อย่าตัดสิน Hub Content ด้วยตัววัดแบบ Hero Content
เมื่อพูดถึงการทำคอนเทนต์นั้น หนึ่งในแนวคิดที่ผมมักหยิบมาอธิบายบ่อยๆ คือการเรื่องทำคอนเทนต์ Hero Hub Help ของทาง Google ซึ่งถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือการทำคอนเทนต์ในสเกลที่แตกต่างกัน และก็ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันตามไป โดยแต่ละประเภทก็จะมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน
สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะพูดย้ำบ่อยๆ คือเมื่อถึงเวลาจริงที่เราวัดผลคอนเทนต์นั้น คนทำงานก็ต้องรู้ด้วยว่าเรากำลังวัดผลคอนเทนต์ในแบบที่เหมาะสมกับประเภทของคอนเทนต์นั้นหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ใช่แล้วล่ะก็จะทำให้เราอาจจะประเมินผิด ก็ได้
Hero ไม่ใช่ Hub: หมัดฮุคไม่ใช่หมัดแย๊ป
ผมมักเปรียบบ่อยๆ อย่างง่ายๆ ว่า Hero Content นั้นก็เหมือนหมัดฮุคที่เราคาดหวังผลค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเราก็ทุ่มเททำ ใช้งบประมาณเยอะ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าตัว Hero Content ทำงานแล้วล่ะ มันก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจค่อนข้างมาก เช่นการสร้าง Awareness ในวงกว้างสำหรับกรณีของ Video Content ที่หวังจะเป็น Viral Video เป็นต้น
และนั่นจึงไม่แปลกที่ความคาดหวังของ Hero Content จะสูง และเราก็จะตั้ง Target ให้มันค่อนข้างเยอะเป็นพิเศษ เช่นต้องมียอดคนดูเท่าไร ยอดคนคลิกเท่าไร ฯลฯ ซึ่งเราก็จะคาดหวังในทางคล้ายๆ กันสำหรับทุก Hero Content เป็นธรรมดา
แต่นั่นก็จะต่างจาก Hub Content ที่เป็นเหมือนหมัดแย๊ปประเภทปล่อยออกมาเรื่อยๆ โดนบ้างไม่โดนบ้าง เฉี่ยวไปเฉี่ยวมาบ้าง มีโดนเป้าบ้าง ถากบ้าง แต่เรียกว่าเน้นให้ต่อเนื่อง สะสม และส่งผลระยะยาวมากกว่า
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็จะเห็นว่าการคาดหวังผลที่เกิดขึ้นจาก Hub Content นั้นจึงค่อนข้าง “เหวี่ยง” คืออาจจะมีทั้งขึ้นและลง บ้างก็อาจจะประครองแบบต่อเนื่องไปในระดับของมันซึ่งอาจจะไม่สูงมากเท่ากับเคสของ Hero Content
ซึ่งนั่นก็จะไม่แปลกอะไรถ้าเราจะกำหนด Target ให้ Hub Content นั้นน้อยกว่าตัว Hero ในระดับรายคอนเทนต์ เพราะเราก็ย่อมไม่หวังให้ยอด Reach / Engagement ของ Hub นั้นจะพุ่งพรวดแบบงาน Hero เป็นธรรมดา (และถ้าเราหวังแบบนั้นเหมือนกันก็คงไม่เข้าทีเอามากๆ)
ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องรู้ธรรมชาติของ Hub Content ด้วยว่ามันจะมีโดนบ้างไม่โดนบ้าง ผสมๆ กันไป และอาการ “เหวี่ยง” ที่ว่านี้จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องหา “ค่ามาตรฐาน” สำหรับ Target ในกลุ่มคอนเทนต์นี้ด้วย (ประเภทบอกว่าทุกคอนเทนต์ต้องได้ 100 Like อย่างต่ำ) เพราะมันก็ดูจะเป็นการตั้งเป้าหมายที่ไม่เข้ากับลักษณะของคอนเทนต์เสียเท่าไร
ที่ผมแชร์ในบทความนี้ เพราะอยากเตือนและให้คนทำคอนเทนต์ตลอดไปจนถึงคนที่ดูแลหรือบริหารนั้นเข้าใจเรื่องการตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับลักษณะของงาน เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการตีกรอบที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของคอนเทนต์ จนทำให้คนทำงานติดล็อค ทำงานไม่ได้ หรือต้องพะวงว่าจะต้องรักษายอดให้ได้ทุกชิ้นคอนเทนต์ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไรนักนั่นเองล่ะครับ
Comentarios