top of page

[เคล็ดลับมนุษย์เงินเดือน] 15 – ทำงานให้มากกว่าหน้าที่

หน้าที่โดยตำแหน่งหรือที่เรามักจะจำคือ Job Scope หรือตัว Role & Reponsibility มักเป็นสิ่งที่หลายๆ คนยึดกันเป็นเงื่อนไขในการทำงาน ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะก่อนจะเข้าไปสมัครงานนั้น เราก็คงต้องดูส่วนนี้เป็นหลักว่าจะเข้าไปทำงานอะไรกันบ้าง

วันก่อนตอนที่ผมนั่งเขียน Job Scope ให้กับตำแหน่งงานใหม่ที่ผมจะเปิดรับเข้าทีมมันก็อดทำให้ผมคิดประเด็นหนึ่งไม่ได้ว่าทุกวันนี้การระบุ “หน้าที่” มันกลายเป็นกรอบที่ทำให้คนรู้สึกตัวเองต้องทำงานแค่นั้นหรือเปล่า?

คงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าการทำงานในทุกๆ วันนี้ของหลายๆ องค์กรนั้นเป็นเสมือนกับระบบที่คิดเอาไว้แล้วเอาคนมาลงเพื่อทำงานตามคำสั่งที่ถูกระบุเอาไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดสิ่งที่หลายๆ คนมักพูดว่าทำงานซ้ำๆ ซากๆ หรือไม่ก็ทำงานในแบบเดิมๆ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเพราะระบบของ “หน้าที่” และ “ตำแหน่ง” ออกแบบมาเพื่อแบบนั้น

แต่ว่านั่นคือขอบเขตของความสามารถหรือโอกาสที่พนักงานแต่ละคนจะมีหรือ? ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น

งานหลักๆ ของผมคือการเป็นหัวหน้าทีมดูแลความเรียบร้อยของทีม Social Medai Content ที่ Edge ฟังๆ ดูแลก็น่าจะเป็นงานประเภทประชุมคิดงาน จัดการเอกสาร ตรวจงาน ฯลฯ แต่ทุกวันนี้หลายคนจะรู้ดีว่าผมทำอะไรเยอะมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการคิดโปรเจคใหม่ๆ ให้กับบริษัท การสร้างระบบ Workshop / Training ให้กับภายในองค์กร หรือการเขียนงานอีกมากมาย ฯลฯ ทั้งหมดนี้บริษัทไม่ได้บังคับให้ผมทำ มันไม่ได้ถูกระบุไว้ในตำแหน่งงานด้วย แต่ผมกลับทำมันออกมาแถมกลายเป็นผลดีมากกับทีมของผมเองด้วย

หลายคนมักถามผมว่าทำไมผมถึงทำอะไรมากกมาย คิดอะไรต่างๆ เยอะแยะทั้งที่มันไม่ได้อยู่ใน Scope งานของผมเลยแม้แต่น้อย สิ่งที่ผมมักจะตอบพวกเขาก็คือผมไม่ได้มองว่างานของผมจะจบลงตามหน้าที่ที่ถูกระบุเอาไว้ในสัญญาจ้างงานแต่อย่างใด จริงอยู่ว่าเราจำเป็นต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด แต่มันก็ไม่ใช่ว่าตัวเรามีค่าแค่ทำงานตรงนั้นเพียงอย่างเดียว ในหลายๆ สถานการณ์นั้นเราสามารถใช้ความสามรถและทักษะของเราเพื่อสร้างอะไรใหม่ๆ โดยไม่ต้องอยู่ในกรอบของ “หน้าที่” “ตำแหน่ง” หรือ “แผนก” ของเราแต่อย่างใด

แถมนั่นอาจจะเป็นส่วนสำคัญให้เราได้เพิ่มทักษะและกระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่หลุดจากกรอบเดิมๆ ได้อีกมากมายด้วย

อย่างไรก็ตาม การทำตัวหลุดออกจากกรอบของ “หน้าที่” ย่อมแปลได้ว่างานที่เพิ่มขึ้น จึงไม่แปลกที่หลายๆ คนจะรู้สึกว่าจะทำไปทำไม บ้างก็บอกว่ามีคนอื่นทำงานส่วนนั้นอยู่แล้ว บ้างก็บอกว่าเดี๋ยวก็คงมีคนอื่นมาทำ และเลือกจะเอาส่วนที่ตัวเองทำได้ไปทำอย่างอื่นที่ไม่เหนื่อย เอาไปเวลาไปเที่ยวหรือเล่นสนุกดีกว่า

และเราก็เห็นพนักงานจำนวนมากเป็นแบบนั้น

ผมลองย้อนมาตั้งคำถามว่าถ้าเราเป็นหัวหน้าคน เป็นนายจ้าง ระหว่างพนักงานสองคนที่ล้วนทำงานได้ครบตามที่ได้รับมอบหมาย คนแรกทำเสร็จแล้วพอ ในขณะที่คนหลังพยายามหาอย่างอื่นมานำเสนอ ทดลองอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีทำงานให้ดีขึ้น บริการใหม่ หรือแม้แต่ไอเดียกิจกรรมที่ทำให้ที่ทำงานมีบรรยากาศดีขึ้น คุณว่าคะแนนประเมินของพนักงานสองคนนี้จะออกมาอย่างไรกัน?

การสร้าง “มูลค่า” ให้กับตัวเรานั้นเป็นสิ่งที่หลายๆ คนมักมองข้ามโดยมองว่าการได้มีงานมีตำแหน่งน่าจะเพียงพอแล้ว แต่จริงๆ แล้วมันยังมีหนทางอีกมากมายที่สร้าง “มูลค่า” ให้กับตัวเราเองโดยที่ไม่ต้องรออิงกับตำแหน่งงานที่รับผิดชอบเพียงอย่างเดียว แม้ว่าการประเมินผลตามตำแหน่งจะอิงกับงานที่เรารับผิดชอบ แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือแบบฟอร์มยังมีอะไรอีกเยอะที่คุณสามารถเพิ่มมูลค่าให้ตัวเองได้ไม่มีที่สิ้นสุด

การทำงานที่ดีจึงไม่ใช่แค่ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จเพียงอย่างเดียว นั่นอาจจะเป็นเพียงขั้นต้นของการประสบความสำเร็จ แต่นั่นก็ไม่ใช่ขั้นสุดท้าย ยังมีอีกหลายอย่างที่คุณสามารถเติมเต็มได้อีกมากมาย และถ้าคุณขยันเติมมันไปเรื่อยๆ วันหนึ่งคุณก็จะหันกลับมาเห็นว่าคุณไปไกลกว่าคนอื่นๆ ที่เดินด้วยวิถีปรกติ

ตัวผมเองก็เป็นแบบนั้นแหละครับ

ภาพจาก : http://home-school-coach.com/

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page