สร้างสรรค์ด้วยการก๊อปปี้?
จั่วหัวข้อไว้ข้างต้นอาจจะทำให้หลายคนสงสัยว่าผมกำลังจะมาดราม่าอะไรเรื่องของการก๊อปปี้รูปแล้วเอาไปโพสต์ต่างๆ แบบผิดลิขสิทธิ์หรือเปล่า? ต้องบอกว่าไม่ใช่นะครับ และถ้าจะพูดเรื่องนี้คงจะต้องพูดกันอีกยาว ไว้ว่างๆ จะเขียนบล็อคพูดเรื่องนี้อีกทีนึง
แต่ที่เขียนวันนี้เพราะมาจากไอเดียที่เกิดจากหนังสือ Steal Like An Artist โดย Austin Kleon ที่เล่าเรื่องวิธีการสร้างสรรค์ไอเดียต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยในวิธีที่หลายคนเรียกว่า “ก๊อปปี้”
ฟังดูเหมือนเป็นอาชญกรรมชอบกลเวลาเราพูดว่า “ก๊อปปี้” หรือว่า “ลอกเลียนแบบ” มา แต่ในหนังสือเล่มนี้มีการพูดถึงแง่มุมหลายๆ อย่างไว้อย่างน่าคิดทีเดียว
หนึ่งในแง่มุมของบทแรกๆ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่าไม่มีความคิดที่อ้างว่า “Original” เกิดขึ้นแบบ “ต้นตำรับ” จริงๆ หรอก เพราะอันที่จริงแล้วมันก็ล้วนเกิดจากการพัฒนาและต่อยอดจากความคิดก่อนหน้านี้แล้วทั้งนั้น แม้กระทั่งตัวมนุษย์เองที่เราอ้างกันว่าเป็น “ปัจเจก” แต่แท้จริงแล้วก็คือการผสมระหว่างพ่อและแม่มา หรือที่เรียกว่ากรรมพันธ์นั่นเอง
ในแง่คิดดังกล่าวถือว่าน่าสนใจไม่น้อยและเอาเข้าจริงๆ แล้วก็ถือว่ามีส่วนจริงอยู่มากโข เพราะการสร้างสรรค์ต่างๆ ที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้หรือแม้แต่ศิลปะในยุคอดีต ก็เกิดจากการมีอิทธิพลและต่อยอดจากสิ่งที่ “เคยมี” มาก่อนแล้วทั้งนั้น มันเป็นเสมือนการหยิบยืมไอเดียที่ศิลปินแต่ละคนรวบรวมจากประสบการณ์ก่อนๆ มาแล้วขัดเกลาในแบบฉบับของตัวเอง และไม่แปลกที่ในบางจุดก็คือการ “ก๊อปปี้” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เวลาเราใช้คำว่า “ก๊อปปี้” นั้นก็อาจจะกว้างและครอบคลุมไปถึงการกระทำแย่ๆ ประเภทขโมยไอเดียมาใช้แบบไม่มีการพัฒนาต่อยอดอะไรเลย เรียกว่าลอกกันแบบทั้งดุ้น ซึ่งแบบนี้ถูกจัดอยู่ในประเภท “BAD THEFT” ในขณะที่ “GOOD THEFT” จะทำในทางตรงกันข้าม เช่นการรวบรวมไอเดียจากหลายๆ แหล่ง ดัดแปลงและแปรรูปไปสู่รูปแบบที่ต่างไปจากเดิม
สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการก๊อปปี้ให้ดี คือการก๊อปปี้ “ความคิด” ไม่ใช่ก๊อปปี้ “ผลงาน” เพราะถ้าเราสามารถถอดความคิดและรากฐานในการสร้างสรรค์ต่างๆ ได้แล้ว เราก็จะสามารถต่อยอดมันต่อไปได้ แต่ทุกวันนี้เรามักจะเจอการก๊อปปี้ที่ปลายทาง ซึ่งทำให้ต่อยอดไปอีกไม่ได้
ซึ่งก็คงไม่แปลกที่บรรดานโยบายต่างๆ ของประเทศเราซึ่งมัก “เลียนแบบ” จากต่างประเทศมักไปไม่รอดกันเพราะมันเอาแต่ผลงานแต่ไม่ได้ก๊อปปี้วิธีคิดมาด้วย พอจะมาปรับและประยุกต์กันใหม่ก็ทำไม่ได้เสียแล้ว
หนังสือ Steal Like An Artist ยังมีแง่มุมดีๆ เกี่ยวกับการสร้างสรรค์รวมทั้งวิธีต่างๆ ที่หลายคนอาจจะไม่คาดคิดในยุคดิจิตอล ถือเป็นหนังสือน่าสนใจทีเดียว อย่างน้อยแง่มุมที่ผมหยิบมาพูดวันนี้ก็ถือว่าอดเก็บเอาไปคิดต่อได้แบบเพลินๆ เลยล่ะครับ ^^
Comments