top of page

[เคล็ดลับมนุษย์เงินเดือน] 23 – รู้วิธีทำงานกับคนแต่ละเกรด

เรารู้กันดีว่าคนเรามีหลายประเภท มีตั้งแต่พนักงานเกรด A B C ที่ต่างก็มีทักษะและทัศนคติที่ออกจะแตกต่างกันอยู่ ถ้าพนักงานเกรด A ก็จะเป็นคนที่เปี่ยมด้วยความสามารถพร้อมทั้งทัศนคติที่ยอดเยี่ยม แต่ถ้าเป็นพนักงานเกรด C ก็ออกจะเป็นคนที่ทำงานให้เสร็จๆ ไป และไม่ได้หวังจะประสบความสำเร็จมากไปกว่าที่เป็นอยู่ ความหลากหลายนี้เองที่ทำให้เราเห็นการก้าวหน้าของคนแต่ละประเภทแตกต่างกันพอสมควร

แต่ที่บล็อกวันนี้จะพูดถึง ไม่ใช่เรื่องความก้าวหน้าอะไรหรอกนะครับ แต่ผมจะพูดถึงแง่คิดเรื่องการทำงานกับพนักงานแต่ละเกรดมากกว่า ซึ่งจะว่าไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็เกิดจากแรงบันดาลใจหลังจากการรับบทที่ต้องดีลงานกับคนที่เป็นลูกค้ามาพอสมควร

หนึ่งในประสบการณ์หนึ่งที่คนทำงานในฐานะที่ต้องเจอลูกค้ามักเจอคือการพบกับ “ลูกค้าผู้น่ารัก” อันทำให้หลายๆ คนต้องรู้สึกเครียด แขยง หรือกลัวการทำงานไปเลย ในชีวิตการทำงานของผมเองนั้นก็เจอสถานการณ์แย่ๆ มาไม่น้อย ทั้งคนที่เป็นลูกค้าเอง หรือแม้แต่กระทั่งเพื่อนร่วมงานเองก็ตาม สิ่งที่ทำให้หลายๆ คนรู้สึกเหนื่อยหน่ายมากนั้นมีหลายอย่าง เช่น

  1. การใช้คำพูดรุนแรง ทั้งเชิงดูถูก ต่อว่า จนบางทีไปถึงขั้นหยาบคายเลยก็มี

  2. การบีบคั้น กดดัน และพยายามทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ รู้สึกผิด

  3. การพยายามจู้จี้จุกจิก และจับผิดในรายละเอียดเล็กๆ น้อย

  4. การอ้างบทบาทของคนสั่งงานเพื่อให้ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือยากเกินจะทำได้ในเวลาจำกัด

  5. ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่หลายๆ คนเจอแล้วถึงกับใจฝ่อแถมยังเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายๆ คนถึงกับโบกมือลาออกเปลี่ยนงานพร้อมกับเหตุผลที่มักพูดกันว่า “งานไม่ได้มีปัญหา แต่มีปัญหากับคนต่างหาก”

ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าการรับบทบาทของลูกค้านั้นต้องทำตัวอย่างไรกันบ้าง มีเรื่องเล่าให้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่าบางที่สอนให้พยายามจับผิดหรือแก้งานเอเยนซี่ / ซับพลายเออร์เยอะๆ เพื่อจะได้รู้สึกว่าใช้งานคุ้ม หรือไม่ก็ดูฉลาด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้ดีคือว่าการทำตัวอย่างนี้นั้นไม่ได้่ทำให้อีกฝ่ายอยากทำงานด้วยเลย

ทีนี้หลายคนก็คงจะบอกว่าถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็จะกลายเป็นว่าอีกฝ่ายทำงานสบาย หรือไม่ยอมทำงานให้ดี ซึ่งก็อาจจะมีส่วนจริงอยู่บ้างถ้าเรากำลังทำงานกับคนที่เหยาะแหยะ จ้องหาทางเอาเปรียบหรือตุกติก เช่นพนักงานในเกรด C เป็นต้น

แต่กลับพนักงานเกรด A แล้ว วิธีการแบบนี้ไม่ได้เป็นตัวช่วยในการรีดเร้นประสิทธิภาพการทำงานเลยแม้แต่น้อย หากแต่เป็นตัวฉุดให้อีกฝ่ายไม่อยากทำงานหรือใช้ความสามารถเลยอีกต่างหาก

ลองคิดกันง่ายๆ ครับ ว่าถ้าคุณเป็นคนมีความสามารถ มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน อยากให้งานประสบความสำเร็จ แต่ถ้าคุณเจอคนทำงานด้วยงี่เง่าใส่มากๆ หรือโต้ตอบมาด้วยมารยาทแย่ๆ แล้ว ก็คงยากที่คุณจะรู้สึกดีกับการทำงาน หรืออยากใช้ความสามารถตัวเองช่วยเหลืออีกฝ่าย มันก็เหมือนกับถ้ามีเพื่อนมาขอความช่วยเหลือคุณ เพื่อนคนที่พูดดีกับคุณ จริงใจกับคุณ คุณก็พร้อมจะยื่นมือเข้าช่วยอย่างเต็มที่ แต่ถ้าอีกฝ่ายเป็นคนประเภทไม่รักษาน้ำใจ ดูถูกคนอื่น คุณก็คงไม่อยากจะช่วยซักเท่าไร

ความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงานด้วยนกันนั้น มันไม่ใช่แค่ในฐานะของนายจ้าง-ลูกจ้าง ลูกค้า-ซับพลายเออร์ที่ผูกมัดด้วยเงื่อนไขสัญญาเพียงอย่างเดียว จริงอยู่ว่าสัญญาเป็นการบอกว่าใครจะทำงานให้ใคร แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเขาจะทำงานให้ในประสิทธิภาพไหน คนทำงานที่เก่งคือคนที่รู้ว่าอีกฝ่ายคือคนประเภทไหนและทำอย่างไรให้เขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อำนาจเข้าข่มหรือกดดันอาจจะเป็นวิธีง่ายๆ ที่คนนึกกันเพราะไม่ต้องใช้ความคิดอะไรเยอะ อีกฝ่ายจำต้องทำตามเพราะเงื่อนไข แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ถ้าคุณเจอกับคนทำงานที่เก่ง ที่มีคุณค่า คุณก็ต้องรู้วิธีจะใช้งานเขาให้เป็น ไม่ใช่จะเอาวิธีง่ายๆ แบบเดิมๆ มาใช้

เพราะไม่อย่างนั้น คุณอาจจะเสียโอกาสในการได้ทำงานกับคนเก่งๆ หรือมีคนเก่งมาทำงานให้คุณโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

Komentar


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page