เทคนิคแบ่งกองเงินออมเพื่อเก็บเงินให้เวิร์ค
“เป็นมนุษย์เงินเดือนควรรู้จักหัดเก็บเงินไว้” นั่นเป็นสิ่งที่แม่ผมพูดเสมอมาแต่ไหนแต่ไร (และเอาจริงๆ ก็ก่อนจะเป็นมนุษย์เงินเดือนเสียด้วยซ้ำ) ซึ่งจริงๆ ผมว่าพ่อแม่ของทุกคนก็คงจะสอนแบบเดียวกันว่าให้เราหัดเก็บเงินเสีย เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรก็จะได้มีหยิบใช้ได้
การอดออมเป็นเรื่องดีอยู่แล้วล่ะครับ แต่นิสัยเสียๆ ของเราก็อาจจะทำให้เราอดออมไม่เคยจะอยู่ ต้องแอบเอามาใช้โน่นใช้นี่จนที่ออมก็ดูเหมือนจะไม่ไปไหนเสียที ถ้าจะเอาหนักๆ เข้าก็ถึงขั้นออมไม่ได้เลยก็มี ผมเองก็ผ่านช่วงเวลาแบบนั้นมาเหมือนกันที่รู้สึกว่าอยากเอาเงินไปใช้โน่นซื้อนี่จนไม่ได้ออม การคิดว่าเป็นมนุษย์เงินเดือนทำให้ผมผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ ว่าจะเก็บเงินเดือนหน้าแล้วกัน สุดท้ายเอาเขาจริงๆ ก็ไม่ได้ออมเพราะเดือนถัดไปก็มีรายจ่ายเข้ามาอีก ทั้งที่ถ้าตัดรายจ่ายเหล่านั้นออกไป ผมก็สามารถมีเงินออมได้อยู่ไม่น้อยทีเดียว
หลังจากผ่านช่วงตกทุกข์ได้ยากเป็นหนี้เป็นสินพักใหญ่ๆ (ไว้ผมจะเล่าวันหลังแล้วกัน) ผมก็เริ่มตั้งใจจะออมเงินเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งแน่นอนว่าการคิดแบบง่ายๆ ของผมคือการเปิดบัญชีออมทรัพย์อีกบัญชีนอกเหนือจากเงินเดือน จากนั้นก็โอนเงินเข้าไปทุกๆ เดือน จะมากจะน้อยก็โอนเข้าไป แล้วเราก็รอดูวันที่เงินก้อนนั้นจะมากขึ้นเรื่อยๆ
ฟังดูเป็นวิธีที่พื้นฐานและโคตรจะโบราณเลยก็ว่าได้ แน่นอนว่าแรกๆ ผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไร ใช้วิธีออมแบบนี้ไปเรื่อยๆ พอมีของอยากได้ก็ดูเงินออมในบัญชีว่ามีเท่าไร สามารถถอนมาใช้ได้ไหม เงินเลยหมุนเข้าหมุนออกจากบัญชีออมทรัพย์นี้ แล้วก็วนลูปอีหรอบเดิมว่าเหมือนจะเพิ่มขึ้นไปสองสามเดือน แต่ก็หายไปอีกเพราะต้องเอาไปใช้โน่นใช้นี่
คนที่เริ่มสะกิดผมให้จัดระบบเงินออมใหม่คือครูหงที่คงจะเริ่มรำคาญว่าทำไมผมยังเก็บเงินไม่เป็นเรื่องเป็นราวสักที มันเลยทำให้ผมเข้าใจว่าการออมให้เวิร์คนั้น ไม่ใช่ตะบี้ตะบันยัดเงินเข้าบัญชีแต่เพียงอย่างเดียว แต่หากต้องจัดระบบและแบ่งเป็นกองๆ เพื่อสอดคล้องกับพฤติกรรมเราด้วย ซึ่งด้านล่างเป็นเทคนิคที่ผมปรับจากคำแนะนำของครูมา อาจจะไม่ใช่เป็นเทคนิคที่ดีที่สุดขนาดเขียนตำราออมเงิน แต่ผมว่ามันก็ให้คอนเซปต์ดีๆ เพื่อเอาไปประยุกต์ของแต่ละคนนะครับ
เริ่มต้น ผมต้องปรับความเข้าใจเสียก่อนว่าเงินออมหรือเงินเก็บนั้นมีหลายวัตถุประสงค์ แต่ก่อนเราคิดว่าเงินออมนี้คือเอาไว้เป็นเงินสำรอง มันก็เลยเป็นเงินสำรองจ่ายเวลาโน่นนี่จนไม่ได้เก็บจริงๆ จังๆ เสียที ฉะนั้นเราควรแบ่งเงินที่จะเก็บให้ชัดว่าเงินเก็บก้อนนี้เอาไว้ทำอะไร ก้อนนี้ไว้ทำอะไร และอย่าเอามาปนเป็นบัญชีเดียวกัน โดยผมแบ่งคร่าวๆ เป็นอย่างนี้ครับ
เงินสำรองใช้ อันนี้เป็นเงินเก็บที่สะสมไว้เพื่อใช้จ่ายในอนาคต คือตั้งใจไว้เลยว่านี่คือเงินเก็บไว้ใช้จริงๆ เช่น iPhone รุ่นใหม่ออก ซื้อเสื้อผ้า กินข้าวมื้อพิเศษ ตลอดไปจนรายจ่ายพิเศษที่อาจจะเกิดขึ้นจากชีวิตประจำวัน เงินก้อนนี้จะแบ่งเอาไว้ในปริมาณที่ตั้งใจไว้ว่าจะใช้ไม่เกินไปจากนี้ เช่นสมมติเงินเก็บก้อนนี้มี 20,000 บาท แต่ถ้าจะเอาไปซื้อไอโฟนซึ่งไม่พอ ก็จะไม่เอาเงินเก็บกองอื่นมาใช้ ต้องรอให้เงินกองนี้ครบเสียก่อนถึงจะเอาไปซื้อได้
