เรากำลังสร้าง Strategy เพื่อรองรับธงในใจของเราอยู่หรือเปล่า ?
ถ้าถามปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับ Marketing Strategy ในหลายธุรกิจนั้น หนึ่งในสิ่งที่เราเห็นอยู่บ่อย ๆ ก็คือการที่ธุรกิจสร้าง Strategy เพื่อมารองรับสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือธงที่มีอยู่ในใจ แทนที่จะคิด Strategy มาให้ดีเพื่อได้คำตอบว่าควรจะทำอะไรต่อไป
ฟังแล้วอาจจะดูงง ๆ แต่ผมลองอธิบายแบบนี้นะครับ
แบรนด์หนึ่งกำหนดว่าธุรกิจร้านอาหารของเราจะหันมาจับตลาดจีนมากขึ้นในปีหน้าเพราะเราวิเคราะห์มาแล้วว่าเทรนด์การท่องเที่ยวจะมา แถมนักท่องเที่ยวจีนมีกำลังซื้อสูง เทรนด์ของร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวจะสร้างรายได้ให้ได้อย่างมากกับธุรกิจ ทำให้ธุรกิจของเราสามารถเติบโตได้มากกว่าเดิม
กับอีกแบรนด์หนึ่งประเมินสถานการณ์ว่าธุรกิจจะเจอสถานการณ์ที่ต้นทุนสูงขึ้นและทำให้กำไรของธุรกิจน้อยลง และอาจกลายเป็นปัญหาในอนาคต ทำให้ตัดสินใจว่าจะต้องขยายตลาดออกไปมากกว่าตลาดเดิมที่มี ซึ่งหนึ่งในตลาดที่ดูมีความเป็นไปได้คือตลาดลูกค้านักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากโลเคชั่นของร้านอยู่ในบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจีนมา แถมเมนูอาหารที่มีนั้นก็เป็นเมนูที่อยู่ในความนิยมของคนจีน ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ดี
คำถามคือสองแบรนด์นี้ต่างกันอย่างไร ? อ่านดูกันแบบเร็ว ๆ อาจจะคิดว่าไม่ต่าง แต่ถ้าเรียบเรียงดูดี ๆ เราอาจจะพบว่าร้านแรกนั้นอยู่บนโจทย์ของการ "อยากได้นักท่องเที่ยวจีน" แล้วก็หาหลักการและเหตุผลมารองรับว่ากลุ่มเป้าหมายนี้ดีอย่างไร
ในขณะที่ร้านที่สองนั้นเป็นการวิเคราะห์ปัญหา ตีโจทย์ และดูความเป็นไปได้จนนำไปสู่การวิเคราะห์ว่าทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาของตัวเองนั้นคือการโฟกัสไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจีน
สำหรับหลายคนแล้ว สองอันนี้อาจจะดูไม่ต่างกัน แต่ผมมักถามต่อว่าคุณกำลังเขียน Strategy ของคุณเพื่อเอามารองรับไอเดียที่คุณอยากทำ หรือคุณกำลังทำโดยอยู่บนการวิเคราะห์ Strategy มาดีแล้วล่ะ ?
ความตลกอย่างหนึ่งของโลกการตลาดที่เราเห็นกันอยู่ในชีวิตจริงคือมีแคมเปญไม่น้อยเข้าข่ายในแบบแรก กล่าวคือเจ้าของหรือผู้บริหารอยากทำสิ่งนั้น แล้วก็ให้ทีมงานไปทำ Strategy มาเช่น "เราจะต้องใช้ TikTok กันในปีหน้า ไปทำ Strategy มา" จากนั้นทีมงานและเอเยนซี่ก็จะต้องระดมไอเดียกันมาเขียน Strategy ที่ดู "สมเหตุสมผล" ในการจะใช้ TikTok ในการตลาด
ซึ่งนั่นต่างจากการวิเคราะห์ตลาดและสถานการณ์จนเห็นช่องว่างที่สำคัญ อันตราย หรือมีความเสี่ยง แล้วทำให้เรา "จำเป็นอย่างยิ่งยวด" ที่จะต้องทำ TikTok
สำหรับผมแล้ว กลไกที่เล่ากันมาในโพสต์นี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ จนหลายทีกลายเป็นสาเหตุให้แผนพังครืนในภายหลังเพราะตัว Why ที่เราใช้เป็นแกนกลาง Strategy นั้นไม่จริงตั้งแต่ต้นนั่นแหละ
เล่าเรื่องนี้ให้ฟังกันแล้ว ก็ลองคิดกันดูว่า Strategy ที่เราบอกว่ามีกันนั้น จริง ๆ แล้วมันเข้าข่ายแบบไหนกันแน่นะครับ
#ความรู้ควรถูกส่งต่อ #marketing
Comments