[เคล็ดลับมนุษย์เงินเดือน] 19 – อย่าพยายามเป็น Job Hopper (ถ้าไม่แน่จริง)
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผมต้องอ่าน Resume ของคนมากมายที่เข้ามาสมัครงานในตำแหน่งที่เปิดรับ ซึ่งก็ล้วนมีคนมากมายหลายประเภททั้งต่างประสบการณ์ ต่างวุฒิ ต่างความสามารถ ซึ่งก็ทำให้ต้องพิจารณาหลายอย่างเพื่อเลือกว่าจะขอให้ใครเข้ามาสัมภาษณ์ต่อไป
และด้วยการเป็นคน Scan ใบสมัครและประวัติที่ยื่นเข้ามานี่เอง ทำให้ผมสังเกตเห็นอยู่ไม่น้อยว่ามีหลายคน (ทั้งเด็กรุ่นใหม่และคนที่ทำงานมาพักหนึ่งแล้วก็ตาม) ที่มีลักษณะการทำงานแบบ Job Hopper คือทำงานที่นี่ได้แป๊ปเดียวก็ย้ายไปอีกที่หนึ่ง บางคนทำงาน 1 ปีย้ายงาน 3 -4 ที่ก็มี หรือเอาสุดแนวไปเลยก็เช่นทำงาน 1 เดือนเปลี่ยนที่ทำงานแล้ว ไม่ก็เพิ่งเริ่มงานที่ใหม่ได้ 2 เดือนก็ยื่นใบสมัครมาที่ใหม่แล้ว
ผมเองก็ไม่แน่ใจนักว่าที่เกิด Job Hopper แบบนี้นั้นเพราะอะไร แต่ก็ทำให้ผมนึกถึงที่หลายๆ คนมักพูดกันบ่อยๆ ว่าบางคนใช้การย้ายงานบ่อยๆ เพื่ออัพค่าตัว ขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง จนทำให้หลายๆ คนได้เงินเดือนสูงทั้งที่อายุงานจริงๆ ยังน้อย ที่เป็นอย่างนี้เพราะบริษัทที่ยอมให้นั้นบางทีก็เป็นบริษัทประเภทต้องการคนด่วน จำใจต้องรับคน ทำให้คนเหล่านี้ได้โอกาสเพิ่มค่าตัวตัวเองไปแบบสูงลิ่ว (บางคนเงินเดือนชนิดคนทำงานมาหลายสิบปีอย่างผมถึงกับอายทีเดียว)
ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการย้ายงานบ่อยๆ ก็คงส่งผลกับเงินเดือนอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเวลาย้ายงานทีก็คงเป็นเรื่องปรกติที่จะต้องขอเงินเดือนเพิ่ม แต่สิ่งที่หลายคนไม่ได้คิดตามมาคือเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและผิดธรรมชาตินั้นจะกลายเป็นการสร้างโซ่ตรวนในอนาคต เพราะก็คงต้องไม่ลืมว่ายิ่งค่าตัวแพงเท่าไร งานและภาระก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามมา เช่นเดียวกับการที่เงินเดือนสูงมาก การย้ายไปบริษัททางเลือกอื่นๆ ก็จะยากตามเพราะหลายที่ก็สู้เงินเดือนไม่ได้ พอเป็นเช่นนี้แล้วนัก “กระโดด” หลายคนก็ติดกับตัวเองพอถึงจุดหนึ่ง เมื่อภาระและหน้าที่นั้นยากเกินความสามารถ เพราะตัวเองก็ยังไม่ได้มีทักษะและชำนาญมากเพียงพอเนื่องจากไม่ได้ใช้เวลาพัฒนาเป็นหลักเป็นแหล่ง ครั้นจะถอยและย้ายไปที่ใหม่อีกก็ยากจะสู้เงินเดือนได้ กลายเป็นต้องแบกรับทุกข์ก้อนใหญ่ไปแทน
