สื่อดิจิทัลอย่าง Facebook เข้าถึงคนไทยมากพอจะเป็น Mass Media ได้หรือยัง?
ตลอดหลายปีที่ผมทำงานด้าน Digital Marketing มานั้น หนึ่งในสิ่งที่ผมมักจะได้ยินบ่อยๆ คือการบอกว่า “Digital ไม่ใช่แมส” หรือไม่ก็ “มันยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่” ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเพราะในช่วงการเกิดของ Digital Marketing นั้นยังอยู่ในกลุ่มเล็กๆ และการเข้าถึงเทคโนโลยียังกระจุกตัวอยู่พอสมควร
ในช่วงเวลานั้น สื่อสำคัญๆ ที่คนเรามองว่าเป็น “ส่วนใหญ่” คือโทรทัศน์ หรือไม่ก็หนังสือพิมพ์ ชนิดที่ทำโพลอะไรออกมาก็บอกว่าคนไทยดูทีวีเยอะสุด ทีวีเข้าถึงคนจำนวนเยอะสุด ฯลฯ
พอมาถึงปัจจุบัน ตัวเลขที่ตอนนี้เราอาจจะคุ้นหูกันพอสมควรคือประเทศไทยมีประชากรอยู่ 66 ล้านคน ในขณะที่จำนวนเบอร์โทรศัพท์มือถือของทั้งสามค่ายหลักรวมกันเกินจำนวน 66 ล้านไปมากโขแล้ว ส่วนจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เนตประเทศไทยก็ยังงงๆ กันอยู่เนื่องจากยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่แน่ชัดนัก บ้างก็ว่า 30 ล้าน บ้างก็ว่า 40 ล้าน
ถ้าจะเอาที่เราจับต้องได้หน่อย ก็คือ Facebook ที่มีการประกาศล่าสุดว่ามีจำนวนบัญชีผู้ใช้คนไทย 40 ล้านบัญชีแล้ว
เอาล่ะ พอเรามีบัญชี Facebook 40 ล้านบัญชี เมื่อเทียบกับประชากรไทย 66 ล้านคนแล้ว นักการตลาดหลายคนก็อาจยังคิดว่า “ยังไม่ใช่ส่วนใหญ่” ของประเทศอยู่
แต่ถ้าจะมองให้ลึกและละเอียดจากข้อมูลชุดนี้นั้น เราอาจจะต้องมอง Facebook และคนออนไลน์วันนี้กันใหม่เสียแล้ว
เริ่มต้นนั้น ผมลองดึงข้อมูลประชากรไทยจากกรมการปกครอง (http://stat.dopa.go.th) เพื่อดูประชากรไทยในแต่ละช่วงอายุ (อัพเดทเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558)
จากนั้นผมก็ลองเทียบกับซื้อโฆษณา Facebook Ad ดูว่าผมจะสามารถเข้าถึงจำนวนผู้ใช้ได้ราวๆ กี่บัญชี ซึ่งผมได้น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เช่น
จากสถิติของกรมการปกครองนั้น ประชากรไทยในช่วงอายุ 15-49 ปี นั้นมีอยู่ทั้งสิ้น 34.4 ล้านคนโดยประมาณ
และเมื่อผมทำการรันข้อมูลบน Facebook Ad โดยเลือกคนที่อยู่ในประเทศไทย ใช้ภาษาไทย อายุ 15-49 ปีนั้น Facebook ระบุว่ามีจำนวนบัญชีที่สามารถส่งโฆษณาไปถึงได้ราวๆ 34 ล้านบัญชี
ถ้าคิดกันเร็วๆ นั่นหมายถึงในช่วงอายุดังกล่าวนั้น Facebook เข้าถึง 98% ของประชากรไทยในช่วงอายุ 15-49 ปี
แม้จะดูน่าตกใจอยู่พอสมควร แต่ผมต้องขอบอกนิดนึงว่าข้อมูลดังกล่าวอาจจะไม่ได้ถูกต้อง 100% นักเพราะเมื่อผมลองคำนวนในอีกบางช่วงอายุแล้ว ผมกลับได้คำตอบที่อาจจะขัดๆ กันอยู่บ้าง เช่นในช่วงอายุ 15-25 ปีซึ่งตามสถิติของกรมการปกครองระบุว่ามีประชากรอยู่ราวๆ 11 ล้านคน ปรากฏว่ามีจำนวนบัญชี Facebook มากถึง 16 ล้านบัญชี เรียกว่ามากกว่าจำนวนประชากรจริงๆ เสียอย่างนั้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอีกคือ Facebook ให้คนลงทะเบียนใช้งานได้ก็ตั้งแต่อายุ 13 ปีเป็นต้นไป ซึ่งถ้าคิดจากสถิติประชากรของกรมการปกครองแล้ว ประชากรไทยที่อายุมากกว่า 13 ปีมีทั้งสิ้นราวๆ 54 ล้านคน ถ้าเราจะโฟกัสกลุ่มคนที่อายุในช่วง 13-65 ปีก็จะมีอยู่ราวๆ 48 ล้านคน โดยในช่วงอายุนั้น Facebook สามารถเข้าถึงได้ราวๆ 36 ล้านบัญชี (คิดเป็น 75%)
มาถึงตรงนี้ ผมว่าเราอาจจะต้องตั้งคำถามกันแล้วว่าคนใช้สื่อดิจิทัลนั้นมีปริมาณมากพอจะเป็น “สื่อหลัก” ได้หรือยัง เพราะด้วยปริมาณการใช้งานและทิศทางการเสพข่าวสารต่างๆ ที่ตอนนี้เราก็เริ่มพบแล้วว่าคนจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ที่น้อยลงเรื่อยๆ (จนถึงขั้นไม่ได้ดู) และย้ายไปดูคอนเทนต์บน Smartphone / Computer แทนเช่นเดียวกับการเสพข่าวสารต่างๆ ที่ย้ายไปอยู่บน Social Media แทนที่ช่องทางเดิมๆ สื่อโทรทัศน์เดิมที่เป็น “Shared Screen” กำลังถูกแทนที่ด้วย Smartphone ที่เป็น “Personal / Individual Screen” อย่างรวดเร็ว
และถ้าว่ากันจริงๆ ในบางกลุ่มเป้าหมายนั้น สื่อออนไลน์อาจจะมีอิทธิพลและเป็นช่องทางหลักแทนที่โทรทัศน์ไปแล้วเสียด้วยซ้ำ จนบางครั้งผมยังจะบอกเลยว่า Mass Media สำหรับคนยุคดิจิทัลไม่ใช่ทีวีอีกต่อไปแล้ว
บล็อกวันนี้ ผมยังไม่มีคำตอบที่ฟันธงแน่ชัด เพราะเชื่อว่าก็คงมีการถกเถียงกันเรื่องตัวเลขและที่มาหลายๆ อย่าง แต่ผมว่าอย่างน้อยๆ ตัวเลขเหล่านี้ก็น่าจะสะท้อนอะไรให้เราต้องฉุกคิดกันเยอะๆ แล้วละมั้งครับ
ว่าวันนี้ เรา (นักการตลาด) วางแผนใช้สื่อกันถูกต้องหรือเปล่า และเรารู้จัก “สื่อหลัก” วันนี้แค่ไหนกัน
Comments