อุปสรรค 3 แบบที่คุณต้องเตรียมรับมือเพื่อจะไปสู่เป้าหมายที่หวังไว้
ในบรรดาพวกหนังสือพัฒนาตัวเองนั้น สิ่งที่จะพูดคล้ายๆ กันคือการพยายามมองอุปสรรคต่างๆ ให้เป็นเหมือนโอกาส บ้างก็ไม่ให้มองโลกในแง่ร้ายหรือยอมแพ้ไปเสียก่อนเมื่อต้องเจออุปสรรคที่ทำให้แผนการของขีวิตที่วางไว้ต้องเกิดปัญหา
สิ่งที่น่าสนใจคือปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ก็มีหลายประเภทอยู่เหมือนกัน ซึ่งคงจะดีถ้าเราทำความเข้าใจและรู้จักลักษณะของแต่ละประเภทเพื่อรับมือไว้ ซึ่งในรายละเอียดตรงนี้นั้น ผมขอยกแนวคิดจากหนังสือ Living in Your Top 1% มาอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นแล้วกันครับว่าอุปสรรคในชีวิตของเรานั้นมีแบบไหนบ้าง
1. Speed Bump
อุปสรรคประเภทนี้มักทำให้คุณต้องชะลอความเร็วในการไปถึงเป้าหมายของคุณ แต่ถึงกระนั้น คุณก็จะสามารถหักหลบ หรือเลี้ยวอ้อมก่อนที่จะกลับไปยังเส้นทางเดิมที่วางไว้ได้ อุปสรรคประเภทนี้มักไม่ได้สร้างปัญหาอะไรให้คุณเท่าไรนัก อาจจะทำให้คุณหงุดหงิดใจบ้าง แต่มันก็จะไม่กระทบกระเทือนอะไรกับแผนที่คุณวางไว้แต่อย่างใด ถ้าคุณเจอปัญหาประเภทนี้ก็อย่าได้รู้สึกหัวเสียหรือเครียดไปกับมัน
2. Detours
ถ้าปัญหาประเภทแรกทำให้คุณต้องชะลอความเร็วตัวเองลง ปัญหาประเภทนี้น่าจะสร้างความปวดหัวให้คุณมากขึ้น เพราะมันอาจจะทำให้คุณต้องเปลี่ยนแผนที่วางไว้ในการไปสู่เป้าหมาย เช่นอาจจะต้องไปใช้แผนสองแทน แน่นอนว่าการที่คุณต้องเปลี่ยนแผนนั้นทำให้คุณจะต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นเสียหน่อย แต่มันก็ยังทำให้คุณไปถึงเป้าหมายได้อยู่ดี (แต่อาจจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น ใช้ทรัพยากรเพิ่มขื้น)
3. Roadblocks
อุปสรรคประเภทนี้น่าจะเป็นสิ่งที่หนักใจและหลายๆ คนไม่อยากจะให้เกิดขึ้นมากที่สุด เพราะมันคือสถานการณ์ประเภททางตัน ไปต่อไม่ได้ ซึ่งมันยากมากที่คุณจะสามารถก้าวข้ามไปเว้นเสียแต่ว่าคุณมีความมุ่งมั่นและพยายามอย่างจริงๆ (แต่ก็ใช่ว่ามันจะชนะข้อจำกัดได้เสมอไป) ซึ่งพอเจอปัญหาประเภท Roadblocks เข้านั้น มันอาจจะทำให้หลายๆ คนต้องล้มเลิกความฝัน เลิกหวังเป้าหมาย หรือต้องใช้วิธีเปลี่ยนเป้าหมายแทน
จากตัวอย่างของอุปสรรค 3 แบบนี้ น่าจะทำให้เรามองเห็นภาพมากขึ้นว่าในชีวิตของเรานั้นต้องเจอกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน การทำงานก็เช่นกันที่คุณเองก็จะเจอปัญหาหลากหลายแบบ ลองนำโมเดลสามอย่างนี้มาลองเทียบเคียงแล้วพิจารณาดูก็ได้ครับว่าปัญหาที่คุณกำลังเจอนั้นอยู่ในระดับไหน และคุณเลือกวิธีแก้ปัญหาถูกหรือเปล่า
ทั้งนี้เพราะคนบางคนพอเจอปัญหาอะไรหน่อยก็จะเลิก เปลี่ยนวิธี เปลี่ยนแผน ทั้งที่จริงๆ มันอาจจะไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นนั้น แต่ในทางตรงกันข้าม บางคนก็ดื้อดึง ไม่ยอมสนใจข้อเท็จจริงทั้งที่เจอปัญหาประเภททางตันเข้าแล้ว (และนั่นทำให้หลายๆ ครั้งกลายเป็นการสูญเสียทรัพยากรโดยใช่เหตุ)
มาถึงตรงนี้ ผมเลยอยากเสริมอีกนิดว่าจริงอยู่ที่เราไม่ควรยอมแพ้ต่ออุปสรรค เราควรมองอุปสรรคให้เป็นโอกาส เผชิญหน้า และพยายามก้าวข้ามไป แต่คำที่สวยหรูนี้ก็ควรมีความคิดอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย เพราะคนที่เก่งคือคนที่รู้ว่าเขาควรจัดการกับปัญหาและอุปสรรคแต่ละอย่างที่เข้ามาอย่างไร
เพราะทุกปัญหาล้วนมีความแตกต่างกัน และนั่นทำให้วิธีแก้ปัญหาก็ไม่ได้เหมือนกันไปหมดเสียทีเดียวนั่นแหละครับ
Hozzászólások