top of page

สาเหตุที่ WFH ทำชีวิตของพนักงานพัง

จากโพสต์ก่อนหน้าที่พูดกันถึงการศึกษาจาก Adobe ที่พบว่า WFH กำลังทำให้พนักงาน Burnout กันนั้น ผมก็เลยลองมานั่งลิสต์ ๆ ดูจากประสบการณ์และสิ่งที่สังเกตเห็นจากเพื่อน ๆ คนรอบตัว และบรรดาคอมเมนต์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นว่าอะไรบ้างที่ทำให้ WFH มันกลายเป็นสิ่งที่แย่มาก ๆ สำหรับหลายคนนะครับ

1. ความไม่พร้อมในด้านสถานที่และอุปกรณ์การทำงาน

ต้องเข้าใจก่อนว่าออฟฟิศคือสถานที่ที่ถูกออกแบบมาให้เราได้ทำงาน มันจึงอาจจะไม่สวยและน่าอยู่เหมือนบ้าน แต่มันก็ออกแบบให้เราสามารถทำงานได้ มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ในแง่ Fucntion กับการทำงานเช่นโต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ ซึ่งนั่นคนละเรื่องกับบ้านที่เราเอาไว้ “อยู่” และ “พักผ่อน” ไม่ใช่ทำงาน เว้นเสียแต่ว่าใครจะมีห้องทำงานของตัวเองอยู่ในบ้านก็อาจจะแก้ปัญหาข้อนี้ไปได้ (หรือในทางกลับกันคือบางคนมีออฟฟิศที่แย่อยู่แล้วก็อาจจะรู้สึกโอเคกับการอยู่บ้านมากกว่า)

2. เวลาส่วนตัวที่หายไป

การทำงาน WFH นั้นทำให้เวลาส่วนตัวของหลาย ๆ คนหายไปอันเนื่องมาจากระยะเวลาการทำงานที่มากขึ้น อีกทั้งความรู้สึกที่เคยแยกได้ว่าบ้านคือเวลาส่วนตัว ที่พักผ่อน ที่เอาตัวเองออกจากงาน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าบ้านคือที่ทำงานจนทำให้หลายคนอยู่ในภาวะที่ “อยู่กับงานทั้งวัน” จนไม่รู้สึกว่ามีชีวิตส่วนตัวไปเสีย ซึ่งจะว่าไปแล้วเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานแบบ Home Office ด้วยเหมือนกัน

3. การโดน “ตามตัวตลอดเวลา”

อาจจะเพราะแนวคิดการจัดการ การบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และทัศนคติบางอย่างของผู้บริหารบางคน เลยทำให้เกิดการพะวงหรือตั้งแง่ว่าพนักงานจะอู้ หรือไม่ทำงานตอนอยู่บ้าน ก็เลยให้พนักงานอยู่ในโหมด “เรียกได้ทุกเมื่อ” หรือ “เช็คได้ว่าทำงานแล้ว” และนำมาสู่กิจกรรมประหลาด ๆ อย่างการเปิดกล้องทำงานไปด้วย รายงานตัว ฯลฯ เช่นเดียวกันคือหลายคนจะหันมาใช้ช่องทาง LINE / Messenger สั่งงานตามงานมากขึ้น ซึ่งนั่นต่างจากชีวิตจริงที่เราจะมีการรอคุยกัน เจอหน้ากันแล้วทัก และสิ่งเหล่านี้กลายเป็นแรงกดดันมหาศาลให้กับคนทำงานโดยไม่รู้ตัว

