเอาแต่นั่งเก้าอี้เซ็นๆ ซะมากกว่า

สุดท้ายก็วนไปวนมา องค์กรก็ติดหล่ม ขับเคลื่อนไปต่อได้ลำบาก

เราลองกลับมาคิดกันว่าองค์กรแบบที่มักพูดว่า “มีชีวิตชีวา” นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้ใจจากคนทำงานด้วยกัน ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วย่อมหมายความว่าความเชื่อใจและสายสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยกันและกับผู้บริหารต้องแข็งแรงมาก ซึ่งการจะใช้ระบบบริหารแบบเดิมๆ ก็คงจะไม่เข้าทีเป็นแน่

“ลูกบ้า” ของผู้บริหารหรือผู้นำนี่เอง ที่เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงกันเลย

ลองคิดกันง่ายๆ ว่าถ้าเราไปเที่ยวกับคนที่ไว้มาด จะให้ทำอะไรก็กลัวเสียภาพลักษณ์ กลัวดูไม่ดี กลัวโน่นกลัวนี่ เลยเอาแต่นั่งขรึมอยู่ มันก็คงจะน่าเบื่อและไม่ครึกครื้นเอาเสียเลย ผิดกับถ้าเราไปกับคนที่ช่างพูดช่างคุย (แม้จะโม้ๆ อยู่บ้าง) กล้าลุกขึ้นเต้นสนุก กล้าลองโน่นลองนี่ เราก็จะรู้สึกคึกคักและอยากสนุกไปกับเขาด้วย

ในสถานการณ์คล้ายๆ กันอย่างตอนไปเทรนนิ่ง ถ้าต่างคนเอาแต่ไว้มาด ไม่กล้าแสดงความเห็นกัน การเทรนนิ่งก็กลายเป็นงานกร่อยๆ ที่มานั่งฟังเลคเชอร์แทนที่จะเป็นงานระดมสมองหรือเกิดการเรียนรู้แบบสนุกๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

องค์กรและบริษัทก็มีสภาพไม่ต่างกันหรอกครับ ลองถามกันง่ายๆ ว่าถ้าคุณต้องทำงานกับเจ้านายที่มาดขรึม ไม่มีเล่นกับลูกน้อง เคร่งครัด เครียด เราก็คงจะรู้สึกอึดอัด กลัวโน่นกลัวนี่ไปเสียหมด แต่ถ้าเจ้านายเราเฮฮา กล้าทำอะไรแปลกๆ กันเอง สนุก เราก็รู้สึกผ่อนคลายและ “กล้า” จะลองสิ่งใหม่ๆ ในการทำงานมากกว่าเป็นไหนๆ

ตลอดสองวันที่ผ่านมา ผมได่้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้บริหารของ dtac หลายคนตลอดทริป ผมตั้งข้อสังเกตน่าสนใจว่าเพราะผู้บริหารของ dtac ตั้งแต่ระดับสูงสุดคือคุณ Jon เอง และไล่ลำดับมานั้น เต็มไปด้วย “ลูกบ้า” ที่สร้างสีสันอยู่ไม่น้อย เช่นการไปเต้น TriNet ท่ามกลางที่มีสายตาจับจ้องจากบรรดานักศึกษาและไทยมุง หรือการเล่นกิจกรรมคลุกคลีกับประชาชนแบบ “กันเอง” ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเหมือนลูกบ้าที่ส่งต่อมาให้กับทีมและพนักงานอื่นๆ ของ dtac (แม้ว่าหลายๆ คนอาจจะมองว่ามันคือการตลาดก็เหอะ) รวมไปถึงคนอื่นๆ ที่ได้ร่วมมี “ประสบการณ์” แบบนี้ด้วย

เรื่องราวเหล่านี้อาจจะฟังดูไม่ได้สำคัญนักสำหรับหลายๆ คน แต่ในฐานะที่ผมเองก็อยู่ในจุดของการเป็น “ผู้นำ” ของทีมเองนั้น ผมว่ามันสำคัญมากทีเดียว เพราะคนที่เป็นผู้นำนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดการภายในทีม แต่คือการสร้าง “ความเชื่อ” และ “ความรู้สึกร่วม” ของคนภายในทีมด้วยกัน ถ้าผู้นำรู้สึกเต็มไปด้วยพลัง แสดงออกและส่งต่อมาให้ทีมด้วยกันแล้ว ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะสร้างทีมที่ไปในทางเดียวกัน ซึ่งก็ตรงกันข้ามกับผู้นำประเภทที่อยู่ข้างบนและสั่งการลงมาข้างล่างอย่างเดียว

“ลูกบ้า” อาจจะเป็นสิ่งที่น่าขยาดสำหรับผู้บริหารหรือผู้นำหลายๆ คนเพราะคิดว่ามันอาจจะทำให้มาดของผู้นำตัวเองสูญเสียไป บ้างก็อาจจะคิดว่ามันทำให้ตัวเองลดระดับต่ำลง แต่จริงๆ แล้วถ้าฉลาดใช้และเติมลูกบ้าให้ตัวเองแล้วนั้น เราอาจจะสามารถสร้างองค์กร สร้างทีม ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าแต่ก่อนได้อีกเยอะเลยทีเดียว

Comentarios


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page