แบรนด์จะเตรียมตัวและรับมืออย่างไรกับกฏหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่?
เรื่องที่เชื่อว่าคนออนไลน์คงถกกันจริงจังมากในช่วง 2-3 วันนี้คงไม่พ้นเรื่องกฏหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา แน่นอนว่าการตีความด้านกฏหมายและเงื่อนไขต่างๆ นั้นยังเป็นที่ถกเถียงอยู่พอสมควรเช่นเรื่องการ Embedded จาก YouTube ไม่ได้ หรือการแชร์ Link / Player ลงบน Facebook Page ก็ยังไม่ได้ ฯลฯ (อันนี้คงต้องรอดูว่าจะถกเถียงกันไปสู่บทสรุปอย่างไรนะฮะ)
ทีนี้ผมเชื่อว่าที่น่าจะโดนผลกระทบแน่ๆ คือบรรดาแบรนด์ เจ้าของร้านค้า หรือเจ้าของเว็บต่างๆ ที่ส่วนมากเป็นนิติบุคคล (หรือแม้แต่บุคคลแต่ใช้คอนเทนต์เชิงพาณิชย์) ซึ่งก็อาจจะต้องกุมขมับว่าจะบริหาร Facebook Page หรือ Web กันอย่างไรดี ส่วนหนึ่งเพราะก่อนหน้านี้เราอาจจะคุ้นเคยกับการทำคอนเทนต์โดยใช้เนื้อหาหรือรูปภาพจากแหล่งต่างๆ มาประกอบการสร้างคอนเทนต์
ต้องออกตัวก่อนว่าผมเองก็ไม่ใช่นักกฏหมายและคงไม่ได้เก่งเรื่องการตีความกฏหมายมากนีก แต่เอาเป็นว่าข้างล่างนี่คือการเตรียมตัว / ปรับตัวที่ผมแนะนำสำหรับแบรนด์ที่ต้องอาศัยคอนเทนต์ในช่องทางออนไลน์แล้วกันนะครับ
1. ยอมรับเรื่องต้นทุนในการซื้อคอนเทนต์ลิขสิทธิ์
เรื่องรูปภาพน่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกหยิบมาเป็นประเด็นมากที่สุดเพราะมีการถกเถียงเรื่องการก๊อปรูป การขโมยรูป ฯลฯ ทางที่ดีคือไม่ว่าคุณจะเป็นรายเล็กรายใหญ่อะไร รูปภาพต่างๆ ที่เอามาใช้ในคอนเทนต์นั้นควรจะเป็นรูปภาพที่คุณรู้และมั่นใจได้ว่า “ถูกลิขสิทธิ์” ซึ่งทางที่ดีก็คือมีการซื้ออย่างถูกต้องนั่นแหละ
หลายคนอาจจะบ่นว่าต้นทุนเหล่านี้จะสูงขึ้นแต่เชื่อเถอะครับว่ามันคุ้มค่ากว่าการที่คุณจะมาโดนฟ้องร้องค่าเสียหายในภายหลัง แต่สิ่งที่ต้องเลิกทำคือการก๊อปภาพจากเว็บต่างๆ มาแล้วให้เครดิตซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง (ผมเองก็ทยอยๆ ซื้อรูปและไล่เปลี่ยนรูปในบล็อกเก่าๆ ไปพอสมควรจากเรื่องนี้นะครับ)
2. ลงทุนผลิตคอนเทนต์เอง
อีกวิธีที่ผมมักแนะนำคือการที่เราลงมือสร้างคอนเทนต์เองเลย เช่นไปถ่ายรูปเอง หรือดีไซน์ Artwork ขึ้นมาเอง (ถ้ามีแรงงานพอที่จะทำได้น่ะนะ) แน่นอนว่าวิธีนี้ย่อมมาด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ข้อดีคือคุณก็คงสบายใจเป็นไหนๆ เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างๆ ก็คือตัวคุณนั่นแหละ
3. ทำความเข้าใจสำหรับทีมงานที่เกี่ยวข้อง
ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นคือคนทำคอนเทนต์ที่เป็นระดับปฏิบัติการหลายคนก็ยังไม่ได้เข้าใจ (หรือบางทีอาจจะยังไม่ได้รู้เรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ) ฉะนั้นจึงควรมีการเรียกทีมงานที่เกี่ยวข้อง จะเอเยนซี่ ฟรีแลนซ์ ฯลฯ มาทำความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อน คนดูแลเพจต่างๆ ก็ต้องรู้เงื่อนไขว่าคอนเทนต์ไหนโพสต์ได้หรือไม่ได้ และรีบปรับวิธีการทำงานให้เร็วที่สุด
4. ไม่ต้องถึงขั้นกลัวเกินไป
ผมเชื่อว่ากฏหมายใหม่นี้อาจจะทำให้หลายๆ คนกุมขมับหรือกลัวว่าทำไอ้โน่นจะผิดไหม ทำไอ้นี่จะผิดหรือเปล่า เอาจริงๆ ถ้าเราไม่ได้ไปทำอะไรเสี่ยงๆ ประเภทก๊อปคอนเทนต์เขามาโพสต์ ไปดูดวีดีโอนั้นมาใช้ ไปลอกข้อความมาจากคนนั้น มันก็ค่อนข้างจะเซฟอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือคุณต้องรู้ว่า “องค์ประกอบของคอนเทนต์” ที่คุณจะเผยแพร่นั้นคลีนแค่ไหน (ถ้าคุณเป็นพวกสร้างแบบ Original Content ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรอยู่แล้วล่ะฮะ)
นั่นคือความคิดเร็วๆ ของผมจากการนั่งอ่านข้อมูลเรื่องกฏหมายลิขสิทธิ์ในวันนี้ อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าคงมีการถกเถียงและตีความเรื่องนี้กันอีกพอสมควร ซึ่งถ้ามีอัพเดทอะไรก็จะมาเล่ากันต่อนะครับ
ปล. รูปข้างบนก็ซื้อลิขสิทธิ์ถูกต้องนะครับ ^^
Comments