เรื่องของ “ผู้นำ” ที่ผมเรียนรู้จากภารกิจวิ่ง 4 กิโลเมตรใน 44 นาที
ช่วงนี้ที่ดีแทคซึ่งผมทำงานอยู่นั้นมีกิจกรรมที่เราเรียกว่า dtac Heart Race ที่ชวนพนักงานมามีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้กรุงเทพเป็นเมืองแห่งสัญญาณ 4G จากการประกาศของคุณซิกเว่เมื่อต้นเดือน โดยให้พนักงานจับกลุ่ม 4 คนแล้วไปวิ่งเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตรภายในระยะเวลา 44 นาที ซึ่งถ้าทำได้ บริษัทฯ ก็จะทำการปักเสาสัญญาณเพิ่มขึ้นอีก 1 จุดแถมด้วยการสร้างป้ายชื่อของพนักงานทีมนั้นที่เสาสัญญาณดังกล่าว
ฟังๆ ดูก็เป็นกิจกรรมภายในที่ล้อไปกับธุรกิจแถมทำให้พนักงานรู้สึกร่วมไปกับมันได้อย่างเข้าท่าทีเดียว
แต่ก็นั่นแหละครับ การวิ่ง 4 กิโลเมตรใน 44 นาทีอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเสียเท่าไรสำหรับพนักงานจำนวนที่ไม่เคยได้ออกกำลังกายกันเป็นชิ้นเป็นอัน (รวมทั้งผมด้วย) แต่สุดท้ายก็มีคนสมัครเข้าร่วมอย่างมากมายซึ่งผมเองก็เช่นกันที่คิดทำนองว่า “เอาวะ ลองดู”
และพอแต่ละคนเริ่มไปฝึกกันจริงๆ แล้วก็พบว่ามันก็ไม่ได้ง่ายเสียทีเดียว ตัวผมเองวิ่งครั้งแรกๆ ก็ลมจับตั้งแต่ 2 กิโลเมตร และกว่าจะวิ่งให้แต่ 4 กิโลเมตรได้ก็เหนื่อยหอบแม้ว่าจะวิ่งบนลู่วิ่งสบายๆ แถมมีแอร์เย็นช่ำในฟิตเนส
แล้วพอไปวิ่งจริงๆ บนถนนเวลาเช้าๆ ที่อากาศแบบกรุงเทพคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แน่
พอเช้าวันนี้ เป็นคิวของทีมผมที่ต้องวิ่งจริง ซึ่งก็ทำให้ผมหวั่นๆ อยู่เหมือนกันว่าจะทำได้หรือเปล่าหว่า ไม่รู้ว่าปัจจัยรอบข้างจะทำให้เราเหนื่อยง่ายขึ้นไหม กลัวจะรักษาเวลาไม่ได้และสุดท้ายก็ทำให้ภารกิจล้มเหลว ฯลฯ ความกลัวและกังวลเหล่านี้ประดาเข้ามาจนแม้แต่นาทีสุดท้ายก่อนเริ่มสตาร์ทวิ่ง
มันเต็มไปด้วยความรู้สึกที่คิดว่ามันจะเป็นเรื่อง Impossible
แต่พอเริ่มวิ่งจริงๆ ก็มีทีมงานคนหนึ่งซึ่งเป็นนักวิ่งอาชีพคอยวิ่งนำทางเรา (แน่ๆ คือกันเราวิ่งหลงทางนั่นแหละ) วิ่งอยู่ข้างหน้าไปแบบเรื่อยๆ ด้วยความเร็วที่หลายๆ คนอาจจะมองว่าช้าชนิดที่ผมเองหลายๆ ทีสามารถเปลี่ยนจากวิ่งเป็นเดินก็ยังตามทัน
และทุกคนก็วิ่ง (หรือเดิน) ตามคนที่วิ่งคนนำไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้พยายามวิ่งแซงหรือเร่งให้คนๆ นั้นวิ่งเร็วขึ้น ซึ่งก็ทำให้คนที่วิ่งมาด้วยกันทุกคนเกาะกลุ่มไปเรื่อยๆ ก่อนที่สุดท้ายเราทุกคนจะเข้าเส้นชัยไปด้วยเวลา 36 นาที
แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ใช่เวลาที่ดีที่สุด แต่นั่นก็ทำให้ทุกคนที่ร่วมวิ่งวันนี้ทำภารกิจที่ตอนแรกเราคิดว่าเป็นไปไม่ได้หรือยากนั้นได้สำเร็จ
