โครงสร้างระบบ Infleuncer ของแบรนด์ที่นักการตลาดควรรู้
แม้ว่าทุกวันนี้เราอาจจะเริ่มคุ้นเคยกับการเรียก Influencer ที่เกิดขึ้นกันมาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะจาก Social Media) ซึ่งส่วนมากเราก็มักเข้าใจว่า Influencer นั้นคือบรรดาคนดังต่างๆ (โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์) ที่มีฐานเสียงหรือคนตามจำนวนไม่น้อย แต่สามารถสร้างโอกาสในการรับรู้สินค้าหรือบริการให้กับแบรนด์ต่างๆ ได้
แต่เอาจริงๆ แล้วนั้น เรื่องของ Influencer เป็นเรื่องที่มากกว่าคนดังที่มีคนตามเยอะๆ เพียงอย่างเดียว โดยมุมมองที่แบรนด์ควรจะเข้าใจในบทบาทของ Influencer นั้นคือสิ่งที่สามารถสร้างอิทธิพลซึ่งนำไปสู่ผลกระทบกับสินค้าและบริการของตัวเองได้ โดยในหนังสือ Highly Recoommeded ของ Paul M. Rand เองก็ยกภาพโครงสร้างระบบ Influencer (Influencer Ecosystem) ซี่งแบรนด์ควรมองให้เห็นภาพและฉลาดในการสร้างปฏิสัมพันธ์ด้วย โดยแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้
1. Brands fans
คนกลุ่มนี้คือคนที่ชื่นชอบและเป็นลูกค้าชั้นดีของธุรกิจ เป็นคนที่พร้อมจะแนะนำและบอกต่อให้กับคนในเครือข่ายเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการของคุณอย่างเต็มใจ แม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้มีฐานเสียงเยอะ มีเครือข่ายที่กว้างขวาง แต่สิ่งที่เราไม่อาจจะมองข้ามได้เลยคือพวกเขายินดีช่วยเหลือเราอย่างเต็มใจ
2. Industry eminent
คนกลุ่มนี้คือบรรดาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้นำทางความคิดในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ โดยคนเหล่านี้มักจะมีผู้ติดตามซึ่งเขาสามารถสร้างอิทธิพลได้อย่างมากโดยอยู่บนฐานความเชี่ยวชาญของเขา เช่นบล็อกเกอร์ไอทีที่คนมักขอคำแนะนำในการซื้อสินค้าไอที หรือบล็อกเกอร์ด้านการลงทุนที่หลายๆ คนอยากซื้อหุ้นตาม
3. Peer Influencers
คนกลุ่มนี้อาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาธุรกิจหรืออุตสาหกรรม แต่คนกลุ่มนี้คือคนที่มีฐานคนตามเยอะ ซึ่งพวกเขาก็อาจจะมีความชอบเฉพาะทางหรือเรื่องบางเรื่องที่สนใจเป็นพิเศษที่มักหยิบมาเล่าหรือพูดอยู่บ่อยๆ
4. Determined detractors
พูดกันง่ายๆ เลยว่ากลุ่มนี้คือคนที่เป็นศัตรู แอนตี้ ตลอดไปจนชอบวิพากษ์วิจารณ์แบรนด์ แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้คงเป็นกลุ่มที่ดีลด้วยไม่ง่าย แต่เสียงของพวกเขาก็ย่อมมีอิทธิพลกับคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
จาก 4 ประเภทดังกล่าวนั้น จะเห็นได้ว่า Influencer มีอะไรมากกว่า “คนดัง” เพียงอย่างเดียว พอเป็นเช่นนี้แล้ว แบรนด์หรือเอเยนซี่ที่วางแผนต้องมองให้ออกว่าทุกวันนี้แบรนด์กำลังบริหารจัดการความสัมพันธ์กับคนเหล่านี้อย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับต้องดูว่าความสัมพันธ์กับกลุ่มเหล่านี้อยู่ในระดับไหนด้วยนั่นเอง
Yorumlar