เทรนด์ธุรกิจ 2021 และต่อจากนี้ จาก McKinsey
หลังจากวิกฤตของ COVID-19 ทำให้หลาย ๆ คนมีการคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีหลังของ 2021 และต่อไปนั้นจะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เห็นว่าธุรกิจจะต้องปรับตัวไปในทางไหน
ในบทวิเคราะห์ล่าสุดของ McKinsey ที่ออกในเดือนก.ค. ก็มีการสรุปแนวโน้มสำคัญที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นซึ่งก็มีหลายอย่างที่น่าสนใจและเป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจ ผู้บริหารควรจะรับรู้ไว้
หมายเหตุ: อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจด้วยนะครับว่าบทวิเคราะห์นี้ใช้ข้อมูลถึงเดือนมิถุนายนและอิงจากบริบทของ USA เป็นสำคัญ ซึ่งความแตกต่างกันเรื่องบริบท ทั้งการเมืองและสภาวะด้าน COVID-19 ย่อมมีผลต่อการวิเคราะห์ได้ โดยผมจะขอหยิบประเด็นสำคัญที่น่าจะเกี่ยวกับตลาดรวมได้มาเล่าในโพสต์นี้นะครับ
1. การใช้เทคโนโลยีเข้ามาในการประกอบธุรกิจมากขึ้น
ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เกิดผลกระทบกับหลายธุรกิจ มีการปรับรูปแบบการดำเนินงานในแบบต่าง ๆ เช่นการเปลี่ยนธุรกิจ การใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรทำงาน การมีระบบการทำงานผ่านดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งนั่นทำให้องค์กรที่มีความพร้อมเรื่องนี้จะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นไปอีก และนวัตกรรมจะมีบทบาทในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลลง
2. ดิจิทัลกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (ที่เร็วกว่าเดิม)
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ว่าด้วยเรื่องของ Digital Transformation นั้นจะเร็วมากขึ้นยิ่งกว่าเดิมทั้งในภาครวมของประเทศหรือกับบริษัทย่อย ๆ โดยสถานการณ์ COVID-19 นั้นเร่งให้ Digital Transformation นี้เร่งขึ้นกว่าเดิม 3-7 ปีจากที่เคยคาดการณ์ไว้ สิ่งที่เคยมองว่าเป็นเรื่องที่โอเค ทำได้ดีในปี 2018 อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ล้าหลัง และไม่ทันใจแล้วในปี 2021 และนั่นทำให้หลายธุรกิจต้องพึงพิจารณาว่าธุรกิจของตัวเองจะอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปได้อย่างไร ซึ่งก็มีหลายธุรกิจที่ให้ความเห็นว่าโมเดลธุรกิจแบบเดิมของตัวเองอาจจะไม่อยู่รอดหลังปี 2023 และจำเป็นต้องลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น
3. พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตลอดกาลของผู้บริโภค
การซื้อของ E-Commerce มีบทบาทอย่างเห็นได้ชัดจากสถานการณ์ COVID-19 และนั่นทำให้ธุรกิจค้าขายต่าง ๆ ต้องรู้ตัว่านี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของรูปแบบการซื้อสินค้าต่อจากนี้ การคิดโมเดลการตลาดที่สอดรับกับการขายผ่านช่องทางดิจิทัลจะต้องมีความชัดเจน เช่นเรื่องการทำราคา ทำโปรโมชั่น และการบริหารรายได้จากห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนไป การทำ Omnichannel จะกลายเป็นพื้นฐานที่ต้องทำไม่ใช่ควรทำอีกต่อไป
4. การปรับแนวคิดเรื่องห่วงโซ่อุปทาน
จากเหตุการณ์คลองสุเอซและผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้หลายธุรกิจประสบปัญหาในเรื่องห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นการล่าช้าของวัตถุดิบต่าง ๆ การขาดแคลนสินค้า ปัญหาการประกอบผลิตภัณฑ์อันเนื่องมาจากการปิดตัวลงของซัพพลายเอร์ต่าง ๆ และนั่นทำให้หลายธุรกิจต้องกลับมาคิดถึงแนวทางการบริหารห่วงโซ่อุปทานว่าควรจะดำเนินการแบบเดิมที่เน้นเรื่องต้นทุนและประสิทธิภาพ และปรับมาสู่ความคล่องตัวและความยืดหยุ่นในการทำงานแทน และนั่นทำให้หลายธุรกิจพิจารณาเปิดทางเลือกของคู่ค้าต่าง ๆ สำหรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน จนไปถึงการวางโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่
5. ระบบการทำงานใหม่
รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไปหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของหลายออฟฟิศที่เลือกจะใช้การทำงานแบบ Remote มากขึ้นหรือการปรับวิถีการทำงานในออฟฟิศ ตรงนี้เองเป็นประเด็นที่ผู้บริหารและฝ่ายบุคคลจำต้องเข้ามาดูว่าหลังจากที่สถานการณ์กลับมาสู่ปรกติ (หรือดีขึ้น) แล้วนั้นจะดำเนินธุรกิจกันอย่างไร รูปแบบโครงสร้างการทำงาน การสั่งงาน ลำดับขั้นของการบังคับบัญชา หรือกระบวนการประสานงานต่าง ๆ นั้นควรจะปรับอย่างไรให้ยืดหยุ่นและเหมาะกับการทำงานในสภาพแวดล้อมใหม่ที่จะเกิดขึ้นซึ่งนั่นล้วนเป็นสิ่งที่ควรถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ในช่วง 2 ปีนี้และนำไปสู่ต้นแบบของการบริหารงานยุคใหม่ต่อจากนี้
นอกจาก 5 เทรนด์ดังกล่าวแล้ว ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีกที่น่าสนใจโดยผมได้เล่าไว้ใน Vlog จาก YouTube โดยสามารถดูได้ที่นี่ครับ
Comments