เราเรียนละคร…ที่มากกว่าแค่แสดงละคร
วันก่อนผมได้เขียนบล็อกเรื่องการเรียนในคณะอักษรศาสตร์ ให้อะไรมากกว่าการเรียนภาษา นั่นทำให้ผมคิดต่อถึงคำถามที่หลายคนอาจจะชอบถามกันว่าการเรียนละครนั้น เรียนไปทำไม เรียนไปแล้วได้อะไร?
อย่างที่หลายคนอาจจะทราบมาบ้างว่าผมไม่ได้เรียนจบวิศวกรรม หรือบริหารอะไร (แม้แต่ปริญญาโทก็ยังเป็นการจัดการวัฒนธรรม ไม่ใช่การตลาดหรือ MBA อย่างที่หลายคนเข้าใจ) พอบอกว่าเรียนจบอักษรฯ หลายคนก็ทำหน้างงๆ ด้วยเหตุว่าผู้ชายที่เรียนคณะนี้ก็น้อยจนน่าใจหายแล้ว (วันหลังจะมาเขียนบล็อกเล่าชีวิตผู้ชายอักษรให้ฟังอีกที) แต่ถ้าเรียนเอกภาษาก็อาจจะพอดูมีหน้ามีตาอยู่บ้าง แต่พอถามต่อว่าผมเรียนเอกอะไร ผมก็ดันเลือกเอกศิลปการละครอีก
พอบอกว่า “ละครเวที” หลายๆ คนเลยนึกถึงการแสดง ผู้ปกครองหลายคนมองว่าคือการเต้นกินรำกิน แล้วทำไมมันถึงต้องไปเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย แถมต้องร่ำเรียนกันหลายปี บางคนอาจจะนึกสงสัยว่าเรียนกันไปทำไม เรียนแล้วทำอะไรได้
ผมจำได้ว่าเคยถูกเชิญไปพูดในกิจกรรมหนึ่งแล้วมีคนถามว่าเรียนจบละครแล้วทำอะไรได้ ผมจึงตอบกลับคำถามนั้นว่า
ก่อนจะถามว่าเราทำอะไรได้ เราควรถามก่อนว่าเรียนแล้วเราได้อะไร
สำหรับผม การเรียนวิชาต่างๆ นั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องการเรียนวิชาชีพประเภทจบไปแล้วทำงานอาชีพอะไร แต่ในหลายๆ ครั้งคือการเรียนมุมมอง ความคิด รวมทั้งสะสมทักษะหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียน
การเรียนศิลปะการละครนั้น ไม่ใช่แค่เรียนการทำละคร แต่เราเรียนมันในฐานะที่ละครคือศิลปะที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนความคิดและสื่อสารออกมา นักการละครจึงจำเป็นจะต้องวิเคราะห์และหาวิธีการสื่อสารนั้นในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบทละครแบบวรรณกรรม การแสดง การออกแบบ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องควบคู่ไปกับการเข้าใจมนุษย์ในมิติต่างๆ ที่ลึกซึ้ง
ด้วยเหตุนี้ การเรียนละครจึงไม่ใช่แค่เรียนวิธีการทำละครแบบผิวๆ เพราะการจะสร้างงานละครที่ดีได้นั้น ผู้สร้างจะต้องมีความเข้าใจแก่นแท้และเนื้อในของสารที่ต้องการจะสื่อออกมามากพอสมควร เราจึงมักเห็นเด็กละครเป็นคนที่มีกระบวนการคิดที่ค่อนข้างจะลึกซึ้ง ซับซ้อน (บ้าง) และมองในมิติซึ่งมากกว่าทั่วๆ ไป
และจากการปลูกฝังและฝึกฝนมุมมองแบบนี้เอง ทำให้นักเรียนละครนำความสามารถของการ “คิด” ไปประยุกต์ใช้กับงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตลาด โฆษณา ฯลฯ เพราะอาชีพเหล่านั้นก็ล้วนจำเป็นต้องใช้ทักษะการคิดเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อสร้างสรรค์งานออกมา
ทุกวันนี้ ผมก็ยังบอกหลายๆ คนว่าการเรียนละครสร้างให้ผมได้เป็นนักคิดที่หลากหลาย ไม่ว่าจะคิดแบบศิลปะ หรือการคิดแบบตรรกะ ซึ่งนั่นกลายเป็นส่วนผสมอันนี้ที่ช่วยผมในการทำงานอย่างมาก
แต่การเรียนละครก็ไม่ใช่แค่การรู้จัก “คิด” แบบสร้างสรรค์หรือจินตนาการเพียงอย่างเดียว การเรียนละครยังจำเป็นต้องฝึกทักษะการทำงานมากพอสมควร อย่างที่เด็กละครจะรู้กันดีว่าการทำโปรดักชั่นละครเรื่องหนึ่งนั้นยุ่งยากและสลับซับซ้อนมากแค่ไหน แม้แต่ละครโปรดักชั่นเล็กๆ ก็จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่รอบคอบ เกี่ยวโยงกับฝ่ายต่างๆ มากมาย ยิ่งถ้าเป็นการจัดงานโปรดักชั่นขนาดใหญ่ด้วยแล้ว การทำงานแบบมีระบบระเบียบพร้อมความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และนั่นก็เป็นทักษะที่กระบวนการทำละครปลูกฝังให้พวกเรามาตลอดหลายปี
เคยมีอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่าเด็กละครจะเป็นเด็กที่มีทักษะบริหารจัดการแบบ Project Management ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ สามารถมองภาพการทำงานต่างๆ ออกอย่างรวดเร็วแถมสามารถคิดได้ครบทั้งแต่เริ่มต้นจนปิดงาน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพราะการเรียนละครไม่ได้ให้ผู้เรียนทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องไปหมุนเวียนไปทำงานตำแหน่งอื่นๆ ด้วย อย่างสมัยผมเรียนนั้น ต้องทำตั้งแต่เป็นนักแสดง เป็นแผนกฉาก เตรียมอุปกรณ์ฉาก ทำไฟ ทำเสียง กำกับเวที อำนวยการ ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เรามักพูดกันขำๆ ว่าคือการทำงานบริษัทขนาดย่อม
และด้วยการทำงานแบบนั้นแหละ ทำให้เราเห็นขั้นตอนการทำงาน ระบบการทำงานแบบตำแหน่งต่างๆ วิธีการบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทาง ผมยังจำได้ว่าแม้จะเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส แต่ย้อนกลับไปแล้วผมก็อดสนุกกับการนั่งถือสมุดและบทอยู่ข้างๆ ผู้กำกับคอยจดคอมเมนต์ต่างๆ ที่ต้องคุยกับอีกหลายฝ่าย รวมทั้งการประชุมโปรดักชั่นที่แสนจะวุ่นวาย ฯลฯ ซึ่งนั่นก็กลายเป็นอีกทักษะสำคัญที่ผมมีและใช้มาตลอดการทำงานหลายปี
การเรียนละครยังมีเรื่องราวอีกเยอะที่คงเขียนอธิบายกันไม่จบในหน้าสองหน้า และการเรียนละครก็ไม่ใช่จบแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้ผมก็ยังเรียนรู้อะไรจากละครเวทีอีกมากมาย และผมก็พูดได้เต็มปากว่าการตัดสินใจเรียนละครนั้นเป็นการตัดสินใจที่ผมภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต
เหมือนที่ผมพูดกับครูใหญ่เสมอว่าที่ผมมีวันนี้ได้ ก็เพราะผมได้เรียนละครนั่นแหละครับ
เครดิตภาพ: a day ฉบับ 129 ภาพถ่ายโดย ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ
Comments