ออนไลน์ไม่ใช่ที่อภิสิทธิ์ให้มาทำตัวไร้มารยาท
จากวันก่อนที่เขียนบล็อกไปเรื่องการอ้างเสรีภาพออนไลน์จนกลายเป็นข้อแก้ตัวน้ำขุ่นๆ เพื่อให้ทำอะไรตามใจตัวเอง ก็มีหลายคนชวนผมคุยนอกรอบและตั้งประเด็นว่าถ้าเราเอากฏหมายเป็นบรรทัดฐานจะดีไหม?
ตัวกฏหมาย น่าจะเป็นพื้นฐานอยู่แล้วสำหรับการควบคุมพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งในโลกออนไลน์ก็มีพรบ.คอมพิวเตอร์กำกับอยู่แล้ว แต่ถ้าจะมองภาพของ “สังคม” แล้วนั้น มันก็มีอะไรมากกว่ากฏหมายที่เป็นข้อกำหนดสูงสุด เพราะเรายังมีเรื่องของจารีต ประเพณี มารยาท ซึ่งควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมอีกที ซึ่งแม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่กฏหมายที่มีบทลงโทษกำกับชัดเจน แต่มันก็เป็นข้อกำหนดที่สังคมสร้างขึ้นมาเพื่อความเหมาะสมอันดีของพฤติกรรมต่างๆ ที่อาจจะไม่ต้องถึงขั้นเป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว มารยาทต่างๆ ที่เราทำในโลกปรกติของเรา ก็ควรไปอยู่ในโลกออนไลน์ควบคู่ไปกับการใช้กฏหมายที่ดูแลความเรียบร้อยเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เราควรจะรู้ตัวว่ามารยาทต่างๆ ที่สังคมสอนกันมาว่าเป็น “มารยาทผู้ดี” นั้น แม้จะไม่ใช่ข้อบังคับแต่ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำเพื่อแสดงออกถึงความมีวุฒิภาวะและรู้กาลเทศะของตัวเอง
ไม่ใช่ว่าโลกออนไลน์จะกลายเป็นที่ที่ต้องกลัวแค่กฏหมาย แต่ไม่ต้องแคร์อะไรเรื่องมารยาทกันได้เสียเมื่อไร
อย่างที่ผมบอกไปในบล็อกก่อนหน้านี้ (และผมก็ยังยืนยันคำเดิม) ว่าสิ่งใดที่ไม่ควรทำในโลกจริง มันก็ไม่ควรทำในโลกออนไลน์เหมือนกัน โลกออนไลน์ไม่ได้เป็นพื้นที่สิทธิพิเศษให้คนแหกกฏหรือทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่แต่อย่างใด
เดี๋ยวนี้เราพบว่ามีหลายคนที่พยายามทำตัว “แหวก” หรือ “คิดต่าง” เพื่อพยายามให้ตัวเองเป็นที่สนใจ เป็นที่พูดถึง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การพยายามกระทำตัวที่แหวกขนบธรรมเนียม หรือทำตัวไร้มารยาทแล้วไม่สามารถหาเหตุผลที่เพียงพอมาคานให้ฟังขึ้นได้ ก็ไม่ต่างจากคนที่ทำงานศิลปะห่วยๆ ไร้รสนิยม หรือคนดูแล้วไม่เข้าใจ แล้วพยายามแถตัวเองว่าเป็นสไตล์ใหม่ เป็นเทคนิคใหม่นั่นแหละ
และยิ่งทำตัวไร้มารยาทเท่าไรบนโลกออนไลน์ที่เป็นสาธารณะแล้ว มันก็ไม่ได้ทำให้ตัวเองดูดีขึ้น
Comments