สถานการณ์แบบนี้ก็ย้อนกลับมาคำคมคุ้นๆ ว่าเงินไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกอย่าง แม้ว่าเงินจะเป็นเรื่องสำคัญแต่ถ้ารีบร้อนเกินไปก็อาจจะพลาดพลั้งครั้งใหญ่เอาได้
อีกประการหนึ่งที่หลายๆ คน (รวมทั้งผมเอง) จะไม่เลือกคนที่เป็น Job Hopper มาสัมภาษณ์ ก็เพราะมันสามารถตีความได้ว่าคนเหล่านั้นเสี่ยงต่อการย้ายงานได้ในเร็ววัน (หมายถึงก็ต้องเหนื่อยกับการหาคนใหม่ สอนงานใหม่อีก) นอกจากนี้แล้วหลายคนที่ย้ายงานประเภท 3 เดือนย้ายที 6 เดือนย้ายทีก็ยิ่งน่าคิดไปใหญ่ว่าได้เรียนรู้จักงานที่ตัวเองทำดีแล้วหรือยัง เพราะเราก็ต้องไม่ลืมกันว่าจริงๆ แล้วช่วง 3-4 เดือนแรกคือช่วง “ลองงาน” ที่หลายๆ ที่อาจจะเป็นแค่ช่วง “สอนงาน” แล้วยังไม่ได้เริ่มทำงานจริงด้วยซ้ำ
ในซีรี่ย์เรื่องหนึ่งที่ผมเคยดู พระเอกเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ลาออกหลังจากทำงานไปแค่ 3 เดือน สิ่งที่ตามมาคือเขากลายเป็นคนตกงานที่ไม่มีใครเรียกไปสัมภาษณ์ เขาพยายามค้นหาคำตอบอยู่นานจนพ่อของเขาสอน (แกมด่า) ว่าการที่ 3 เดือนแล้วลาออก สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีความอดทนแถมยังขาดวุฒิภาวะและความเป็นมืออาชีพที่มีความรับผิดชอบ
หลายคนฟังอาจจะบอกว่านั่นมันละคร แต่ผมก็ขอบอกว่าในเรื่องจริงมันก็คล้ายๆ กันนั่นแหละครับ ถ้าลองมองกลับมาในสถานการณ์ของการเป็นผู้ว่าจ้างแล้ว คุณจะเลือกรับพนักงานที่ย้ายงานมาเรื่อยหลายที่ ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ขอเงินเดือนเพิ่มขึ้น หรือเอาคนที่ทำงานมา 2-3 ปีต่อตำแหน่ง มีผลงานชัดเจน โดยที่ทั้งสองคนมีเหตุผลว่า “ต้องการความก้าวหน้า” หรือ “ต้องการความท้าทายใหม่ในการทำงาน”
ฉะนั้นแล้ว มันไม่ดีกับประวัติของคุณเองหากคุณเป็นประเภท Job Hopper ย้ายงานไปเรื่อยๆ เพียงเพื่อจะขอขึ้นเงินเดือนให้สูงๆ เข้าไว้ เว้นเสียแต่ว่าคุณเป็นประเภทเจ๋งจริงชนิดไปอยู่ไหนก็สร้างความสำเร็จได้แน่นอน 100% นั่นก็อีกเรื่อง เพราะถ้าคุณเข้ากรณีนี้ คุณยื่นใบสมัครไปที่ไหนและเมื่อไร HR ก็คงจะอยากเรียกคุณสัมภาษณ์เป็นแน่
คำถามง่ายๆ เช็คว่าคุณเป็น Job Hopper หรือไม่?
1. คุณเปลี่ยนงานกี่ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา?
2. เหตุผลหลักของการเปลี่ยนงานครั้งสุดท้ายของคุณคืออะไร?
3. คุณตั้งใจว่าจะอยู่ที่ทำงานใหม่ของคุณนานเท่าไร?
4. อะไรคือแรงจูงใจหลักที่คุณจะย้ายงาน?
Comments