top of page

หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9

ผมเชื่อเสมอว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 คือต้นแบบของนักปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมและยากจะหาตัวอย่างไหนมาเทียบ ยิ่งถ้าเราย้อนกลับไปมองโครงการต่างๆ ของท่านแล้วเราจะพบสิ่งอัศจรรย์มากมายจนยากจะเชื่อว่านี่คือผลงานที่เกิดขึ้นจากคนหนึ่งคน

และเอาเข้าจริงๆ หลักการทรงงานของท่าน เป็นหลักการทำงานที่เราทุกคนควรจะศึกษา เข้าใจ และนำไปปฏิบัติตาม เพราะนั่นคือหลักที่ท่านได้ทำให้เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด

บทความวันนี้ขอระลึกถึงพระองค์ด้วยการนำหลักการทรงงานที่มีหลายคนได้เขียนสรุปไว้ มารวบรวมและเผยแพร่เพื่อประโยชน์ของ “ลูกๆ ทุกคน”

*ขออภัยหากมีใช้คำราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง

1. ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ

การจะทำการใดๆ นั้น จะต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบ ทั้งจากข้อมูลเบื้องต้น เอกสารต่างๆ รวมทั้งการสอบถามจากบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้เมื่อได้ข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว เราก็จะสามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว เช่นเดียวกับการที่จะพระราชทานโครงการใดโครงการหนึ่งนั้น ก็ต้องให้ทราบรายละเอียดที่ถูกต้องและจะได้พระราชทานความช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการของประชาชนได้

2. ระเบิดจากข้างใน

การจะแก้ไขปัญหาของชุมชนต่างๆ ในประเทศนั้น จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน ไม่ใช่การเอาความเจริญจากภายนอกเข้าไปโดยที่ยังไม่พร้อม ก็เหมือนกับการที่องค์กรจะเปลี่ยนแปลงอะไรนั้น ไม่ใช่แค่การเอาเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในองค์กรทันทีทันใด แต่ต้องดูว่าคนในองค์กรที่จะใช้เครื่องมือเหล่านั้นมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด

3. ทำตามลำดับขั้น

สิ่งสำคัญของการแก้ปัญหานั้นคือการดูความจำเป็นของสิ่งที่จะทำแล้วลำดับความสำคัญ การกระทำใดๆ ควรจะทำสิ่งที่จำเป็นที่สุดก่อน เหมือนกับที่ทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นที่สุดของประชาชนอันได้แก่สาธารณสุข แล้วจึงไปสู่เรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ กล่าวคือการพัฒนาประเทศต้องมีพื้นฐานที่แข็งแรง มีความพอกิน พอใช้ แล้วจึงค่อยสร้างเสริมความเจริญชั้นสูงต่อไป

4. ภูมิสังคม

การจะพัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของบริเวณนั้นด้วยว่าเป็นอย่างไร นิสัยใจคอคนแถวนั้นเป็นอย่างไร ก็เหมือนกับการทำงานในองค์กรนั้นต้องรู้ด้วยว่าคนในองค์กรเป็นคนที่มีวัฒนธรรมแบบไหน เพื่อจะได้รู้เขารู้เราและหาวิธีที่ดีที่สุดในการทำงาน

5. ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด

การแก้ปัญหาใดๆ ไม่จำเป็นจะต้องทำให้ยุ่งยากและใช้งบประมาณเยอะ การแก้ปัญหาและช่วยเหลือราษฏรของพระองค์นั้นจะทรงใช้หลักในการแก้ปัญหาด้วยความเรียบง่ายและประหยัด ราษฏรสามารถทำได้เอง หาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์สิ่งที่มีอยู่มาแก้ไขโดยไม่ต้องลงทุนสูงหรือใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากนัก นั่นก็เหมือนกับการแก้ปัญหาในองค์กรที่จริงอยู่ว่าสามารถว่าจ้างหรือใช้เครื่องมือไฮเทคราคาแพงได้ แต่นั่นอาจจะไม่เหมาะกับคนหลายๆ คนแถมอาจจะสิ้นเปลืองโดยใช้เหตุ และหลายๆ ครั้งก็สามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องลงทุนเยอะขนาดนั้น

6. ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ

พระองค์ทรงเข้าใจในหลักธรรมชาติและต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทรงมองอย่างละเอียดถึงปัญหาธรรมชาติ หากเราต้องการแก้ปัญหาธรรมชาติ เราก็จะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ เช่นการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

7. แก้ปัญหาที่จุดเล็ก

การแก้ปัญหานั้นเริ่มจาการมองภาพรวมก่อนเสมอ แต่เมื่อเริ่มแก้ปัญหา พระองค์จะเริ่มแก้ปัญหาจากจุดเล็กๆ ที่คนมักมองข้าม เช่นถ้าปวดหัวคิดอะไรไม่ออก ต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน เพื่อให้อยู่ในสภาพที่คิดได้

8. ทำให้ง่าย

ทรงโปรดที่จะคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุง และแก้ไขงานการพัฒนาประเทศ ตามแนวพระราชดำริโดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทรงโปรดที่จะทำเรื่องยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย

9. ไม่ติดตำรา

เราไม่จำเป็นต้องผูกมัดตัวเองติดกับวิชาการหรือเทคโนโลยีที่ไมได้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แท้จริง ซึ่งก็คล้ายกับการทำงานจริงๆ ที่หากเรายึดติดกับกฏหรือกรอบมากเกินไป  ก็จะทำให้เราทำงานจริงๆ ลำบาก และยุ่งยาก จนทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ

