แชร์ประสบการณ์การลงโฆษณา Instagram ครั้งแรกในไทย
อย่างที่รู้ๆ กันว่า dtac ซึ่งผมทำงานดูแลเป็น Online Marketing อยู่นั้นเป็นแบรนด์แรกในไทยที่ลงโฆษณาใน Instagram เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นทำให้มีหลายๆ คนเข้ามาสอบถามผมเรื่องการลงโฆษณารวมทั้งข้อมูลอีกมากมาย บล็อกนี้เลยขอรวบรวมเรื่องที่พอจะเล่าได้มาเล่าสู่กันฟังนะครับ
1. การลงโฆษณา
อย่างที่หลายคนอาจจะพอทราบคือแม้ว่าตอนนี้จะมีหลายๆ แบรนด์ซื้อโฆษณาใน Instagram กันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น dtac Lazada AirAsia ฯลฯ แต่นั่นก็ยังเป็นระดับแบรนด์ใหญ่ซึ่งมีการติดต่อผ่านทาง Facebook และ Digital Agency ที่ดูแลให้แบรนด์นั้นๆ แน่นอนว่าตอนนี้ผู้ทำธุรกิจรายย่อยอาจจะยังไม่สามารถซื้อโฆษณาเองได้ (แม้ว่าหลายๆ คนอาจจะบอกว่าเห็นเมนูใน Power Editor แต่มันก็ยังซื้อไม่ได้อยู่ดี) แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาณที่น่าจะพอมีอยู่ก็พอเดาๆ ได้ว่า Facebook น่าจะเปิดให้ลงโฆษณาได้มากขึ้น หลากหลายมากขึ้น และเข้าถึงธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่นั่นแหละครับ
และจากการแถลงข่าวล่าสุด เราคงจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นในตอนสิ้นเดือนนี้ อย่างไรก็รอติดตามอัพเดทกันอีกที
2. การทำงานชิ้นงานโฆษณา
การทำโฆษณาบน Instagram นั้นมีหลายรูปแบบ จะเอาแบบง่ายๆ คือรูปภาพเฉยๆ ก็ได้ แต่ก็คงไม่มีใครจะอยากทำสักเท่าไร ซึ่งเชื่อว่าได้ว่าแบรนด์ต่างๆ คงให้ความสนใจกับการทำชิ้นงานที่ครีเอทีฟมากขึ้น เช่นเป็น Cinemagraph (ภาพนิ่งผสมกับภาพเคลื่อนไหว) การทำ Carousel (ภาพที่สามารถเลื่อนๆ ได้) หรือการทำ Video Ad ที่จะรองรับวีดีโอยาว 30 วินาทีได้ เช่นเดียวกับการทำ Link Ad (ไว้ผมจะเขียนบล็อกสรุปอีกทีว่ามีแบบไหนบ้าง มีเคสไหนน่าสนใจบ้างนะครับ)
ความท้าทายอย่างหนึ่งคือการที่จะต้องดีไซน์งานครีเอทีฟให้เหมาะกับ Formar ของ Ad ที่จะต่างจากภาพปรกติ ซึ่งนั่นก็ต้องยกเครดิตให้กับเอเยนซี่ที่ดูแลในการตีโจทย์และดูว่าจะสามารถนำ Brand Message / Communication มาลงใน Format นี้ได้อย่างไรบ้าง
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมและจากเคสในต่างประเทศที่ผมดูมานั้น งานที่ค่อนข้างจะได้รับเสียงตอบรับดีมักจะไม่ใช่งานประเภท “ขาย” แต่เป็นเรื่องการสร้าง Brand Storytelling หรือไม่ก็ Product Experience ผ่านคอนเทนต์ใน Instagram และใช้เงื่อนไขของ Format ใหม่ๆ ใน Instagram Ad สร้างความแตกต่างจากคอนเทนต์ทั่วๆ ไปที่เห็นใน Instagram
ผมมักจะหยิบ Instagram มาเล่าเวลาสอนเรื่อง Digital Communication บ่อยๆ เนื่องจากมันมี “ภาษา” ของมัน พูดง่ายๆ คือคนทั่วๆ ไปไม่ได้คาดหวังว่าจะเห็นโฆษณาของแบรนด์ประเภทแบนเนอร์หรือฮาร์ดเซลเข้ามาใน News Feed ของตัวเอง ฉะนั้นคนจะดีไซน์คอนเทนต์ไม่ว่าจะเป็น Daily Feed หรือ Ad ก็ต้องคิดเรื่องนี้เยอะๆ เพราะไม่อย่างนั้นคนก็จะมองข้ามคอนเทนต์เราได้อย่างรวดเร็วเพียงแต่เลื่อนหน้าจอเท่านั้น
3. การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
แน่นอนว่า Instagram อาจจะไม่ได้มีผู้ใช้เยอะมากเท่ากับ Facebook แต่ก็เป็นหนึ่งใน Social Media ที่มีคนใช้มากอันดับต้นๆ แถมมีนิสัยการใช้งานเฉพาะ มันเลยไม่แปลกที่มันต้องเป็นช่องทางซึ่งนักการตลาดไม่สามารถมองข้ามได้ การซื้อโฆษณาบน Instagram นั้นสามารถทำ Targeting ได้ในระดับหนึ่งแต่ก็ยังไม่ได้ Advance และสามารถใช้ Interest ได้เยอะเท่ากับ Facebook Ad ซึ่งก็คงต้องรอดูว่า Facebook จะอัพเดทเรื่องนี้อย่างไรในอนาคต นอกจากนี้ก็ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งนั่นคือซื้อแบบให้คนเห็นเยอะที่สุด เรียกได้ว่าเป็นการซื้อ Reach แบบ Mass Awareness เลยก็ว่าได้
ชอบแบบไหนอย่างไร ก็รอตอนที่เขาเปิดให้ซื้อแล้วกันนะครับ
3 เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องที่ผมพอจะเล่าให้ฟังได้ (ซึ่งจะว่าไปบรรดาเอเยนซี่ก็รู้เรื่องนี้อยู่บ้างแล้ว) แต่ก็เอามาเล่าให้ฟังสำหรับคนที่ยังไม่รู้แล้วกันฮะ ^^
Comments