top of page

เสพติด Like และ Follower

พอดีวันนี้ระหว่างทำงานๆ อยู่ ได้มีโอกาสทวีตโต้ตอบกับ @announzer เรื่องของทัศนคติเกี่ยวกับ Follower ในโลก Twitter และโยงมาสู่เรื่องของจำนวนไลค์ในโลก Facebook ด้วย

ผมจำได้ว่าตอนที่อ่านหนังสือ “ตรวจภายใน” ของ @roundfinger นั้น มีบทหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบ เพราะคุณเอ๋ได้วิเคราะห์เรื่องพฤติกรรมที่เริ่มเปลี่ยนไปของคนหลังจากที่เรามี Facebook หรือ Twitter เราเริ่มให้ความสนใจกับการกดไลค์ กดแชร์ หลายๆ ครั้งที่เราพิมพ์ข้อความหรือตั้งโพสรูปใดสักรูปแล้วก็อดไม่ได้ที่จะคอยมาเช็คว่ามีใครมากดไลค์บ้าง ถ้าไม่มีใครมากดเลยอาจจะทำให้เรารู้สึกแป้วๆ หรืออาจจะผิดหวังกันได้เลยทีเดียว

ที่พูดมาเนี่ยบางทีผมเองยังเป็นเลยครับ ที่มอยคอยลุ้นว่าจะมีใครมากดไลค์หรือคอมเมนต์สเตตัสที่เพิ่งอัพเดทไป (ทุกวันนี้สเตตัสที่ทำสถิติคนกดไลค์เยอะสุดของผมคือสเตตัสเรื่องเลิกบุหรี่ของผม ส่วนโพสต์ที่คนมากดไลค์เยอะสุดคือโพสต์ที่ผมขอชิงชิงแต่งงาน ^^”)

ผมตั้งข้อสังเกตกับ @announzer ว่ามนุษย์เรามีจิตวิทยาพื้นฐานอยู่แล้ว ที่จะต้องการยอมรับจากคนรอบข้าง หรือไม่ก็การยอมรับจากสังคม การกดไลค์ การกด RT เป็นเสมือนกับสัญลักษณ์ใหม่ที่เข้ามาบอกเราว่าการกระทำของเรานั้ได้รับการยอมรับจากใครบ้าง และถ้าพูดไปถึงจำนวน Follower ใน Twitter หรือจำนวนแฟนใน Facebook Page ก็อาจจะไปในทางเดียวกัน คือเป็นตัวเลขที่เราอนุมานว่ามีคนเห็นด้วย ยอมรับ หรือติดตามเรา

จะว่าไปแล้ว การคิดว่ามีคน “ยอมรับ” เรานี่แหละ ที่ผมมองว่าบางทีอาจจะกลายเป็นอันตรายโดยไม่รู้ตัว มันอาจจะกลายเป็นภาพลวงตาที่บอกคนๆ นั้นว่ามีชื่อเสียง มีคนชื่นชอบชื่นชม จนอาจจะเผลอคิดว่าตัวเองมีความ “ชอบธรรม” ในการทำอะไรต่างๆ เพราะมีคนจำนวนหนึ่งที่คอยสนับสนุนตน

ฟังอาจจะเหมือนเป็นเรื่องคิดเกินไป แต่เชื่อเถอะครับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เพราะถ้าเราสังเกตุบรรดา Newsfeed หรือ Timeline อยู่บ่อยๆ แล้ว หลายๆ ครั้งที่เราอาจจะพบว่าบรรดา “เซเลบ” หรือบรรดา “Influencer” พูดอะไรบางอย่างที่ขัดหูขัดตา หรืออาจจะไม่เหมาะสมกันอยู่บ่อยๆ

และนานวัน เราก็เริ่มเห็นการตัดสินค่าของคนกันที่จำนวนไลค์ จำนวนคนตาม ฟังแล้วเป็นเรื่องน่าสลดมันก็มีจริงๆ ที่จะเกิดการเปรียบเทียบกันว่าใคร Follower เยอะกว่าใคร ใครตั้งสเตตัสแล้วมีคนไลค์เยอะกว่ากัน ใครโพสต์รูปใน Instagram แล้วคนกดไลค์เยอะ กลายเป็นว่าเรากำลังเริ่มมาประเมินค่าของคนกันที่ตัวเลขจาก Social Network เหล่านี้ไปโดยปริยาย

จริงๆ แล้ว ผมว่ามันก็คงไม่แปลกอะไรถ้าจะมีคนพยายามประเมินค่าของคนออกมาเป็นตัวเลข โดยเฉพาะในยุคที่การตลาดพยายามมองหา Influencer เข้ามาช่วยในการทำกิจกรรมทางการตลาด ยิ่งมีตัวเลขที่วัดผลได้ยิ่งกลายเป็นตัวเลขที่นักการตลาดสามารถเอาไปยืนยัน วิเคราะห์ หรือพรีเซนต์บนหน้าจอยามที่ต้องประเมินผลงานต่อผู้บริหาร และก็ไม่แปลกอะไรที่หลายๆ คนเลยเอาจุดนี้มาตั้งเป็นจุดประสงค์ในการ “ปั้น” ตัวเอง เพื่อที่จะสามารถพาตัวเองไปสู่แนวหน้าของมวลชนที่อยู่ในโลกของสังคมออนไลน์

สารภาพตามตรง ผมเองก็เคยคิดแบบนั้นเหมือนกัน

ในทุกๆ วันนี้ โลกที่เราเห็นหลายๆ อย่างแปรตัวเองมาสู่การเป็นข้อมูลทางดิจิตอล กลายเป็นตัวเลขที่สามารถวัดผลได้ ผมมักตั้งคำถามว่ามันคือการวัดผลที่ถูกต้องแน่หรือ? มันสามารถพิสูจน์คุณค่าของมันจริงๆ หรือไม่? มันสามารถพิสูจน์ตัวตนของคนที่เป็นเจ้าของตัวเลขนั้นจริงๆ หรือเปล่า? หรือมีเพียงเราที่เสพติดมันโดยหลงไปกับสิ่งที่มันพยายามตีมูลค่าเรา

จำนวนไลค์ จำนวนแชร์ จำนวนคอมเมนต์ จำนวนคนตาม แท้จริงแล้วบอกอะไรกับเรากันแน่ เราควรจะใส่ใจมันแค่ไหน จากเดิมที่เราแค่ต้องการจะสื่อสารกับเพื่อน อยากจะแชร์เรื่องราวดีๆ กับคนรอบข้าง อยากจะเผยแพร่ข้อมูลกับสาธารณะ ไฉนเราถึงเปลี่ยนจุดสนใจไปมองเรื่องตัวเลขที่เราโดนบอกว่ามันคือการ “ตอบสนอง” จนนำไปสู่การกระหายตัวเลขเหล่านี้เอามาอวดอ้างต่างๆ นานา

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว จุดประสงค์ของการเล่น Social Network อาจจะไม่ใช่เพียงเพื่อจะ “เชื่อมต่อ” กับเพื่อนๆ และคนรู้จักอีกต่อไปแล้วละมั้ง หากแต่เป็นเพื่อการยกตนข่มคนอื่น หรือไม่ก็สนองตัวเองที่จะได้รู้สึกว่าถูกยอมรับ มีชื่อเสียง มีอำนาจ ซึ่งก็คงต้องน่าเป็นห่วงไม่น้อยว่านั่นคือทิศทางที่เราควรจะไปจริงๆ หรือไม่?

ก็ฝากเอาไปคิดกันนะครับ

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page