top of page

เหตุผลที่คุณควรระวังถ้าจะมองเรื่อง “ค่าเฉลี่ย” และ “ค่ามาตราฐาน” บน Digital

ตั้งแต่เราทำงานการตลาดดิจิทัลกันมานั้น เราก็ได้เห็นตัวเลขมากมายบนแพลตฟอร์มต่างๆ แล้วก็มีการเก็บรวบรวมสถิติจากหลายๆ แห่งเพื่ออธิบายภาพรวมหรือชี้ให้เห็นเทรนด์ต่างๆ ว่าแบรนด์และธุรกิจต่างๆ บนโลกออนไลน์นั้นทำอะไรกันไปบ้าง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาและกลายเป็นคำถามยอดฮิตกันอยู่บ่อยๆ คือเรื่องของค่าเฉลี่ย หรือค่ามาตรฐาน ประเภทว่าค่าเฉลี่ยของ Engagement ของอุตสาหกรรมนี้อยู่ที่เท่าไร จำนวน Follower เฉลี่ยของแบรนด์บนช่องทางนี้อยู่ที่เท่าไร นั่นยังรวมไปถึงการมองดูว่ายอดตัวเลขในมุมต่างๆ เช่นจำนวนแฟน จำนวน Reach ของสูงแค่ไหน

จะว่าไปมันก็ไม่แปลกหรอกครับเพราะตัวเลขเป็นสิ่งที่ง่ายกับการจับต้องและเราก็จะคุ้นเคยกับการมาเปรียบเทียบกันอย่างรวดเร็ว

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะเตือนหลายๆ คนที่พูดคุยบ่อยๆ คืออย่าให้สถิติเหล่านี้มาทำให้หลงทางหรือเบี่ยงประเด็นจนลืมเป้าหมายจริงๆ ของการตลาดที่ทำอยู่

สาเหตุหนึ่งที่ผมมักให้ระวังเวลาพูดเรื่องค่าเฉลี่ยอะไรนั้น เพราะเอาจริงๆ การใช้ประเภทนับรวมทุกแบรนด์มาบวกกันแล้วหารก็มีการตีความที่สุ่มเสี่ยงยู่เสียหน่อยถ้าจะบอกว่านั่นคือ “ค่ามาตรฐาน” หรือประเภทที่หลายคนเอาไปตั้งเป็น KPI ว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งตลาด

ทั้งนี้เพราะเราไม่รู้ว่าไอ้ค่าเฉลี่ยดังกล่าวนี้มันมีพื้นฐานมาจากอะไร กลยุทธ์ของแต่ละแบรนด์แต่ละเพจที่ใช้สร้างฐานผู้ติดตามหรือสร้าง Engagement นั้นคืออะไร ซึ่งพอเป็นแบบนั้นมันจะเอามาเทียบกันแบบ Apple-to-Apple แทบไม่ได้เลย

ตัวอย่างที่ผมยกบ่อยๆ คือถ้าเพจ A-B ปั้มแฟนประเภทใต้ดินมาจนยอดแฟน 100,000 คน ในขณะที่เพจ C ทำฐานแฟนแบบปรกติ ทำโฆษณาโปรโมทแบบเน้นกลุ่มเป้าหมายได้แฟนมา 40,000 คน แต่พอหาค่าเฉลี่ยแล้วกลายเป็นว่าค่าเฉลี่ยของทั้งตลาดคือ 80,000 คน และเพจ C ซึ่งพยายามสร้างฐานแฟนคุณภาพกลายเป็นตก KPI ไป

คำถามคือแบบนี้แปลว่าเพจ C ไม่ได้มาตรฐานหรือเปล่า?

และเรื่องแบบนี้ก็เอาไปคิดแบบเดียวกันกับอีกหลายๆ ตัวเลขแหละฮะ ไม่ว่าจะเป็น Like, Comment, Share หรือค่า Engagement ยันไปถึงเรื่อง Click-through rate อะไรก็แล้วแต่

ปัญหาเหล่านี้ก็เพราะถ้าเราวิเคราะห์สถิติและเข้าใจองค์ประกอบกันได้ไม่ครบถ้วนแล้ว เราอาจจะเกิดการตีความแลัวเข้าใจบางอย่างผิดไปเลยก็ได้

บล็อกวันนี้ ผมเขียนขึ้นเพื่อเตือนนักการตลาดบางคนที่อาจจะใช้วิธีคิดแบบ “Shortcut” จนลืมมองว่าองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่อยู่เบื้องหลังตัวเลขต่างๆ นั้นส่งผลมากน้อยแค่ไหน และเราสามารถจะอ้างอิงตัวเลขนี้ได้จริงหรือเปล่า

ที่สำคัญคือเราอย่าได้สนใจตัวเลขเหล่านี้มากนักหากมันไม่ได้อธิบายว่ามันจะไปตอบโจทย์ธุรกิจของคุณได้อย่างไร มันสะท้อน Strategy ของคุณอย่างไร (หรือที่หนักคือบางคนยังไม่มี Strategy กันเลยด้วยซ้ำ)

ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าเราโดนตัวเลขเหล่านี้หลอกเอาได้ง่ายๆ นั่นแหละครับ

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page