หลัก 4 อย่างสำคัญที่คุณต้องทำถ้าคิดจะมีความมั่นคงทางการเงิน
ทุกวันนี้เราคงเห็นคนพูดถึงกันเยอะกับการสร้างฐานะทางการเงินให้มั่นคง ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจเองที่หลายๆ คนอาจจะมองว่าเอาแน่เอานอนไม่ค่อยจะได้ หลายๆ คนอาจจะเริ่มสนใจการทำธุรกิจของตัวเอง บ้างก็ไปลงทุนในหุ้น หรือหาทางอื่นๆ เพื่อให้ได้เงินมาเยอะๆ อะไรทำนองนั้น
พอพูดถึงเรื่องนี้ วันก่อนผมก็ได้อ่านบทความหนึ่งที่น่าสนใจจาก Lifehacker ที่เขาบอกว่าท้าายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสูตรอะไร ตำราอะไร หรือแนวคิดอะไร ความมั่นคงทางการเงินนั้นมักจะกลับมาที่หลักสำคัญๆ 4 ประการด้วยกัน ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องค่อนข้างจะจริงทีเดียว มันอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลยครับ
1. ใช้ให้น้อยลง
ผมมักพูดบ่อยๆ ว่ามันไม่สำคัญที่เราจะหามาได้เท่าไร แต่อยู่ที่เราจะใช้เท่าไรต่างหาก และเรื่องนี้ก็คงเป็นเรื่องจริงพอสมควรสำหรับมนุษย์เงินเดือนจำนวนมาก เพราะเรามักพูดกันติดตลกว่าสมัยก่อนเงินเดือนหมื่นสองหมื่นก็คิดว่าไม่พอใช้แต่ก็ไม่ถึงกับขนาดขัดสนเป็นหนี้ พอมาตอนนี้เงินเดือนหลายหมื่น มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ก็ยังไม่พอใช้อยู่ดี มันเลยเป็นเรื่องน่าขันอยู่เสียหน่อยว่าต่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เราก็ยังอยู่สถานการณ์เดียวกันเหมือนเดิม
ที่เป็นแบบนี้เพราะพอเรามีเงินมากขึ้นนั้น สิ่งที่มักจะเคยตัวของเราอยู่บ่อยๆ คือการขยันใช้เงินกับสิ่งต่างๆ ที่เราไม่เคยซื้อหรือใช้มาก่อน เช่นการกินร้านอาหารที่แพงขึ้น บ่อยขึ้น ซื้อของมากขึ้น ฯลฯ และผมเชื่อว่าหลายๆ คน (รวมทั้งผมเอง) ก็เป็นแบบนั้น และนั่นทำให้เรามักพบปัญหาว่าต่อให้หาเงินได้เยอะแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่รู้จักประหยัดหรือควบคุมค่าใช้จ่าย เงินเราก็หมดอยู่ดีนั่นแหละ
2. หาให้มากขึ้น
เอาล่ะ ถ้าเราใช้จ่ายให้น้อยลงหรือคุมให้มันคงที่ไม่เพิ่มขึ้นได้ สิ่งที่จะช่วยตามมาคือการทำให้รายได้ของเราเพิ่มขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ สำหรับคนทำงานออฟฟิศก็อาจจะมองเรื่องของการขึ้นเงินเดือน หรือย้ายงานไปตำแหน่งที่ได้รายได้เพิ่มขึ้น บางคนอาจจะมองเรื่องการหารายได้พิเศษ การทำงานอื่นๆ เพื่อให้ได้รายได้เสริมกันมา นั่นยังไม่รวมถึงการที่บางคนอาจจะคิดไปถึงการเปิดกิจการของตัวเองควบคู่ไปด้วย
ผมเองก็ทำคล้ายๆ กันในช่วงที่ล้มลุกคลุกคลานตอนที่มีปัญหาด้านการเงิน คือการหารายได้ทุกช่องทางเท่าที่ทำได้โดยไม่หวังพึ่งเงินเดือนเพียงอย่างเดียว และเอาจริงๆ มันก็มีช่องทางการทำรายได้มากกว่าที่เราคิดพอสมควร เช่นรับแปลงาน สอนหนังสือ ขายของ ฯลฯ แต่มันก็อยู่ที่เราจะอยากใช้เวลาไปทำสิ่งเหล่านั้นหรือเปล่าน่ะนะ
3. หยุดการเป็นหนี้
หนี้ต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่จะตามหลอกหลอนคุณอย่างมาก และหลายๆ ทีมันทำให้หลายคนลืมตัว บ้างก็คิดว่าตัวเองมีเงินสดในมือเยอะ สามารถใช้จ่ายโน่นนี่ได้ แต่เอาจริงๆ แล้วคือมีหนี้จำนวนมากที่มองไม่เห็น เช่นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อ ฯลฯ
เขาถึงมักพูดกันว่าไม่มีเงินยังดีเสียกว่ามีหนี้ ซึ่งผมว่ามันก็เป็นเรื่องจริงอยู่พอสมควร เพราะหนี้ในหลายๆ ครั้งทำให้เราประเมินสถานการณ์ผิด แถมพอถึงวันที่หนี้ต้องชำระแล้วก็เล่นเอาหลายๆ คนกระอักเลยก็ได้
เรื่องหนี้นี้ยังพูดไปถึงพวกสินค้าเงินผ่อนต่างๆ ที่หลายๆ คนมักจะเคยตัวใช้กันอยู่บ่อยๆ แต่พอถึงวันหนึ่งที่เงินช๊อตขึ้นมาก็เล่นเอาแย่ เพราะหนี้นั้นไม่เคยหยุดหรือสามารถเลื่อนไปก่อนได้ ผมเองก็มีช่วงที่เคยตัวใช้บัตรเดรดิตผ่อนโน่นผ่อนนี่เพื่อที่จะคงเงินในกระเป๋าไว้เยอะๆ ให้สบายใจ แต่พอวันหนึ่งที่มีเหตุต้องใช้เงินเยอะแล้วถึงวันต้องชำระพวกที่ผ่อนต่างๆ ก็เล่นเอาแทบกระอักกันไปเลยทีเดียว
ทางที่ดีแล้ว ลองคิดกันเยอะๆ นะครับว่าอย่าเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น ถ้าเป็นไปได้ รีบปลดหนี้ให้เร็ว อย่าชะล่าใจให้ตัวเองมีเงินสดในมือเยอะๆ แล้วเผลอใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น รีบเอาเงินสดที่มีโปะหนี้ให้เร็วที่สุดจะดีกว่าครับ
4. ลงทุน
เรื่องสุดท้ายก็คงเป็นเรื่องที่หลายๆ คนพูดถึงกัน เพราะการถือเงินสดไว้กับตัวมันก็คงไม่สามารถงอกเงยเพิ่มมูลค่าอะไร การลงทุนในวิธีต่างๆ ก็คงเป็นทางเลือกที่ดี ไม่ว่าจะฝากธนาคารเอาดอกเบี้ย หรือลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็นั่นเองว่าการลงทุนก็จะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ขาดทุนก็ได้ ไม่ใช่ว่าทุกการลงทุนจะมีกำไรกันตลอดเวลา
การลงทุนนั้นมีหลากหลายวิธี และมีแนวคิดแตกต่างกัน ยังไงถ้าใครจะทำอะไรก็ลองคิดและดูให้เหมาะสมกับตัวเองด้วย เพราะถ้าลงทุนผิดวิธี หรือทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดก็อาจจะมีล้มกันได้เหมือนกันนะครับ :)
Comments