เงินสำรองเที่ยว ก้อนนี้ครูหงแนะนำผมให้เก็บไว้เพื่อเป็นรางวัลกับตัวเองในการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน ครูหงให้ไอเดียผมว่าปีๆ หนึ่งเราควรออกไปท่องเที่ยว เติมแรงบันดาลใจให้ตัวเองกันบ้างสักครั้งสองครั้ง เงินก้อนนี้คือก้อนที่แบ่งไว้เพื่อกรณีนี้ ให้ตั้งใจไว้เลยว่าก้อนนี้ใช้เที่ยว ไม่ใช่เอามาเก็บเพื่ออย่างอื่น ถ้าสมมติปีนี้เก็บได้ 1 หมื่นแล้วยังไม่เที่ยว ก็เก็บไว้เที่ยวปีหน้าที่อาจจะเพิ่มเป็น 2 หมื่น สามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้ ฯลฯ
เงินลงทุน ก้อนนี้จะแบ่งไว้สำหรับคนที่อยากลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เงินก้อนนี้เน้นการเห็นผลในอนาคตระยะยาว (แต่ถ้าใครเก่งจะเล่นหุ้นเทคนิคระยะสั้นก็ไม่ว่าอะไรนะครับ) แต่เงินก้อนนี้ต้องทำใจว่าการจะได้คืนในระยะเวลาอันสั้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ควรจะเป็นเงินที่เหลือจากการเก็บสำรองไว้แล้วเพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เงินก้อนนี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการแปรกลับมาเป็นเงินสดอีกครั้ง (ขายหุ้น ขายบ้าน ฯลฯ)
เงินออมระยะยาว อันนี้คือการเก็บเงินสดสำรองไว้ในภายภาคหน้าไกลๆ อาจจะไม่ต้องเก็บทีละเยอะๆ แต่เป็นการเก็บที่ต่อเนื่อง มากน้อยแตกต่างกันได้แต่ต้องทำอยู่สม่ำเสมอ ถ้าใครนึกอะไรไม่ออกอาจจะใช้วิธีการฝากบัญชีเงินฝากประจำก็ได้เพื่อบังคับตัวเองอยู่เรื่อยๆ
ผมใช้การแบ่งเงินออกเป็นสี่ก้อนดังกล่าวนี่แหละครับ นอกจากนี้แล้ว ยังอาจจะมีเทคนิคในการแบ่งเงินอีกแบบคือการแบ่งบัญชีรายได้ประจำกับบัญชีรายได้ไม่ประจำ ทั้งนี้เพราะบัญชีเงินเดือนนั้น เราสามารถกะเกณฑ์ได้ว่าทุกๆ เดือนเราจะแบ่งเงินออกไปยังกองนั้นกองนี้เท่าไร แต่บัญชีที่มาจากงานเสริมนั้นมีรายได้เข้ามาไม่แน่นอน บางเดือนมาก บางเดือนไม่มี ฉะนั้นควรแยกบัญชีรายได้ส่วนนั้นออกไป โดยจะดีถ้าให้เงินก้อนนั้นเป็นเงินเก็บสะสมอีกกองหนึ่งที่เราจะไม่แตะต้อง
อันนี้เป็นวิธีการแบ่งเงินออมแบบง่ายๆ ของผม ต้องบอกนิดนึงว่าผมเองก็ไม่ใช่คนเก็บเงินเก่งอะไรมาก (ออกจะเป็นคนใช้เงินเก่งมากกว่า) แถมผ่านชีวิตที่ล้มเหลวเป็นหนี้เป็นสินกัน ถ้าเทียบกับเพื่อนๆ หลายคนแล้ว ผมอาจจะเป็นคนที่ไม่ได้มีทรัพย์สินหรือเงินอะไรมากเท่าเพราะผมเองก็เพิ่งจะล้างหนี้สินหมดเมื่อสักสองปีที่แล้ว เริ่มเก็บเงินจริงๆ จังๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เอง ฉะนั้นผมก็คงไม่มีหลักฐานความรำ่รวยมายืนยันว่าวิธีข้างต้นถูกต้องหรือเปล่า แต่ก็หวังว่ามันอาจจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ คนที่เริ่มเก็บเงินกันบ้างแล้วกันนะครับ
หมายเหตุ: ถ้าใครมีวิธีอื่นดีๆ ก็มาแชร์กันได้นะครับ
หมายเหตุ 2: ตอนนี้ผมก็มีโปรเจคเก็บเงินแต่งงานอยู่ด้วย ไปติดตามเชียร์กันได้ที่ http://makethedifference.org/goal/4566/view/
Comments