[เคล็ดลับมนุษย์เงินเดือน] 14 – ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน
จากที่เมื่อวานผมเขียนบล็อกเรื่องของการค้นหา “เกียรติ” ของตัวเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต่อเนื่องมาคือจะเห็นได้ว่าทุกคนก็ล้วนมีเกียรติในหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งนั่นก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่เราจำเป็นจะต้องรู้จักเคารพและให้เกียรติกับคนอื่นๆ ด้วย
ย้อนกลับไปสมัยผมเรียนละครเวทีนั้น หนึ่งในบทเรียนแรกๆ ที่ผมจำได้ของการทำงานละครคือเราต้องเคารพและให้เกียรติกับคนอื่นในโปรดักชั่น ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งเล็กตำแหน่งใหญ่ เราก็ต้องเคารพและให้ความสำคัญกับพวกเขาทุกคน ต่อให้คนทำแสงจะไม่ได้โผล่ออกมาบนเวที แต่เขาคือคนที่จัดแสดงให้นักแสดงและฉากออกมาดูยอดเยี่ยม ช่างแต่งหน้าก็มีส่วนสำคัญในการทำให้ใบหน้านักแสดงดูดีแทนที่จะดูหมองไม่น่าชม
แม้แต่คนกวาดพื้นโรงละครก็สำคัญไม่แพ้กันเพราะถ้าหากเขาทำความสะอาดไม่ดีแล้ว นักแสดงอาจจะประสบอุบัติเหตุได้ถ้ามีของมีคมตกอยู่บนพื้นเวที
ชีวิตในออฟฟิศเราก็ไม่ต่างกัน ทุกแผนกในบริษัท ไม่ว่าจะตำแหน่งเล็กตำแหน่งน้อยล้วนสำคัญหมด และทุกคนก็มีหน้าที่และความสามารถแตกต่างตามตำแหน่งของตัวเอง ทีมบัญชีย่อมมีความเก่งกาจในเรื่องการทำบัญชีเป็นพิเศษ ทีมออกแบบก็ย่อมชำนาญเรื่องการดีไซน์ต่างๆ ทุกแผนกล้วนมีบทบาทของตัวเองซึ่งคนอื่นๆ ก็ควรจะเคารพและให้ความสำคัญไม่แพ้กับที่ให้ความสำคัญกับตัวเอง
องค์กรก็เหมือนกับเครื่องจักที่ประกอบขึ้นด้วยเฟืองและชิ้นส่วนหลายๆ ชิ้น จะขาดชิ้นไหนไปไม่ได้ หรือถ้าหากขาดแล้วเครื่องจักรก็อาจจะติดขัด เสีย และไม่สามารถใช้งานได้
แต่สถานการณ์ที่เรามักพบกันบ่อยๆ ในออฟฟิศคือการคิดเอาว่าตำแหน่งนั้นสำคัญกว่าตำแหน่งนี้ ตำแหน่งชั้นสูงกว่าตำแหน่งเธอ ทีมเราเก่งกว่าทีมนั้น ทีมโน้นคิดได้ไม่เท่าทีมนี้ การแบ่งพรรคแบ่งพวก ยกตนเหนือคนอื่นเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นเพราะเกิดการ “ตัดสิน” และ “ประเมินค่า” ของบรรดาคนในออฟฟิศด้วยกัน
ทั้งที่ส่วนใหญ่เราพบว่าคนที่ตัดสินนั้นไม่ได้มีความรู้และความเข้าใจในบทบาทของคนที่ตัวเองไปตัดสินเลย
เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นเสียงวิจารณ์ที่สร้างรอยร้าวขึ้นในทีม เพราะฝั่งที่ถูกตัดสินก็เริ่มรู้สึกว่า “มึงเป็นใครมาตัดสินกู” วนไปวนมาอยู่อย่างนั้น
เคยมีคนพูดกับผมบ่อยๆ ว่าเราจะตัดสินว่าปลาไร้ประโยชน์เพราะปีนต้นไม้ไม่ได้ก็คงจะไม่ถูกนัก การตัดสินหรือวิจารณ์อะไรบางอย่างจำเป็นต้องเข้าใจบริบทและปัจจัยอื่นๆ สิ่งที่จะไปวิจารณ์ด้วย แต่คนส่วนมากมักเลือกจะวิจารณ์และสร้างทัศนคติกับส่วนที่ตัวเองเลือกจะมองจนกลายเป็นการมองด้านเดียวไปเสีย และนั่นทำให้เกิดพฤติกรรมหลายๆ อย่างที่นำไปสู่การ “ไม่ให้เกียรติ” เพื่อนร่วมงาน
การไม่ให้เกียรตินั้นมีมากมาย ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนไปถึงเรื่องใหญ่โตแบบทางการ สิ่งเหล่านี้มักเป็นสิ่งที่ทำร้ายคนทำงานด้วยกันจนนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่ทำให้เกิดทัศนคติแบบนั้นมีหลายอย่าง ที่มักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ คือการคิดว่า “ชั้นรู้มากกว่า” “ชั้นดีกว่า” “ชั้นเก่งกว่า” และไปตัดสินว่าอีกฝ่ายด้อยกว่าตัว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติดีกว่าก็ได้ การคิดแบบนี้เป็นอันตรายอย่างมากเพราะจะนำไปสู่การมองว่าคนอื่นๆ ไม่ได้สำคัญเท่าตัวเอง
ทั้งที่จริงๆ แล้วทุกคนก็ล้วนสำคัญกันหมดอย่างที่ได้บอกไปแล้ว
ในทางกลับกัน การให้เกียรติคนอื่นๆ กลับสร้างผลกระทบในทางที่ต่างกันไปอย่างชัดเจนมาก การให้เกียรติย่อมนำไปสู่การไว้เนื้อเชื่อใจ การรู้สึกสบายใจ วางใจที่จะทำงานด้วยซึ่งนั่นเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิด “ทีม” ขึ้นในการทำงาน และเราก็ล้วนยอมรับกันว่ามันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จ
คนเก่งคนเดียวอาจจะสร้างสรรค์อะไรบางอย่างได้ระดับหนึ่ง แต่การที่เขามีทีมที่คอยสนับสนุนและช่วยกันสร้างย่อมทำอะไรได้มากกว่าเป็นแน่ ถ้าเราเข้าใจเงื่อนไขข้อนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่าจำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่นด้วย และนั่นจำเป็นที่เราจะต้อง “ซื้อใจ” และ “เชื่อใจ” กันและกัน
การให้เกียรติ คือหัวใจเริ่มต้นของการที่นำไปสู่ความเชื่อใจ เมื่อเราเชื่อว่าทุกคนมีความสำคัญ เราก็จะมองเห็นบทบาทและความสำคัญของแต่ละคน ต่อไปจนการสร้างทัศนคติการทำงานร่วมกันและมองเห็นว่าทุกคนจะเชื่อมการทำงานกันอย่างไร
ลองเอาไปคิดดูต่อนะครับว่าทุกวันนี้ คุณให้เกียรติกับคนรอบข้างคุณแค่ไหน คุณมองพวกเขาอย่างไร
แล้วลองถามกลับว่าคุณอยากให้พวกเขามองคุณอย่างไร
เพราะถ้าคุณกลัวที่คนอื่นจะมา “ตัดสิน” หรือ “ดูถูก” คุณ แน่นอนว่าคนอื่นก็คงรู้สึกไม่ต่างกันหรอกครับ
ภาพจาก: http://s1.ibtimes.com/
コメント