สร้างทีม Digital Marketing อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
เมื่อผมต้องไปบรรยายเรื่องการสร้างทีม Digital Marketing ให้กับหลายๆ องค์กรนั้น ก็มักมีผู้บริหารถามผมกันบ่อยๆ ว่าเราควรจะสร้างทีมอย่างไร เช่นเดียวกับบริหารอย่างไรให้สามารถทำงานได้ประสิทธิภาพ ซึ่งมันก็ทำให้ผมกลับมาคิดในหลายๆ ครั้งว่าอะไรบ้างเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรทำ Digital Marketing กันได้ดี เลยขอมาแชร์ประสบการณ์ในบล็อกนี้นะครับ
กำหนดทิศทางที่ “ใช่”
ผมเชื่อเสมอว่าการจะทำอะไรให้ดีนั้น เกิดขึ้นจากการที่เรามีทิศทางที่ใช่เป็นแนวทางสำคัญ ฉะนั้นผู้บริหารที่คิดจะสร้างทีม Digital Marketing เองก็ต้องสร้าง Digiatal Marketing Vision / Direction ที่ชัดกันเสียก่อนว่าองค์กรนั้นจะทำ Digital Marketing กันแบบไหน จะไปสู่อะไร สำคัญอย่างไรกับองค์กร
ปัญหาที่ผมมักจะเจอคือผู้บริหารมักบอกว่าเรา “ต้องมี” หรือ “ต้องทำ” แต่ถามว่า “ทำอะไร” หรือ “ทำอย่างไร” ก็กลับไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนสักเท่าไร เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วแผน Digital Marketing ก็เลยไม่เคลียร์ ภาพไม่ชัด พอทำงานจริงก็วัดผลกันแบบงงๆ ไม่สามารถประสานกับส่วนอื่นๆ ขององค์กรได้อย่างที่ควรจะเป็น
ด้วยเหตุนี้ มันทำให้ผมนึกกลับไปวันแรกๆ ที่ผมได้รับงานบริหารทีม Digital Marketing ที่ผมจะนั่งถามตัวเองให้เคลียร์และสรุปให้ชัดว่า Digital Marketing ของบริษัทนั้นจะเป็นอย่างไร เป้าหมายของเราคืออะไร แล้วก็เริ่มก่อร่างสร้างทีมรวมทั้งออกแบบงานต่างๆ จากตรงนั้น
การสร้างนโยบายที่รองรับการทำงาน
งานของผู้บริหารและผู้นำทีมไม่ใช่แค่การหาคนมาทำงาน หรือกำหนด Job Description / Job Scope กันอย่างเดียว แต่ก็ต้องรู้ด้วยว่าการทำงาน Digital Marketing นั้นมาพร้อมกับลักษณะการทำงานที่ต่างไปจากรูปแบบการทำงานแบบแต่ก่อน มันจึงเป็นหน้าที่ผู้บริหาร / หัวหน้าทีมในการออกแบบนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาเอื้อให้การทำงานนั้นเป็นไปได้ด้วยดี
ตัวอย่างนโยบบายที่ผมพูดนี้ก็เช่นวิธีการทำงาน วิธีการประสานงาน Chain of Command อำนาจการตัดสินใจ รวมไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่บางคนอาจจะมองข้ามเช่นวิธีการส่งงาน การประชุมงาน เนื่องจากมันก็ส่งผลกับการทำงานในแต่ละวัน เพราะเราก็คงต้องไม่ลืมว่าการทำงาน Digital Marketing นั้นต้องอาศัยความคล่องตัวและสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ค่อนข้างสูง ฉะนั้นการจะยึดถือวิธีการทำงานแบบเดิมๆ ก็คงไม่ใช่กรอบการทำงานที่เข้าทีนักเป็นแน่
การเลือกคนที่ใช่และจำเป็นเข้ามาในทีมงาน
เมื่อเราเริ่มมีกรอบและภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่า Digital Marketing ขององค์กรเราจะเป็นอย่างไรแล้วนั้น สิ่งต่อมาคือการดูว่าเราต้องมีคนทำงานแบบไหนบ้าง มารับงานอะไรบ้าง และคนเหล่านี้จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