หลังจากที่ผมพักสักครู่ ทีมต่อไปที่มารับไม้ผลัดต่อก็เตรียมตัวและถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ผมก็เอ่ยคำพูดไปว่า
“ตามพี่เขาไว้เรื่อยๆ ยังไงเราก็ไปถึงเส้นชัยได้ทันเวลา”
และนั่นทำให้ผมฉุกคิดอะไรได้ว่านี่แหละคือหนึ่งในบทบาทที่สำคัญของผู้นำเพื่อทำให้ภารกิจต่างๆ สำเร็จได้
ใช่ครับ ลองมาคิดดูว่าถ้าปล่อยให้พนักงานดีแทคที่ต่างคนต่างไม่เคยวิ่งกันจริงจัง มาจับทีมแล้ววิ่งกันเองแบบไม่มีใครคุม สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือต่างคนต่างวิ่งด้วยสปีดแบบตัวเอง บางคนอาจจะคึกวิ่งเร็วกันตั้งแต่ต้นแล้วลมจับกันกลางทาง บางคนก็อาจจะไม่รู้จังหวะ วิ่งเฉี่อยๆ จนไปถึงเป้าหมายไม่ทัน และทำให้ภารกิจล้มเหลว
แม้ว่าพี่คนนำอาจจะไม่ได้หันมาพูดคุยหรือบอกอะไรกับพวกเรามากตลอดทาง แต่สิ่งที่เขาทำอยู่เสมอคือการเป็นคนนำและคุมจังหวะให้กับพวกเรา และทำให้เราโฟกัสไปที่จุดสำคัญๆ เพียงจุดเดียว นั่นคือ “วิ่งตามเขาไป” โดยไม่ต้องไปพะวงว่าตอนนี้วิ่งเร็วไปไหม เราหลงทางหรือเปล่า ฯลฯ
และเขา ซึ่งเป็นคนคุมจังหวะต่างๆ ก็รู้ดีว่าด้วยจังหวะแบบนี้ ความเร็วแบบนี้ จะทำให้ทุกคนถึงที่หมายด้วยเวลาที่กำหนด และทำให้ทุกคน “ประสบความสำเร็จ”
ซึ่งนั่น อาจจะเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของผู้นำที่จะพาทีมงานผ่านภารกิจไปด้วยกัน
ถามว่าพี่คนข้างหน้านั้นวิ่งเร็วกว่านี้ได้ไหม ผมเชื่อว่าเขาทำได้ด้วยการที่เขาเป็นนักวิ่งอยู่แล้ว เขาอาจจะทำเวลาได้ดีกว่านี้มาก แต่เขาเลือกจะวิ่งช้าๆ เพื่อให้ทุกคนเกาะกลุ่มกันได้ และจังหวะของเขานั้นก็ทำให้ทุกคนเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไม่สะดุด แต่ถ้าเขาวิ่งสนแต่ตัวเขาคนเดียว นำไปไกล คนข้างหลังก็อาจจะต้องฝืนตัวเองจนลมจับเอาได้ และถ้าหนักๆ เข้า คนที่ตามมาทีหลังแล้วมองไม่เห็นคนอื่นๆ ประเภทโดนทิ้งห่างก็คงถอดใจและถอนตัวเองด้วยเช่นกัน
ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องไม่สลับซับซ้อนอะไร แต่นี่แหละครับชีวิตจริงในการทำงาน ถ้าผู้นำขององค์กรตะบี้ตะบันพุ่งไปข้างหน้าโดยที่คนอื่นในบริษัทไม่ได้อยู่ภาวะหรือมีพลังแบบเดียวกัน ก็อาจจะเกิดสถานการณ์ที่บางคนจะฟ่อ ท้อและถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง เผลอๆ จะกลายเป็นตัวถ่วงไปได้
มันเลยเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้นำทีม จะต้องมองให้ออกว่าทำอย่างไรและ “นำอย่างไร” ให้คนในทีมบรรลุเป้าหมายไปด้วยกันได้
ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้น ทุกคนก็จะมีความสุข รู้สึกประสบความสำเร็จด้วยกัน และสร้างพลังเพื่อรับความท้าทายใหม่ๆ ได้อีกมากโขเลยทีเดียว
Comentarios