สัญญาณที่บอกว่าคุณกำลัง “ติดจอ” เกินไป (และวิธีแก้ให้คุณดีขึ้น)
จากบล็อกก่อนหน้าที่ผมพูดถึงอาการต่างๆ ที่ดึงประสิทธิภาพการทำงานของคุณให้ลดลงนั้น หนึ่งในอาการที่น่าจะพบเห็นกันบ่อยมากโดยเฉพาะกับคนยุคดิจิทัลคืออาการ “ติดจอ” ประเภทต้องมองจอโน้น เช็คหน้าจอนี้ จนทำให้เราไม่สามารถโฟกัสกับงานต่างๆ ได้ ไหนจะทำเอามนุษยสัมพันธ์กับคนรอบตัวมีปัญหากันอีก
มันเลยไม่แปลกที่หนังสือ Driven to Distraction at Work ถึงพูดถึงอาการ “Screen Suck” เป็นอันดับแรก ซึ่งหนังสือเองก็ในแบบสำรวจเพื่อเช็คว่าตัวเรานั้นมีอาการนี้หรือเปล่า รวมถึงแนะนำวิธีแก้อาการด้วย บล็อกนี้เลยขอหยิบเอาเนื้อหาสำคัญๆ บางส่วนมาเล่าให้ฟังแล้วกันนะครับ
สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังมีอาการ “ติดจอ”
ข้อความต่อไปนี้ คือข้อความที่คนซึ่งมีอาการป่วย “ติดจอ” ส่วนใหญ่ตอบว่า “เห็นด้วย” (ซึ่งก็ถ้าคุณตอบคล้ายๆ อย่างนั้น คุณเองก็กำลังเป็นอาการนี้นั่นแหละ)
ถ้าโทรศัพท์มือถือของฉันไม่ได้อยู่ข้างๆ ตัว (หรือสามารถคว้าได้ง่าย) ฉันจะรู้สึกหงุดหงิด
ฉันสามารถเสียเวลากว่าหนึ่งชั่วโมงในการออนไลน์โดยไม่รู้ตัว
ฉันมีงานที่ต้องทำมากกว่าเวลาที่ฉันมี
ฉันรู้สึกไม่มีระเบียบวินัยในตัวเอง
ฉันมักแอบออนไลน์ทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน
เมื่อรู้สึกเครียดในการทำงาน ฉันจะผ่อนคล้ายความเครียดด้วยการออนไลน์
ฉันนึกภาพไม่ออกถึงการออกไปทานอาหารกลางวันโดยไม่พกโทรศัพท์ไปด้วย
ฉันต้องการสิ่งต่างๆ มากกว่าเดิม
ฉันมักทำงานไม่ได้ดั่งใจ
ฉันมักมีความต้องการจะทำสิ่งต่างๆ แต่ฉันนึกไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไร
วิธีการแก้ปัญหาอาการติดจอ
ลองวิเคราะห์ดูว่าคุณใช้เวลาเท่าไรอยู่กับหน้าจอแต่ละวัน
จากข้อมูลในข้อแรก ลองดูว่าคุณจะสามารถตัดอะไรออกไปได้บ้าง
สร้างเวลา “ประจำ” ที่คุณจะดูหน้าจอต่างๆ เช่นเช็คเมล์ เช็ค facebook และพอออกจากช่วงเวลาดังกล่าวก็ทำการปิดมันซะ
เลี่ยงการหยิบหรือใช้มือถือระหว่างที่คุณอยู่กับเพื่อนๆ หรือมีกิจกรรมทางสังคม
ถ้าคุณเบื่อ อย่าเลือกใช้อุปกรณ์อย่างมือถือหรือแท็บเลตเป็นทางแก้เบื่อ ลองหาอย่างอื่นมาเป็นตัวเลือกแทน เช่นอ่านหนังสือ ดูหนัง ฯลฯ
เลี่ยงการเข้าเว็บหรือเล่นเกมที่จะทำให้คุณเกิดอาการ “ติด” โดยไม่รู้ตัว
ตั้งกฏในการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ในทีม เช่นเมื่อไรที่จะส่งอีเมล์ เมื่อไรที่จะใช้วิธีการพูดคุยแบบเจอหน้ากัน อย่าใช้วิธีการส่งเมล์หรือส่งข้อความไปเสียทุกอย่าง
พยายามใช้วิธีการสื่อสารแบบคุยกันตรงหน้าให้บ่อยเข้าไว้
ในเรื่องอาการ “ติดจอ” ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจซึ่งตัวหนังสือเล่าไว้อยู่พอสมควร คนที่สนใจก็ลองหามาอ่านได้นะครับ :)
Commentaires