แน่นอนว่าถ้าพูดถึงเรื่องคนแล้ว ส่วนใหญ่เราก็มักมองความสามารถและประสบการณ์เป็นสำคัญ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากการสร้างทีมทำงานจริง คือนอกจากเรื่องความสามารถและทักษะด้านดิจิทัลแล้ว เรื่องเคมีภายในทีมและทัศนคติร่วมนั้นก็สำคัญเช่นกัน เพราะต่อให้เอาคนที่เก่ง มีความสามารถที่ “ทำงานได้” เข้ามาในทีม แต่ขาดความเข้ากันก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเท่าไรนัก ด้วยเหตุนี้ผมจึงให้ความสำคัญมากกับเรื่องทัศนคติต่างๆ ควบคู่ไปกับทักษะและความสามารถ
เพราะในชีวิตจริงนั้น มันไม่ใช่ 1+1 = 2 แต่หลายๆ ครั้งถ้าเราเอาคนที่ใช่เข้ามาอาจจะทำให้ 1+1 = 3 หรือ 4 ไปเลยก็มี (เช่นเดียวกับบางทีก็เป็น 1+1=0 ก็ได้)
การให้อำนาจการตัดสินใจควบคู่ไปกับการตรวจสอบ
ด้วยลักษณะของ Digital Marketing ที่ค่อนข้างรวดเร็ว มีอะไรปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ฉะนั้นการทำงานตรงนี้เองก็ต้องเอื้อให้ความคล่องตัวนี้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เกิดขั้นตอนต่างๆ ที่มากเกินจำเป็น
ตัวอย่างง่ายๆ เช่นถ้าเราจะทำ Personalized Ad จำนวนมากแล้ว ย่อมหมายความว่ามี Artwork มากมายหลายชิ้นที่จะเกิดขึ้น และถ้าทุกชิ้นจะต้องผ่านการตรวจแก้ คอมเมนต์ หรือต้องรออนุมัติหลายรอบ กว่างานจะได้ขึ้นก็คงต้องรอกันนานเกินไป ฉะนั้นแล้วมันจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างภาวะ Ownership ให้เกิดขึ้นกับคนทำงาน เช่นเดียวกับการมอบอำนาจความรับผิดชอบสำหรับบางบริบทที่คนทำงานสามารถตัดสินใจได้ ปรับแก้ต่างๆ ได้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะกลายเป็นปัญหาคอขวดกับผู้บริหารหรือหัวหน้าทีมกันพอดี
แต่ในขณะเดียวกันนั้น เราก็ต้องระวังไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่มากเกินไปด้วยเช่นกัน มันก็เลยต้องเกิดการตรวจสอบ หรือการเช็คเป็นระยะๆ ว่าแผนงานยังเป็นไปตามที่วางไว้อยู่หรือไม่ มีการอัพเดทอย่างต่อเนื่องเพื่อมีปัญหาอะไรจะแก้ไขได้ทันท่วงที
Execute / Experiment
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ระหว่างการเป็นผู้บริหารทีม Digital Marketing คือเรารู้ดีว่าการตลาดปรับเปลี่ยนกันอยู่ตลอด เดี๋ยวก็มีเครื่องมือใหม่ ตัวแพลตฟอร์มปรับเงื่อนไข ฯลฯ ฉะนั้นเราก็ต้องพร้อมจะ “ทดลอง” อะไรใหม่ๆ เพื่อเรียนรู้และพัฒนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ
การ “ทดลอง” อะไรนั้นแน่นอนว่าย่อมมี “ลองผิด” และ “ลองถูก” ซึ่งเราก็ต้องยอมรับและเปิดโอกาสให้เกิดขึ้น หลายๆ ครั้งเราก็ต้องทำใจว่าการทดลองนั้นอาจจะล้มเหลว ไม่เวิร์ค แต่เราก็ได้เรียนรู้บางอย่างเพื่อนำไปใช้ในแคมเปญต่อๆ ไป ซึ่งตรงนี้คนเป็นหัวหน้าและผู้บริหารต้องรู้จักที่จะส่งเสริม ให้กำลังใจ และเปิดโอกาสให้ทีมงานได้เรียนรู้อะไรไปด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน บางครั้งเราก็อยู่ในจังหวะที่ “พลาดไม่ได้” เช่นแคมเปญใหญ่ ซึ่งตรงนี้เป็นช่วงที่ต้องตกลงและอธิบายคนในทีมให้เข้าใจกันว่าเรากำลังอยู่ในโหมดที่ต้อง “จัดการ” และทำให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นน้อยที่สุด ซี่งก็ต้องสื่อสารการให้ดีเพื่อไม่ให้สับสนหรือเข้าใจผิดนั่นเอง
นี่คือเรื่องคร่าวๆ ที่ผมมักจะแลกเปลี่ยนกับบรรดาเพื่อนในแวดวงเดียวกันว่าเราจะบริหารทีม Digital Marketing กันอย่างไรบ้าง ซึ่งเอาจริงๆ มันก็มีอีกหลายเรื่องที่สามารถหยิบมาเล่าได้อีกเรื่อยๆ แต่บล็อกวันนี้ขอเอาเรื่องหลักๆ ที่ผมมักพูดถึงบ่อยๆ มาเล่าสู่กันฟังแล้วกันนะครับ
Comments