4. ระบบการทำงานที่ไม่ยอมเปลี่ยน

ระบบและขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ แต่เดิมนั้นออกแบบสำหรับการทำงานในพื้นที่ที่เรียกว่า “ออฟฟิศ” ซึ่งนั่นจะไม่เหมือนกับการทำงานแบบต่างคนต่างอยู่คนละที่ เรื่องนี้อาจจะทำให้คนที่เคยทำงานแบบ Remote Office ไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากเนื่องจากวิธีการทำงานมันออกแบบมาให้เราไม่ต้องเจอหน้ากัน คุยพร้อมกันอยู่แล้ว แต่กับคนที่ทำงานแบบต้องเจอหน้ากัน ประชุมกัน สรุปงานกัน ก็มักพยายามเอาวิธีดังกล่าวมาใช้ผ่านออนไลน์ซึ่งมันได้ผลไม่เท่า ประสิทธิภาพน้อยลง แถมขั้นตอนหลายอย่างก็ใช้ไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นปัญหามากมายตามมา อย่างเช่นพวกงานเอกสาร การขออนุมัติต่าง ๆ ซึ่งล้วนกลายเป็นขั้นตอนรุงรังเผาเวลาและความรู้สึกไปเสีย

5. การขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน (และ “คน”)

การเจอกับคนอื่น ๆ นั้นมีส่วนช่วยมากในการเยียวยาความรู้สึกหรือทำให้คนได้มี “ความรู้สึกร่วม” เหมือนกับที่บางคนอาจจะมี “บรรยากาศครึกครื้น” หรือ “บรรยากาศมาคุ” (ฮา) ในออฟฟิศกัน แต่พออยู่บ้านแล้วมันก็ไม่มีบรรยากาศแบบนั้นเพราะเราไม่ได้เจอหน้ากันจริง ๆ ไม่ได้สัมผัสและรู้สึกกันแบบที่อยู่ในสถานที่เดียวกัน การเยียวยาทางความรู้สึกต่าง ๆ ก็หายไป ยิ่งถ้าใครอยู่คนเดียวก็อาจจะมีความเครียดสะสมกันได้ง่าย (แต่ถ้าใครที่เป็นสาย Introvert อยู่แล้วก็อาจจะพบว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหามากนัก)

6. สวัสดิภาพที่โดนกัดกร่อน

ผมมักจะบอกว่าการทำงาน WFH สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยและระบบการทำงานไม่ได้ออกแบบมาสำหรับ WFH โดยตรงนั้นจะได้รับผลกระทบด้านร่างกายไม่แพ้กับจิตใจทีเดียว อย่างในการทำงานจริงจะมีจังหวะให้เราพัก + อู้บ้างเช่นไปซื้อกาแฟ เดินไปพักกินข้าวต่าง ๆ แวะเม้าท์กับเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้จะหายไปเมื่อ WFH และนั่นทำให้ร่างกายกับจิตใจเราถูกสูบโดยการทำงานอย่างเต็มที่ไม่มีพัก เหมือนปั้มน้ำที่ถูกให้ทำงานตลอดเวลาโดยไม่มีหยุดซึ่งมันก็จะ Overheat ได้อย่างรวดเร็ว เพราะแค่ลองคิดว่าเราต้องถูกบังคับให้จ้องหน้าคอม ประชุมหน้าคอมตลอด 8 ชั่วโมงนั้นก็คงทรมานมาก ๆ อยู่แล้ว โดยในชีวิตจริงจะมีจังหวะไม่ต้องมองคอม นั่งคุยกันแบบเห็นหน้าในพักสายตากันบ้างนั่นเอง

ที่เล่า ๆ มานี้คือส่วนหนึ่งของสาเหตุหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นจนทำให้ร่างกายและจิตใจของพนักงานนั้นพังอย่างหนักมากในช่วง WFH ซึ่งตรงนี้ก็ต้องย้อนกลับไปที่ฝั่งบริหารแล้วล่ะว่าจะปรับการทำงานอย่างไรให้สามารถฟื้นฟูสภาพของทีมงานกลับมาได้ซึ่งนั่นจำเป็นจะต้องเกิดจากการเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้และแก้ให้ตรงจุดเสีย ทั้งเรื่อง Mindset การบริหาร การจัดการทีม กระบวนการทำงานต่าง ๆ ดังที่ได้อยธิบายไว้บ้างแล้วนั่นเอง

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page