top of page

หนึ่งในการช่วยที่ดีที่สุดคือการไม่ช่วย

วันก่อนผมได้อ่านกระทู้หนึ่งใน Pantip ว่าด้วยเรื่องครอบครัวที่ต้องรับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวจนทำให้คนอื่นต้องเดือดร้อน แน่นอนว่าพอเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น ส่วนใหญ่คนในครอบครัวก็จะทำการถามไถ่และหยิบยืมจากคนที่รู้จักเพื่อมาแก้ปัญหาให้จบไปก่อน แล้วก็ว่ากันทีหลังเรื่องการผ่อนคืนอีกที

แต่สิ่งที่หลายๆ คนแนะนำกันคือการ “ห้ามช่วย” ทั้งนี้เพื่อให้คนที่เกิดปัญหาต้องรู้จักรับผิดชอบและได้รับบทเรียนซึ่งนั่นจะทำให้เขาได้ปรับปรุงพฤติกรรมและหยุดทำตัวที่จะเสี่ยงในการก่อนภาระนี้อีกในอนาคต

เรื่องนี้เอาจริงๆ แล้วผมว่าก็เป็นคำแนะนำทีเดียว (แม้ว่าหลายๆ คนอาจจะมองว่ามันดูใจร้ายกันอยู่เสียหน่อย)

ว่ากันตามจริงแล้ว หลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็มักจะเกิดขึ้นซ้ำอีกทั้งนี้เพราะเราไม่ได้เกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนเพื่อยุติปัญหา พอเกิดเรื่องที เราก็ไปแก้กันที่ผลแต่ไม่ได้แก้กันที่เหตุ มันก็เลยกลายเป็นว่าเหตุยังอยู่เหมือนเดิมแค่ผล (ในวันนี้) หายไป ซึ่งมันก็จะรอแค่วันหน้าที่จะเกิดผลใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง (ก็เพราะเหตุมันไม่ได้หายไปนั่นแหละ)

การ “ไม่ช่วย” เลยอาจจะเป็นยาแรงที่กระตุกให้เราต้องตระหนักและได้ลิ้มรสถึงผลอย่างที่สุด เพื่อจะได้เกิดการเข็ดหลาบและตื่นรู้ว่าจะต้องทำอะไร

ตัวอย่างที่มักจะเจอเรื่องแบบนี้บ่อยๆ คือเรื่องของการเงินที่หลายๆ คนมักเจอเรื่องหนี้บัตรเครดิตจากการฟุ่มเฟือย แน่นอนว่าพอเกิดเรื่องก็จะเกิดคนหลายประเภท บางประเภทก็ไปขอเงินคนอื่นมาเพื่อโปะหนี้ ปลดบัตรออกมาก่อน แต่ก็ยังใช้เงินแบบเดิม ซึ่งสุดท้ายก็จะกลับมาเจอปัญหาหนี้บัตรเครดิตกันอีกที (หรือถ้าจะเอาคล้ายๆ กันก็คือเรื่องการติดพนันนั่นแหละฮะ)

พอเป็นแบบนี้ การแนะนำว่า “ช่วยโดยการไม่ช่วย” อาจจะเป็นทางออกที่ดี คือทำให้คนได้เรียนรู้กันจริงๆ ว่าความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร ยิ่งถ้าเป็นเรื่องเงินก็ต้องให้ได้รู้กันไปว่าการปลดหนี้นั้นเหนื่อยขนาดไหน ไม่ใช่แค่การมาขอยืมเงินคนโน้นมาโปะแล้วโล่งใจเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ชีวิตผมเองก็เคยผ่านช่วงที่ล้มเหลวมาเหมือนกัน แน่นอนว่าหลายคนก็ถามผมว่าทำไมไม่บอกให้คนอื่นช่วยล่ะ แต่ตอนนั้นผมก็ตัดสินใจที่จะรับผลทุกอย่างด้วยตัวเอง ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ต้องปลดภาระต่างๆ ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่มันก็แลกมาด้วยประสบการณ์และความคิดที่ฝังอยู่ในหัวผมว่าต่อไปต้องทำอย่างไรที่จะไม่กลับไปเป็นแบบเก่าอีก

ในอีกแง่มุมหนึ่ง การทำงานเองถ้าหัวหน้าสปอยลูกน้องมากไป ประเภทอะไรๆ ก็ช่วยแก้ปัญหา ทำให้ลูกน้องไม่ลำบากไปเลย แน่นอนว่าลูกน้องอาจจะรู้สึกมีความสุขกับการทำงาน รู้สึกรักองค์กร แต่ในระยะยาวบางครั้งก็อาจจะทำให้ลูกน้องไม่ได้แข็งแกร่งหรือมีประสบการณ์ที่ต้องเจอแรงเสียดทานสูงๆ ครั้นพอหัวหน้าไม่อยู่ก็ไปไม่เป็น อยู่ไม่ได้ กลายเป็นว่าตัวลูกน้องเองที่จะมีปัญหาในภายหลังไปเสียอีก

การที่เราจะโตขึ้นและแกร่งขึ้นได้นั้น ไม่ใช่เรื่องของการแก้ปัญหาหรือปลดปัญหาออกไปจากชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการเรียนรู้ที่จะก้าวไปข้างหน้าโดยที่รู้ว่าทำยังไงที่จะไม่เจอปัญหาอีกในอนาคต การที่เราได้รับการช่วยเหลือในบางครั้งอาจจะทำให้เราลอยตัวจากปัญหาเกินไป บ้างก็ทำให้เราไม่ได้รู้สึกจริงจังกับปัญหาอย่างที่ควรจะเป็นและทำให้เราไม่ได้โตขึ้น

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่กับตัวเราเอง แต่กับคนรอบข้างของเราที่ขอให้เราไปช่วยเหลือเขาด้วย

ยังไงก็ลองคิดกันหน่อยก็ดีนะครับ ว่าการช่วยเหลือในบางครั้ง อาจจะไม่ใช่การช่วยเหลือจริงๆ

Comentários


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page