สิ่งที่นักการตลาดควรดูเวลาจะทำ Native Advertising / Advertorial
เทรนด์การทำ Native Advertising กับบรรดาผู้ผลิตคอนเทนต์ในยุคดิจิทัลนั้นน่าจะเป็นอีกสิ่งที่หลายๆ คนเริ่มตื่นตัว เช่นการเริ่มทำ Advertorial กันอย่างจริงจังมากขึ้น เช่นเดียวกับฝั่งผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ ก็เริ่มให้ความสนใจและรับงานเพิ่มขึ้น เช่นบล็อกเกอร์ที่รับรีวิวสินค้า ตลอดไปจนถึงบรรดาเพจที่ทำคอนเทนต์รับลูกกับแคมเปญที่กำลังเกิดขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมยังเห็นในตอนนี้คือการพยายามนำเสนอเรื่อง Native Advertising โดยอิงจาก “ความดัง” ของคนผลิตเป็นคอนเทนต์เป็นสำคัญ ประเภทที่หาบล็อกที่มีคนอ่านเยอะๆ หาคนที่มีคนตามเยอะๆ แล้วขอให้ช่วยสร้างคอนเทนต์ให้ หรือไม่ก็ขอเอาบทความของตัวเองลงไปเผยแพร่ในช่องทางของเว็บนั้นๆ เป็นต้น
อันที่จริงแล้ว การทำ Native Advertising แบบดังกล่าวก็คงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะการทำ Advertorial หรือทำคอนเทนต์ประเภท Sponsored Content / Sponsored Review นั้นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาพอสมควร และก็เป็นหนึ่งในเทคนิคการตลาดที่เราคุ้นเคยกันมาบ้างแล้วในบรรดารายการทีวี นิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ แต่สิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาอยู่คือการ “เลือก” ผู้ผลิตคอนเทนต์นั้นๆ มาใช้ในการทำ Native Advertising กันนั่นแหละครับ
ถ้ามองในสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่เรามักจะเจอเพื่อพรีเซนต์ว่าจะคัดใครมาช่วยโพสต์ Advertorial นั้น เรามักจะเจอการพรีเซนต์ทำนองว่าเว็บมีคนเข้าเท่าไรต่อวัน มี Page View เท่าไร มีคนกดไลค์เท่าไร เข้าถึงคนกี่คน ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตคอนเทนต์นั้น “ดังแค่ไหน”
และปัญหามันก็อยู่ตรงนี้แหละครับ เพราะการพยายามตัดสินว่าสื่อของผู้ผลิตคอนเทนต์นั้นๆ (ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือบล็อก) เข้าถึงคนเท่าไร มันเลยเป็นการพยายามประเมินค่าจาก Reach เป็นสำคัญ ประเภทว่าให้คนเห็นมากเท่าไรยิ่งดี
แต่อีกแกนที่หลายๆ คนมักลืมคิดคือแกนที่ว่าคนเห็นแล้วอย่างไร? คอนเทนต์ที่ไปเผยแพร่นั้นจะถูกเสพโดยกลุ่มเป้าหมายหรือไม่? รวมไปถึงมันจะสามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า?
เรื่องนี้ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าถ้าสมมติเราอยากจะทำ Advertorial ให้กับสินค้าประเภทดูแลสุขภาพ มันคงเป็นเรื่องประหลาดๆ อยู่ไม่น้อยถ้าเราจะให้บล็อกเกอร์หรือเว็บสายท่องเที่ยวหรือไอทีไปลง Advertorial แนะนำวิตามินหรืออาหารเสริม ซึ่งแม้ว่าถ้าอิงตาม Stat แล้วเว็บเหล่านี้ก็คงมีคนเข้ามาอ่านมากมายเป็นแน่
แต่คำถามคือคนที่เขาสนใจและตั้งใจจะเข้ามาในเว็บท่องเที่ยว จะรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นรีวิวอาหารเสริม? (ผมว่าเราลองถามตัวเองกันดูก็ได้ฮะ)
ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ผมมักพูดเสมอว่าการทำ Content Marketing นั้นต้องมองเรื่องของ Relavancy เป็นสำคัญ และการทำ Native Advertising ก็เช่นกัน เพราะถ้าเมื่อไรก็ตามที่การพยายามเข้าไปขายของนั้นไม่เข้ากับบริบทหรือความสนใจที่คนกำลังติดตามดูคอนเทนต์อยู่นั้น ผู้ชมก็พร้อมจะถอยออกและเกิดอคติกับคอนเทนต์นั้นได้ง่ายๆ
เหมือนกับที่เรามักบ่นหรือแซะบรรดา Tie-in สินค้าต่างๆ ที่เข้าไปอยู่ในละครหรือเกมโชว์แบบไม่เนียน หรือโฉ่งฉ่างจนน่ารำคาญนั่นแหละครับ
พอเป็นแบบนี้ ถ้าเราจะทำ Native Advertising หรือจะไปลง Advertorial ที่ไหนนั้น มันเลยจำเป็นมากที่เราต้องดูบริบทและความเชื่อมโยงระหว่างคอนเทนต์ของเรากับคอนเทนต์ที่ผู้ผลิตคอนเทนต์นั้นทำอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้แล้ว สถิติที่ควรจะสนใจจึงไม่ใช่เรื่องของจำนวนคนเข้ามา “ทั้งเว็บ” แต่อย่างใด หากแต่ดูว่าปฏิกริยาต่อคอนเทนต์ของคนอ่านเป็นอย่างไร คอนเทนต์ประเภทที่ใกล้เคียงกับ Advertorial ของเรานั้นถูกปฏิสัมพันธ์มากน้อยแค่ไหน
เพราะแม้ว่าเพจจะมีคนกดไลค์คอนเทนต์เยอะมากแค่ไหน แต่พอโพสต์แนะนำสินค้าหรือขายของ จำนวนปฏิสัมพันธืก็มักเป็นคนละเรื่องกับคอนเทนต์ปรกติ และที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะคนทั่วๆ ไปนั้นต่างรู้ว่านี่คือ “โฆษณา” ที่เขาไม่ได้รู้สึกอยากเสียเวลาที่จะเสพมันนั่นเอง
ตัวอย่าง Check List ของเว็บ / เพจที่ควรรู้เพื่อเลือกในการลง Advertorial
อัตราคนอ่านต่อคอนเทนต์
อัตราคนอ่านต่อคอนเทนต์ในกลุ่มที่ใกล้เคียงกับเนื้อหาของ Advertorial
ค่าปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ของแต่ละคอนเทนต์
ค่าปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ของแต่ละคอนเทนต์ในกลุ่มเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับ Advertorial
ที่ผมมักจะดู 4 ข้อนี้เพราะท้ายที่สุดแล้ว การลง Advertorial จะมีผลหรือไม่มีผลก็คือคนได้อ่านตัว Advertorial / Sponsor Review นั้น การที่แค่คนเห็นแต่ไม่ได้อ่านก็แทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเท่าไร (อย่างนั้นผมซื้อ Banner ลงในเว็บหรือ Facebook Ad ก็ได้)
อย่าลืมว่าเราไม่ได้กำลังซื้อ Banner / Display Ad ที่เน้นคนเห็นเยอะๆ แต่อย่างใด การทำ Native Advertising ต้องมีวิธีคิดที่ต่างออกไปเพื่อให้เกิดประโยชน์จากลักษณะของสื่อให้มากที่สุด และนั่นคือสิ่งที่นักการตลาดควรทำการบ้านเยอะๆ เลยล่ะครับ
Comentarios