เมื่อการสร้าง Innovation Company กลายเป็นสาเหตุให้คนลาออก
วันนี้ผมได้อ่านบทความหนึ่งซึ่งจุดประเด็นเริ่มต้นเนื้อหาได้อย่างน่าคิดว่าการพยายามทำให้องค์กรมีวัฒนธรรมและกระบวนการทำงานแบบสร้างนวัตกรรม (Innovative Culture) นั้น อาจจะไม่ได้นำไปสู่ผลดีอย่างที่หลายคนคิดก็ได้ แถมเผลอ ๆ อาจจะกลายเป็นผลทำให้พนักงานหลายคนลาออกเสียด้วยซ้ำ
มุมมองดังกล่าวนั้นก็ทำให้ผมแอบงงเหมือนกันว่ามันเป็นไปได้ด้วยหรือ แต่พอผู้เขียนอธิบายออกมาแล้วนั้นมันก็ฟังดูน่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว โดยเขาได้ให้เหตุผลที่เรื่องของนวัตกรรมจะทำให้พนักงานลาออกไว้ดังนี้ครับ
1. พนักงานพบว่าพวกเขาเป็น Opeartor มากกว่า Innovator
เราต้องเข้าใจก่อนว่าคนบางคนก็มีทักษะและความสามารถที่เหมาะจะเป็น Innovator จริง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำแบบนั้นได้ บางคนอาจจะเหมาะกับการเป็นกลุ่มที่เรียกว่า Operator หรือดำเนินการให้งานสำเร็จลุล่วงมีประสิทธิภาพ ซึ่งคนสองประเภทนี้มีทักษะที่ใช้ต่างกัน และบางคนก็อาจจะไม่ได้แฮปปี้ที่จะต้องรับบทบาทที่ไม่เหมาะกับตัวเอง การที่องค์กรพยายามบิ้วท์และเร่งให้พนักงานพยายามมี Innovation Mindeset ตลอดไปจนถึงปรับการทำงานนั้นอาจจะเป็นการสร้างภาวะที่รู้สึก "ไม่เข้ากับตัวเอง" ให้กับคนที่เป็นกลุ่ม Operator ที่แม้ว่าจะเป็น Talent ก็สามารถเลือกเดินออกจากองค์กรได้เหมือนกัน
2. พนักงานค้นพบว่าองค์กรไม่ได้เป็นองค์กรนวัตกรรมจริง
ในอีกทางหนึ่ง เมื่อพนักงานรู้สึกตื่นเต้นกับการจะได้สร้างสรรค์นวัตกรรม ได้ค้นพบตัวเองว่ามีศักยภาพในการทำนวัตกรรมจากการบิ้วท์ต่าง ๆ นานา แต่ตัวองค์กรเองที่ไม่ได้พร้อมจะทำงานแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมจริงอย่างที่ได้โปรโมทไว้ การทำงานยังช้า มีขั้นตอนที่วุ่นวาย นั่นยังไม่รวมกับกระบวนการประเมินผลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งหลายองค์กรไม่ได้ปรับให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์งานด้านนวัตกรรม ทำให้ตัวพนักงานเองเนี่ยแหละที่จะรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะจะอยู่กับองค์กรนี้ และควรออกไปหาโอกาสใหม่ ๆ ที่องค์กรอื่นมากกว่า
จากสองประเด็นดังกล่าวนั้น จะเห็นได้ว่าการพยายามสร้างองค์กรนวัตกรรมนั้นฟังดูเป็นเรื่องที่ดูดีแต่ทำจริงแล้วไม่ง่ายนักเพราะมีประเด็นย่อยให้ต้องคิด พิจารณาและบริหารกันให้ดีอยู่พอสมควร หากทำออกมาโดยไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะพังเอาได้ง่ายเลยทีเดียวเชียวล่ะครับ
コメント