[เคล็ดลับมนุษย์เงินเดือน] 12 – เสี่ยวก่อนเก่ง
ตอนผมเรียนละครเวทีนั้น มีวันที่รวมนิสิตทั้งเอกมาพูดคุยกัน คำพูดหนึ่งที่อาจารย์ของภาคฯ พูดออกมา (ผมจำไม่ได้ว่าใครพูด) แต่เป็นคำที่ผมจำได้จนวันนี้คือ “ต้องเสี่ยวก่อนเก่ง”
ฟังดูอาจจะเอ๊ะยังไง แต่สิ่งหนึ่งที่คนเรียนละครจะรู้กันอยู่เสมอคือการจะทำละครได้ดีนั้น จำเป็นต้องมีการลองผิดลองถูกอยู่เสมอ แม้แต่การซ้อมการแสดงเอง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่นักแสดงจะขึ้นไปเล่นแล้วเล่นได้เลย หรือผู้กำกับทำสิ่งที่ขึ้นบนเวทีได้สมบูรณ์ตั้งแต่ครั้งแรก เราต้องผ่านการซ้อม ลองผิดลองถูก พลาดแล้วทำใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก คนทำงานหลายคนรวมทั้งนักแสดงเองก็มีผิดพลาดเสียน้ำตากันมาไม่น้อย (ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น)
แต่ก็นั่นแหละครับ เพราะการที่เราเคยพลาด เคยโง่ มันทำให้เร็วเก่งขึ้นมาได้ เพราะการได้รู้ว่าเราก็พลาดเป็น ได้รู้ว่าเราโง่หรือก็คือ “ไม่รู้” ทำให้เรารู้จักที่ค้นหา รู้จักที่พยายามเติมทักษะเข้าไปให้ได้ มันเลยไม่แปลกว่าที่คนซึ่งวันหนึ่งเคย “เสี่ยว” กลายเป็นคนที่ “เก่ง” ในวันนี้ได้
วิธีคิดแบบนี้อาจจะเป็นวิธีที่ดูไม่ดีในสายตาของคนอยากดูดีสักเท่าไร แต่เป็นวิธีที่ได้ผลอย่างมากสำหรับคนที่อยากประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เรามักเจอกันตั้งแต่สมัยเรียนจนสมัยทำงานกัน คือหลายคนมักติด “มาด” หรือ “ภาพ” ของตัวเองว่าเป็นคนที่รู้ เป็นคนที่เก่ง ซึ่งอาจจะเกิดจากการสร้างภาพของตัวเองหรือฟังคนอื่นมาจนคิดไปเองก็มี ความคิดแบบนี้เลยทำให้หลายๆ คนไม่กล้าที่จะโง่ ไม่กล้าที่บอกว่าตัวเองไม่รู้
พอไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ ก็กลายเป็นน้ำเต็มแก้ว ความรู้ใหม่ๆ ที่ทำให้ตัวเองนั้น “เก่งจริง” ก็ไม่ได้ถูกเติมเข้ามา กลายเป็นหลอกตัวเองว่าเก่งไปเรื่อยๆ
และนั่นกลายเป็นหายนะเมื่อความเก่งแบบกลวงๆ นั้นสร้างความเสียหายตามมา
ฟังๆ ดูหลายคนก็บอกว่าตัวเองไม่มีทางเป็นอย่างนั้นหรอก แต่ผมบอกได้เลยครับว่ามันเกิดขึ้นง่ายกว่าที่คุณคิิด เพราะแม้แต่ตัวผมเองก็ยังเคยตกเป็นเหยื่อของความหลงตัวเองแบบนี้มาเลย โดยสิ่งที่มักทำให้เราพลาดพลั้งไปคือการคิดว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว เราทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้แล้ว เราได้รับการยอมรับจากคนอื่นๆ มีรางวัล มีเกียรติยศ ได้รับคำชมจากคนนั้นคนนี้ ของเหล่านี้กลายเป็นเหมือนต้วเสริมให้เกิด Ego และทำให้ตัวเรา “สูง” กว่าที่เป็นจริง พอเราเจออะไรที่ไม่รู้ เราก็จะเผลอคิดไปว่า “ไม่มีทางที่เราจะไม่รู้” หรือไม่ก็ “ถ้าบอกว่าไม่รู้ก็แย่แน่เลย” และถ้าหนักๆ ก็จะเป็น “นี่เราจะกลายเป็นคนโง่หรือเนี่่ย” ซึ่งนั่นกลายเป็นกระตุ้นกลไกป้องกันตัวเองให้เกิดการโต้กลับแทนที่จะเปิดรับความรู้ใหม่ๆ เข้ามา
กลไกป้องกันตัวเองแบบนี้แหละครับที่เป็นอันตรายมากกับตัวเรา ถ้าเป็นเอามากๆ ก็จะกลายเป็นว่าลืมตัวตนจริงๆ ไปเลยก็มี
ฉะนั้นแล้ว อย่าอายและอย่ากลัว (นัก) ที่จะเป็นคนผิด หรือเป็นคนที่ไม่รู้ เพราะอย่างน้อยมันก็ทำให้คุณมีโอกาสจะเปลี่ยนจากคนที่ไม่รู้ให้กลายเป็นรู้ได้
แต่ถ้าคุณตั้งกรอบไว้แล้วว่าคุณรู้มันหมด คุณก็จะไม่มีวันเติมความว่างเปล่านั้นได้
ภาพจาก: http://news.bbcimg.co.uk/
Comments