10. ปลูกป่าในใจคน

การจะแก้ปัญหาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติได้นั้น ทรงเริ่มด้วยการปลูกจิตสำนึกรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน เพื่อให้พวกเขารักและดูแลผินป่าของตนเอง เรื่องนี้ก็อาจจะเทียบเคียงได้กับการที่เราควรปลูกฝังให้คนทำงานรักในงานที่ตัวเองทำ เพื่อที่พวกเขาจะได้รับผิดชอบและดูแลงานที่ทำด้วยความตั้งใจ หาใช่แค่การทำตามหน้าที่ไปเรื่อยๆ

11. มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นหลัก

การจะทำการใดๆ นั้นก็มีผลเกี่ยวเนื่องกับบุคคลอื่นไม่มากก็น้อย พระองค์จะคำนึงถึงผลเกี่ยวเนื่องกับประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมืองและประชาชนทุกคน และจำเป็นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ โดยเต็มกำลังสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ

12. การมีส่วนร่วม

ทรงนำ “ประชาพิจารณ์” มาใช้ในการบริหารเพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้เข้ามาร่วมกันแสดงความคิดเห็น สำคัญที่สุดคือการที่ต้องเปิดใจให้กว้าง หนักแน่น ฟังความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นอย่างฉลาด

13. ขาดทุนคือกำไร

การจะทำการใดๆ นั้นใช่ว่าจะเป็นการเสียค่าใช้จ่าย เสียเงิน เสียเวลา หากแต่การเสียเหล่านั้นคือการลงทุนเพื่อให้เกิดกำไรในอนาคต ดังเช่นที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า “เงินของรัฐบาลหรืออีกนัยหนึ่งคือเงินของประชาชน ถ้าอยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดีก็ต้องลงทุน ต้องสร้างโครงการซึ่งต้องใช้เงิน ถ้าทำไปเป็นการจ่ายเงินของรัฐบาล แต่ในไม่ช้าประชาชนจะได้ผล ราษฏรอยู่ดี กินดี ราษฏรได้กำไรไป” ในอีกนัยหนึ่งนั้น คือการเตือนเราว่าอย่ามองที่ตัวเงินมากเกินไป บางทีเราอาจจะกำไรก็ได้จากการขาดทุน

14. บริการรวมที่จุดเดียว

ทรงแปรเปลี่ยนการทำงานที่มักจะแบ่งแยกกันทำมาเป็นการร่วมมือร่วมใจโดยไม่มีเจ้าของและสามารถอำนวยประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชน จึงเกิดเป็นรูปแบบการบริหารที่เรียกว่า “บริการรวมที่จุดเดียว” และ “การบริการแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ One Stop Service

15. การพึ่งตนเอง

สิ่งสำคัญของการพัฒนาคือการให้ประชาชนสามารถอยู่ได้ตามสภาพแวดล้อมและความสามารถ “พึ่งตัวเองได้”

16. พออยู่พอกิน

การที่ทรงจะพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฏรนั้น จะเน้นให้ราษฏรมีความกินดีอยู่ดี มีชีวิตที่อยู่ในขั้น “พออยู่พอกิน” ก่อนแล้วจึงค่อนขยับขยายก้าวหน้าต่อไป

17. เศรษฐกิจพอเพียง

คือปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับครอบครัว รวมทั้งใช้ในการพัฒนาและบริหารประเทศไปในทางสายกลาง โดยหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายพในและภายนอก

18. องค์รวม

พระองค์ทรงมีวิธีคิดอย่างองค์รวม หรือมองภาพแบบ “ครบวงจร” โดยทรงจะมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปัญหาต่างๆ และแนวทางการแก้ไขเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ

19. การให้  (ทฤษฎีโดมิโน)

คือ  “ให้เพื่อให้” โดยเป็นการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน  ไม่เลือกผู้ให้  แต่ให้ในฐานะของเพื่อนมนุษย์

20. ทำงานอย่างมีความสุข

“ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น”

21. ความเพียร

การจะทำการใดๆ นั้น อาจจะต้องเจออุปสรรคมากน้อยเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากเรายอมแพ้แล้วก็คงจะไม่สามารถก้าวข้ามปัญหานั้นไปได้ ฉะนั้นแล้วเราควรมีความเพียรพยายามซึ่งจะช่วยให้เราเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากต่างๆ และจะผ่านพ้นไปได้

22. รู้ รัก สามัคคี

รู้ : คือ การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหาและรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหา

รัก : คือ ความรัก เมื่อเรารู้ครบถ้วนกระบวนความแล้ว จะต้องมีความรัก ที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้น ๆ

สามัคคี : คือ การที่จะลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กรเป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

23. ซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน

“…ผู้ที่มีคงามสุจริตและบริสุทธิ์ใจแม้จะมีความรู้น้อย ก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจรต ไม่มีความบริสุทธ์ใจ”

นอกจากนี้แล้ว ผมเชื่อว่าเรายังมีหลักธรรม หลักปฏิบัติ และคำสอนอีกมากมายจากในหลวง (และคงยากที่ผมจะหยิบมาบรรยายได้หมด) และนั่นคงเป็นหลักคำสอนที่มีค่ายิ่งหากเรานำไปปฏิบัติในชีวิตจริง

และถ้าเราปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ส่งต่อคำสอนต่อไปให้คนรุ่นหลัง

ผมเชื่อว่าท่านจะยังอยู่กับเราเสมอ และท่านจะเป็นนิรันดร์ตลอดไป

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” – พุทธวจน

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page